วิสัยทัศน์ vision (บาลีวันละคำ 3,434)
วิสัยทัศน์ vision
อ่านว่า วิ-ไส-ทัด
ประกอบด้วยคำว่า วิสัย + ทัศน์
(๑) “วิสัย”
บาลีเขียน “วิสย” (วิ-สะ-ยะ) รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + สิ (ธาตุ = เสพ, คบหา; ผูก, พัน) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แผลง อิ ที่ สิ เป็น เอ แล้วแปลง เอ เป็น อย (สิ > เส > สย)
: วิ + สิ = วิสิ + ณ = วิสิณ > วิสิ > วิเส > วิสย แปลตามศัพท์ว่า (1) “ภูมิภาคเป็นที่เสพอาศัย” (2) “ภาวะที่ผูกอินทรีย์ไว้”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “วิสย” ไว้ดังนี้ –
(1) locality, spot, region; world, realm, province, neighbourhood (ที่ตั้ง, แหล่งที่; ภูมิภาค, โลก, อาณาจักร, จังหวัด, บริเวณ)
(2) reach, sphere [of the senses], range, scope; object, characteristic, attribute (ขอบเขต, โลก [ของความรู้สึก], แนว, วง; วิสัย, ลักษณะ, คุณสมบัติ)
จับความหมายของ “วิสย > วิสัย” สั้น ๆ ว่า –
(1) ขอบเขต
(2) สิ่งที่จิตไปรับรู้เกาะเกี่ยว = อารมณ์
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“วิสย-, วิสัย : (คำนาม) ความสามารถ เช่น อยู่ในวิสัยที่จะเลี้ยงดูบุตรภรรยาได้ เป็นเรื่องเหลือวิสัยที่จะทำได้; ขอบ, เขต, เช่น คามวิสัย โคจรวิสัย อยู่ในทัศนวิสัย. (ป.).”
(๒) “ทัศน์”
บาลีเป็น “ทสฺสน” (ทัด-สะ-นะ) รากศัพท์มาจาก ทิสฺ (ธาตุ = เห็น) + ยุ ปัจจัย, แปลง ทิสฺ เป็น ทสฺส, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)
: ทิสฺ > ทสฺส + ยุ > อน = ทสฺสน แปลตามศัพท์ว่า “การเห็น” หมายถึง –
(1) การเห็น, การมองดู, การสังเกต, สิ่งที่ปรากฏ, รูปร่าง (seeing, looking; noticing; sight of, appearance, look)
(2) การเล็งเห็น, เครื่องรู้เห็น, การเห็นแจ้ง, ความเห็น, ทฤษฎี (perception, faculty of apperception, insight, view, theory)
“ทสฺสน” ในภาษาไทยใช้อิงสันสกฤตเป็น “ทัศน”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ทัศน-, ทัศน์, ทัศนะ, ทัศนา : (คำนาม) ความเห็น, การเห็น, เครื่องรู้เห็น, สิ่งที่เห็น, การแสดง, ทรรศนะ ก็ใช้. (ป. ทสฺสน; ส. ทรฺศน).”
วิสัย + ทัศน์ = วิสัยทัศน์
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“วิสัยทัศน์ : (คำนาม) การมองการณ์ไกล, วิทัศน์. (อ. vision).”
ขยายความ :
คำว่า “วิสัยทัศน์” ถ้าแปลงกลับเป็นบาลีก็จะเป็น “วิสยทสฺสน” (วิ-สะ-ยะ-ทัด-สะ-นะ)
ในคัมภีรืบาลีพบว่ามีศัพท์ว่า “วิสยทสฺสน” แต่ใช้ในความหมายว่า “แสดงขอบเขต” และ “แสดงสิ่งที่เป็นอารมณ์ของจิต” คือ “ทสฺสน” แปลว่า “แสดง” หรือ “บ่งชี้” ไม่ได้แปลว่า “เห็น” หรือ “การมองเห็น”
คำว่า “วิสัยทัศน์” เป็นศัพท์บัญญัติ เทียบคำอังกฤษว่า vision
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล vision เป็นบาลีดังนี้:
(1) diṭṭhi ทิฏฺฐิ (ทิด-ถิ) = ความคิดเห็น, ทัศนะ
(2) māyā มายา (มา-ยา) = ภาพลวงตา, ภาพที่คิดขึ้น
(3) dassana ทสฺสน (ทัด-สะ-นะ) = การมองเห็น, ทัศนะ
(4) manonimmāṇa มโนนิมฺมาณ (มะ-โน-นิม-มา-นะ) = การสร้างภาพขึ้นในใจ
(5) ābhāsadassana อาภาสทสฺสน (อา-พา-ทัด-สะ-นะ) = การมองเห็นอย่างกระจ่างชัด
…………..
คำในชุดนี้ตามที่นิยมนำมาใช้กัน ก็คือ –
วิสัยทัศน์ (vision)
พันธกิจ (mission)
เป้าหมาย (target)
ค่านิยมองค์กร (corporate value)
แต่ละคำหมายถึงอะไร หรือมีความหมายว่าอย่างไร ตลอดจนมีที่ไปที่มาหรือได้แนวคิดมาจากไหน ควรที่จะได้ช่วยกันศึกษาเรียนรู้ให้เข้าใจชัดเจนต่อไป
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ขอยืมยานเขามาขับ
ขอยืมทรัพย์เขามาใช้
: ทิ้งทางอย่างไทยไทย
เหลืออะไรไว้ให้ลูกหลานเรา
#บาลีวันละคำ (3,434)
6-11-64
…………………………….