VESAK DAY (บาลีวันละคำ 2,531)
VESAK DAY
“วันเวสาก” – วันอะไร?
ในช่วงเทศกาลวิสาขบูชา มีคำที่อ้างกันว่าเป็นคำสากลเผยแพร่ทั่วไปว่า VESAK DAY
“VESAK” ถอดเป็นอักษรไทยว่า “เวสาก” (K = ก)
ในภาษาบาลียังไม่พบคำที่สะกดเป็น “เวสาก”
เป็นที่เข้าใจกันว่า “VESAK” ในที่นี้ก็คือคำที่เราเขียนในภาษาไทยว่า “วิสาข-” หรือ “วิสาขะ”
“วิสาข” (วิ-สา-ขะ) ศัพท์เดิมเป็น “วิสาขา” (วิ-สา-ขา) (เป็น “วิสาข” ก็มี) รากศัพท์มาจาก –
(1) วิส (ตัดมาจาก “วิสทิส” = แตกต่างกัน) + ขณฺ (ธาตุ = ทำลาย) + ณ ปัจจัย, ทีฆะ อะ ที่ (วิ)-ส เป็น อา (วิส > วิสา), ลบ ณฺ ที่สุดธาตุและ ณ ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: วิส + ขณฺ = วิสขณ + ณ = วิสขณณ > วิสขณ > วิสข > วิสาข + อา = วิสาขา แปลตามศัพท์ว่า “กลุ่มดาวที่จำแนกผลให้แตกต่างกัน”
(2) วิ (ตัดมาจาก “วิวิธ” = หลากหลาย) + สขา (เพื่อน), ทีฆะ อะ ที่ –ส-(ขา) เป็น อา (สขา > สาขา)
: วิ + สขา = วิสขา > วิสาขา แปลตามศัพท์ว่า “กลุ่มดาวที่มีเพื่อนมาก” (คือมีหลายดวงรวมกันเป็นกลุ่ม)
“วิสาขา” เป็นชื่อของดาวฤกษ์ (นกฺขตฺต – a lunar mansion) คือกลุ่มดาววิสาขา
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “วิศาข” และ “ไวศาข” บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
(1) วิศาข : (คำวิเศษณ์) ไม่มีศาขา; branchless.
(2) วิศาข : (คำนาม) การติเกย; ท่ายิง (ยืนเท้าห่างกันหนึ่งคืบ); ยาจก, ผู้ขอทาน; เดือย, ระนัยปั่นฝ้าย, เครื่องตีเกลียวป่าน; นักษัตรหมู่ที่สิบหก; Kartikeya; shooting-posture, an attitude in shooting (standing with the feet a span apart); a beggar; a spindle; the sixteenth lunar asterism.
(3) ไวศาข : (คำนาม) เดือนในซึ่งจันทร์แจ่มเต็มดวงใกล้หมู่ดาววิศาขา; the month in which the moon is full near the southern scale or the constellation Viśākhā.
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บไว้ทั้ง วิศาข-, วิศาขะ, วิศาขา และ วิสาข-, วิสาขะ, วิสาขา คือมีทั้ง –ศา– ศ ศาลา และ –สา– ส เสือ พยางค์ท้ายก็มีทั้ง –ข– (เมื่อมีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย) –ขะ และ –ขา บอกความหมายไว้เหมือนกันว่า –
“ชื่อเดือนที่ ๖ แห่งจันทรคติ ตกราวเดือนพฤษภาคม, ถ้าในปีอธิกมาสจะตกราวเดือนมิถุนายน.”
ในคัมภีร์บาลี ชื่อเดือนวิสาขะมีทั้ง “วิสาข” และ “เวสาข”
“วิสาข” เขียนเป็นอักษรโรว่า Visākha
“เวสาข” เขียนเป็นอักษรโรว่า Vesākha
ภาษาบาลีเมื่อเขียนเป็นอักษรโรมัน kha = ข และ k = ก
ดังนั้น ถ้าจะให้หมายถึง “วันวิสาขบูชา” ก็ควรจะเขียนเป็นอักษรโรมันว่า Vesakha day ไม่ใช่ Vesak day
ถ้าจะให้วิจารณ์ ผู้เขียนบาลีวันละคำมีความเห็นว่า น่าจะมีบางคนที่ไม่คิดถึง (หรือไม่เข้าใจ) หลักการถอดเสียงคำบาลี เห็นคำว่า Vesakha (เวสาขะ) ก็ออกเสียงตามแบบคำอังกฤษเป็น เว-สาก-ฮฺ คือแยกพยางค์เป็น Ve-sak-ha ออกเสียง k เป็นตัวสะกดเต็มเสียง ส่วน ha เป็นอีกพยางค์หนึ่ง เสียงอยู่ในลำคอ
Vesākha เป็นการถอดอักษรแบบบาลี ā มีขีดอยู่ข้างบน บังคับให้เป็นเสียง อา เพื่อให้ต่างกับ a ธรรมดาที่เป็น เสียง อะ
แต่เมื่อนำมาเขียนในแบบภาษาอังกฤษ ก็สะกดเป็น Vesakha (-sa- a ไม่มีขีดบน) คนที่คุ้นคำอังกฤษ แต่ไม่คุ้นคำบาลี ก็พากันออกเสียงว่า เว-สาก กลืน ha ไว้ในลำคอ แล้วในที่สุดก็เห็นควรให้สะกดตามเสียงที่ได้ยิน เป็น Vesak ตัด ha ทิ้งไป แต่เป็นการตัดที่ทำให้เสียอักขรวิธีอย่างสิ้นเชิง เพราะรูปคำเดิม kh เป็นอักษรควบแทน ข (ก = k, ข = kh)
Vesakh = เวสาข
Vesak = เวสาก
ถ้าให้สรุปอย่างไม่ต้องเกรงใจ Vesak ก็คือภาษาปากของ “เวสาข” นั่นเอง เป็นคำที่ไม่สวยงามด้วยประการทั้งปวง
สะกดเต็มรูปเป็น Vesakha day หรือลดรูปเป็น Vesakh day ยังจะดูดีว่า Vesak day
จำได้ว่า สมัยหนึ่งเราเคยทับศัพท์ “วิสาขบูชา” เป็น Visakha Puja แต่แล้วเราก็ลืมคำนี้ พากันชื่นชมยินดีกับ Vesak day ด้วยเหตุผลสำคัญคือ “มันเป็นสากล”
…………..
ดูก่อนภราดา!
: อย่าหลงภูมิใจกับความเป็นสากล
: จนลืมตัวตนของเราเอง
#บาลีวันละคำ (2,531)
18-5-62