บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ตำราดูพระโพธิสัตว์

ตำราดูพระโพธิสัตว์

——————–

ถ้ามีใครมาบอกว่า คนนั้นคนโน้นเป็น “พระโพธิสัตว์” เราจะเชื่อได้อย่างไรว่าเขาเป็นพระโพธิสัตว์จริง

……………………………………..

โพธิสัตว์: ท่านผู้ที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ซึ่งกำลังบำเพ็ญบารมี ๑๐ คือ ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน เมตตา อุเบกขา

:พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต

……………………………………..

เกณฑ์การเป็นพระโพธิสัตว์ของสำนักหรือลัทธิความเชื่อต่างๆ กำหนดไว้อย่างไร ท่านที่สนใจอาจจะศึกษาหาความรู้กันได้ตามประสงค์

ที่จะว่าต่อไปนี้เป็นเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาทของเรา 

คัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาทแสดงไว้ว่า คุณสมบัติของผู้ที่จะได้นามว่า “โพธิสัตว์” คือผู้ที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในกาลต่อไป มี ๘ ประการ เรียกเป็นคำศัพท์ว่า “อัฐธรรมสโมธาน” ดังคำบาลีต่อไปนี้ 

……………………………….

มนุสฺสตฺตํ  ลิงฺคสมฺปตฺติ 

เหตุ  สตฺถารทสฺสนํ

ปพฺพชฺชา  คุณสมฺปตฺติ 

อธิกาโร จ  ฉนฺทตา

อฏฺฐธมฺมสโมธานา 

อภินีหาโร  สมิชฺฌติ.

……………………………….

(มะนุสสัตตัง  ลิงคะสัมปัตติ 

เหตุ (เห-ตุ) สัตถาระทัสสะนัง

ปัพพัชชา  คุณะสัมปัตติ 

อะธิกาโร จะ  ฉันทะตา

อัฏฺฐะธัมมะสะโมธานา 

อะภินีหาโร  สะมิชฌะติ.)

……………………………….

ถอดความว่า ผู้ที่จะเป็น “โพธิสัตว์” ต้องตั้งความปรารถนาโดยมีองค์ประกอบ ๘ ประการ ดังนี้ –

(๑) มนุสฺสตฺตํ: ขณะตั้งความปรารถนา ต้องเป็นมนุษย์ 

ท่านอธิบายว่า ผู้อยู่ในภพภูมิอื่น เช่นเป็นเทพหรือเป็นสัตว์เดรัจฉาน สภาพจิตไม่พร้อมที่จะตั้งความปรารถนาเป็นพระโพธิสัตว์ ภูมิมนุษย์เท่านั้นที่สามารถพัฒนาจิตให้พร้อมได้

(๒) ลิงฺคสมฺปตฺติ: ขณะตั้งความปรารถนา ต้องเป็นเพศชาย 

ข้อนี้นักนิยมความเสมอภาคทางเพศคงจะไม่เห็นด้วย แต่คัมภีร์ท่านว่าไว้อย่างนั้น-ทำนองเดียวกับที่ว่า ผู้หญิงเป็นพระพุทธเจ้าไม่ใช่ฐานะที่จะเป็นได้

ผมไม่รู้ว่าจะอธิบายอย่างไรจึงจะเข้าใจ คิดได้อย่างเดียวคืออธิบายด้วยอุปมา

อุปมาเหมือนตาลตัวเมียกับตาลตัวผู้

ตาลที่มีลูก เราเรียกว่า “ตาลตัวเมีย”

ตาลที่ไม่มีลูก เราเรียกว่า “ตาลตัวผู้”

ตาลต้นไหนไม่มีลูก แม้อยากจะเป็นตาลตัวเมียก็เป็นไม่ได้

ตาลต้นไหนมีลูก แม้อยากจะเป็นตาลตัวผู้ก็เป็นไม่ได้

สภาพของธรรมชาติเป็นเช่นนั้นเอง

พระโพธิสัตว์ต้องเป็นผู้ชาย-ฉันใดก็ฉันนั้น

(๓) เหตุ: มนุษย์ที่เป็นชายผู้นั้นต้องมีระดับจิตที่สามารถจะบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ได้ในชาติที่ตั้งความปรารถนานั้นเอง 

อธิบายว่า บุคคลผู้นั้นปฏิบัติจิตภาวนาจนกระทั่งอีกก้าวเดียวก็จะข้ามจากปุถุชนขึ้นสู่ความเป็นพระอริยะ และไม่ใช่บรรลุธรรมแค่เป็นโสดาบัน หากแต่สามารถบรรลุเป็นพระอรหันต์ได้ด้วย

หมายถึงว่า ถ้าบุคคลผู้นั้นปรารถนาจะบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ในชาตินั้นก็สามารถทำได้ แต่ไม่ปรารถนาจะเป็นพระอรหันต์ซึ่งหมดกิเลสไปเฉพาะตัวผู้เดียว หากแต่ปรารถนาจะเป็นพระพุทธเจ้าเพื่อช่วยเวไนยสัตว์ให้บรรลุธรรมได้ด้วย

องค์ประกอบข้อนี้เท่ากับบอกว่า ใครที่กิเลสยังหนา ปัญญายังหยาบ ชาตินี้ปฏิบัติธรรมขนาดไหนก็บรรลุมรรคผลไม่ได้ อย่างนี้ละก็ย่อมไม่สามารถจะเป็นพระโพธิสัตว์ได้

(๔) สตฺถารทสฺสนํ: ขณะตั้งความปรารถนานั้นได้พบพระพุทธเจ้าและได้รับพยากรณ์ว่าความปรารถนาจะสำเร็จ 

กาลบัดนี้พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานไปนานแล้ว องค์ประกอบข้อนี้เป็นอันหมดหวังที่จะทำได้

คัมภีร์ท่านอธิบายไว้ด้วยว่า แม้จะไปตั้งความปรารถนาเป็นพระโพธิสัตว์ต่อหน้าพระพุทธปฏิมา สถูปเจดีย์ หรือโพธิพฤกษ์ใดๆ โดยอ้างว่าเป็นตัวแทนพระพุทธเจ้า ก็ไม่อาจจะสำเร็จได้เลย

(๕) ปพฺพชฺชา: ในขณะที่ตั้งความปรารถนาต้องอยู่ในเพศภิกษุ สามเณร หรือนักบวชที่เป็นสัมมาทิฐิ 

หมายความว่า ถ้ายังเป็นคฤหัสถ์ ตั้งความปรารถนาเป็นพระโพธิสัตว์ไม่ได้

(๖) คุณสมฺปตฺติ: สำเร็จฌานสมาบัติและอภิญญามาแล้ว 

หมายความว่า ต้องเป็นคนที่ได้ปฏิบัติจิตภาวนาจนบรรลุอภิญญาสมาบัติมาแล้ว ผู้ไม่เคยปฏิบัติ หรือเคยปฏิบัติแต่ยังไม่ได้บรรลุถึงระดับที่กำหนด ตั้งความปรารถนาเป็นพระโพธิสัตว์ไม่สำเร็จ

(๗) อธิกาโร: ประกอบกุศลกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งถึงขั้นสละชีวิต 

หมายความว่า ในการตั้งความปรารถนาเป็นพระโพธิสัตว์นั้น ต้องประกอบวีรกรรมสำคัญอย่างใดอย่างหนึ่งถึงขั้นยอมสละชีวิต ถ้าไม่ได้ทำเช่นนั้น ก็ตั้งความปรารถนาเป็นพระโพธิสัตว์ไม่สำเร็จ

(๘) ฉนฺทตา: ปรารถนาพุทธภูมิอย่างเด็ดเดี่ยว คือตั้งใจที่จะเป็นพระพุทธเจ้าอย่างเด็ดขาดแน่นอน แม้พบอุปสรรคหนักหนาขนาดไหนก็ไม่ถอยกลับ 

ข้อนี้ท่านวาดภาพให้เห็นว่า —

สมมุติว่าใครจะเป็นพระพุทธเจ้าต้องไปตกนรกเป็นเวลานานสี่อสงไขยแสนมหากัปเสียก่อนจึงจะเป็นได้ ก็เต็มใจไปตก

สมมุติว่าสกลจักรวาลเต็มด้วยถ่านเพลิงที่ร้อนจัดไฟลุกแดง ใครเดินเท้าเปล่าลุยข้ามไปได้จึงจะได้เป็นพระพุทธเจ้า ก็เต็มใจเดินลุยข้ามไป

สมมุติว่าพื้นสกลจักรวาลมีใบหอกใบดาบปักอยู่ทุกตารางนิ้ว ใครเดินเท้าเปล่าฝ่าคมใบหอกใบดาบไปได้จึงจะได้เป็นพระพุทธเจ้า ก็เต็มใจเดินฝ่าไป

สมมุติว่าสกลจักรวาลมีน้ำเปี่ยมฝั่ง ใครว่ายข้ามไปถึงอีกฝั่งหนึ่งได้จึงจะได้เป็นพระพุทธเจ้า ก็เต็มใจว่ายข้ามไป

สมมุติว่าสกลจักรวาลเต็มไปด้วยกอไผ่หนามหนาแน่นไม่มีช่องว่าง ใครเอาตัวดันฝ่าหนามไผ่ไปถึงฟากโน้นได้จึงจะได้เป็นพระพุทธเจ้า ก็เต็มใจที่จะฝ่าไป

ใครปรารถนาพุทธภูมิด้วยหัวใจเด็ดเดี่ยวถึงขนาดที่ว่านี้ จึงจะครบองค์ประกอบข้อสุดท้าย

ประเภท-ตั้งเช้า เย็นเลิก ตั้งวันนี้ พรุ่งนี้เลิก ตั้งปีนี้ ปีหน้าเลิก หรือตั้งเมื่อเป็นหนุ่มๆ พอแก่ก็เลิก-แบบนี้ไม่ใช่พระโพธิสัตว์แน่นอน

ตามองค์ประกอบที่ท่านแสดงไว้นี้จะเห็นได้ว่า การเป็นพระโพธิสัตว์ไม่ใช่ของง่าย ไม่ใช่เพียงแค่มีศรัทธานึกอยากจะเป็นก็ตั้งใจเป็นได้ทันที 

………………….

คนส่วนมากไม่ได้ศึกษาหลักการของท่าน แต่ใช้วิธีคิดเอาเองหรือกำหนดกฎเกณฑ์เอาเอง ไม่รับรู้ว่าหลักการเดิมของท่านกำหนดไว้อย่างไร หรือบางทีไปเจอหลักการเป็นพระโพธิสัตว์ของสำนักนั่นนี่โน่นแล้วเกิดเลื่อมใสชอบใจ แล้วก็เข้าใจว่าพระโพธิสัตว์คือแบบนั้น จึงเกิดมีพระโพธิสัตว์หลากหลายรูปแบบ

เราคงไม่สามารถไปบังคับให้ใครเชื่อองค์ประกอบการเป็นพระโพธิสัตว์ตามหลักการที่ท่านกำหนดไว้ในคัมภีร์ของเราได้หมดทุกคน แต่เราสามารถศึกษาหลักการให้เข้าใจและถือไว้เป็นมาตรฐาน เมื่อเห็นใครประกาศตัวเป็นพระโพธิสัตว์ ก็พึงรับรู้อย่างรู้เท่าทัน

ใครอยากเป็นพระโพธิสัตว์แบบไหน ก็เชิญเป็นกันตามอัธยาศัย

แต่ “ตำราดูพระโพธิสัตว์” ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้มีอยู่ 

เชื่อหรือไม่เชื่อ ชอบหรือไม่ชอบ ไม่มีใครว่าอะไร 

แต่รู้ไว้ดีกว่าไม่รู้ 

อย่างน้อยก็ถูกหลอกได้ยากหน่อย

……………………………………………

ที่มา: 

1 ปปัญจสูทนี อรรถกถามัชฌิมนิกาย ภาค ๓ หน้า ๖๔๑ พหุธาตุกสุตฺตวณฺณนา

2 มโนรถปูรณี อรรถกถาอังคุตตรนิกาย ภาค ๑ หน้า ๖๓๒ เอกกนิปาตวณฺณนา

3 ปรมัตถทีปนี อรรถกถาอุทาน หน้า ๑๙๗ สุปฺปวาสาสุตฺตวณฺณนา

4 ปรมัตถทีปนี อรรถกถาอิติวุตตกะ หน้า ๑๙๐ วิตกฺกสุตฺตวณฺณนา

5 ปรมัตถโชติกา อรรถกถาสุตตนิบาต ภาค ๑ หน้า ๖๕ ขคฺควิสาณสุตฺตวณฺณนา

6 ปรมัตถทีปนี อรรถกถาเถรคาถา ภาค ๑ หน้า ๑๘ นิทานคาถาวณฺณนา

7 ชาตกัฏฐกถา ภาค ๑ หน้า ๒๗,๘๑ เอกนิปาตวณฺณนา (ทูเรนิทาน) 

8 วิสุทธชนวิลาสินี อรรถกถาอปทาน ภาค ๑ หน้า ๒๗,๘๒ ทูเรนิทานกถา, ๒๔๖ ปจฺเจกพุทฺธาปทานวณฺณนา

9 มธุรัตถวิลาสินี อรรถกถาพุทธวงส์ หน้า ๑๗๗ สุเมธปตฺถนากถาวณฺณนา, ๔๘๖ โคตมพุทฺธวํสวณฺณนา

10 ปรมัตถทีปนี อรรถกถาจริยาปิฎก หน้า ๒๕ นิทานกถาวณฺณนา, ๔๕๖ ปกิณฺณกกถา

11 อัฏฐสาลินี อรรถกถาธัมมสังคณี หน้า ๑๑๑ นิทานกถา

12 สัมโมหวิโนทนี อรรถกถาวิภังค์ หน้า ๗๐๑ ญาณวิภงฺคนิทฺเทส

……………………………………………

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๔

๑๔:๕๐

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *