บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ตอบปัญหาเรื่องกฐิน (๑)

ตอบปัญหาเรื่องกฐิน (๒)

———————

…………………………………..

ปัญหาเรื่องกฐิน (๒)

https://www.facebook.com/tsangsinchai/posts/4359612714132432

…………………………………..

องค์กฐินสำเร็จด้วยผ้าผืนเดียว ซึ่งปกติก็ควรจะเป็นของเจ้าภาพรายเดียว แต่ปัจจุบันนี้เกิดปรากฏการณ์ที่ผิดเพี้ยนไปจากพุทธบัญญัติ คือทอดกฐินที่วัดเดียวกัน แต่มีเจ้าภาพมากกว่าหนึ่งราย 

ปรากฏการณ์เช่นนี้มี ๒ ลักษณะ คือ

ลักษณะที่ ๑ มีเจ้าภาพมาพร้อมกันมากกว่าหนึ่งราย และทุกรายได้รับแจ้งจากทางวัดว่าเป็น “เจ้าภาพใหญ่” เหมือนกันหมด  ต่างก็จัดองค์กฐินคือผ้าไตรมาเหมือนกันหมด ตั้งเรียงกันเป็นแถว บางทีนับเป็นสิบๆ เจ้าภาพ ทุกคณะต่างเข้าใจว่าตนเป็น “เจ้าภาพใหญ่” ผ้าไตรที่ตนนำมานั้นคือผ้ากฐิน เมื่อถึงเวลาก็ทำพิธีถวาย และพระสงฆ์ก็รับไว้หมดทุกไตรทุกเจ้าภาพ

ลักษณะที่ ๒ มีเจ้าภาพมาทีละคณะ คณะนี้มาถึง ก็ทำพิธีถวายโดยเข้าใจว่าเป็นการทอดกฐิน พระสงฆ์ก็รับ คณะโน้นมาถึง ก็ทำพิธีถวาย พระสงฆ์ก็รับอีก ถวายกันโดยทำนองนี้โดยทุกคณะต่างเข้าใจว่าคณะของตนมาเป็นเจ้าภาพทอดกฐิน

โปรดทราบว่า การถวายกฐินและรับกฐินในลักษณะทั้งสองอย่างนี้ ไม่ถูกต้อง ผิดพุทธบัญญัติ ขัดต่อพระธรรมวินัย และไม่เป็นกฐินทั้งสิ้น 

ทั้งนี้เพราะในรอบหนึ่งพรรษา พระสงฆ์รับกฐินได้เพียงครั้งเดียว และผ้ากฐินก็มีได้เพียงผืนเดียว การรับผ้าหลายผืนจากหลายเจ้าของคือหลายเจ้าภาพในคราวเดียวกัน หรือรับหลายครั้งจากหลายเจ้าภาพ โดยไม่รู้ว่าผ้าของเจ้าภาพรายไหนเป็นผ้ากฐิน จึงไม่ถูกต้อง

การที่เป็นเช่นนี้ เนื่องมาจากเจ้าอาวาส หรือลูกวัด หรือกรรมการวัด ต่างรู้เห็นเป็นใจกันออกไปเที่ยวบอกบุญหาเจ้าภาพมาทอดกฐิน และมุ่งจะให้มีเจ้าภาพมากๆ เพื่อหวังได้เงินเข้าวัดมากๆ โดยไม่คำนึงถึงพุทธบัญญัติ 

การกระทำเช่นนั้นผิดถึงสองชั้น คือพระสงฆ์บอกบุญหาเจ้าภาพทอดกฐินที่วัดที่ตนเองจำพรรษาอยู่ ก็ผิดชั้นหนึ่งแล้ว การหาเจ้าภาพหลายรายหลายคณะโดยไม่รู้ว่าผ้าของคณะไหนเป็นผ้ากฐิน ก็ผิดซ้ำเข้าอีกชั้นหนึ่ง

การที่พระสงฆ์เที่ยวบอกบุญให้ญาติโยมเป็นเจ้าภาพทอดกฐินที่วัดที่ตนจำพรรษาอยู่ แม้จะบอกแก่เจ้าภาพรายเดียว ก็ไม่ถูกต้องอยู่แล้ว ยิ่งบอกหาเจ้าภาพมาเป็นคณะหลายคณะก็ยิ่งผิดซ้ำสอง เพราะผ้ากฐินมีได้เพียงผืนเดียว คือเป็นผ้ากฐินจริงๆ อยู่เพียงเจ้าภาพเดียว แต่เพราะการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องของทางวัด จึงเกิดปัญหา แทนที่จะมีผ้ากฐินผืนเดียว (หรือไตรเดียว) ของเจ้าภาพรายเดียว ก็กลายเป็นมีผ้ากฐินหลายผืน หลายไตร หลายเจ้าภาพ ซึ่งไม่ถูกต้องตามพุทธบัญญัติ 

ที่ซ้ำร้ายก็คือ ทางวัดยังสร้างความเข้าใจผิดให้แก่ญาติโยมว่าผ้าของทุกคณะทุกเจ้าภาพเป็นผ้ากฐินเสมอกันทั้งหมด ซึ่งจะเป็นเช่นนั้นไม่ได้เลย เพราะผ้าที่จะเป็นผ้ากฐินนั้นมีได้เพียงผืนเดียว และเมื่อรับผ้านั้น พระสงฆ์จะต้องรู้แน่แล้วว่าผ้าของเจ้าภาพรายไหนเป็นผ้ากฐิน 

จะใช้วิธีรับรวมๆ กันไว้ก่อน แล้วไปเลือกเอาเพียงผืนเดียวตอนทำพิธีกรานกฐินนั้นไม่ได้เลย ทั้งนี้เพราะทันทีที่รับผ้าจากเจ้าภาพรายแรกแล้ว สิทธิที่จะรับผ้ากฐินผืนอื่นก็เป็นอันสิ้นสุดลง เพราะพรรษาหนึ่งรับกฐินได้เพียงครั้งเดียว 

เจ้าภาพรายอื่นๆ แม้จะตั้งผ้าไตรเรียงรายอยู่ต่อหน้าตรงนั้นก็หมดสิทธิ์ที่จะเป็นผ้ากฐิน จะเป็นได้ก็เพียง “บริวารกฐิน” เท่านั้น

…………………

กรณีตามตัวอย่าง-ทอดกฐินกันเป็นคณะๆ หรือกฐินเป็นกองๆ-ที่ยกขึ้นมาถามนั้นมีทำกันแล้วจริงๆ เข้าใจว่าเทศกาลกฐินที่จะถึงนี้ก็คงจะทำกันอีก 

โปรดเข้าใจให้ถูกต้องว่า เจ้าภาพทอดกฐินมีได้รายเดียวเท่านั้น

ขอให้สังเกตให้ดี จะเห็นหลักที่ถูกต้อง นั่นคือ จะทำบุญถวายอะไรๆ จะเลี้ยงพระกันสักกี่คณะ จะถวายสังฆทานกันสักราย จะทอดผ้าป่ากันสักกี่กอง ก็ทำได้ทันที ไม่ต้องจอง 

แต่ทำไมจะทอดกฐินจึงต้องจองก่อน?

เหตุผลก็คือ ทำบุญอย่างอื่นจะทำกันสักกี่รายก็ไม่มีข้อจำกัด ใครมาก่อนก็ทำก่อน ใครมาทีหลังก็ทำได้อีก จึงไม่จำเป็นจะต้องจอง

แต่ทอดกฐิน วัดหนึ่งปีหนึ่งทอดได้รายเดียว ถ้าไม่จองไว้ก่อนก็แย่งกันยุ่งไปหมดเท่านั้นเอง เพราะเมื่อคนหนึ่งทอดแล้ว-คือถวายผ้าให้สงฆ์ และสงฆ์รับผ้านั้นแล้ว กฐินก็เป็นอันทอดเสร็จเรียบร้อยแล้ว ใครจะมาทอดอีกไม่ได้ ถ้าทอดแล้วทอดอีกได้เหมือนกับทำบุญอย่างอื่นๆ จะต้องจองก่อนทำไม 

นี่คือเหตุผลที่เป็นข้อยืนยันว่า ทอดกฐิน วัดหนึ่งปีหนึ่งทอดได้รายเดียวเท่านั้น ทอดมากกว่าหนึ่งราย ผิดพุทธบัญญัติ ไม่เป็นกฐิน

หลักฐานอีกข้อหนึ่งก็คือ “กฐินสามัคคี”

“กฐินสามัคคี” คืออะไร เกิดขึ้นมาได้อย่างไร?

กฐินสามัคคี ไม่ได้หมายความว่า มีคนหนึ่งคิดจะทอดกฐิน แล้วก็เลยไปเที่ยวชักชวนญาติมิตรมาสามัคคีร่วมกันเป็นเจ้าภาพ เวลานี้คำว่า “กฐินสามัคคี” เข้าใจกันเป็นอย่างนี้ทั้งนั้น คือผิดจนถูกไปอีกคำหนึ่ง

กฐินสามัคคีมีสาเหตุมาจาก มีคนต้องการจะทอดกฐินที่วัดเดียวกันหลายราย หมายความว่าแต่ละรายสามารถทอดไปตามลำพังรายเดียวได้สบายๆ อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องไปหาใครมาช่วย 

เรื่องก็ต้องแย่งกันทอด มึงก็จะทอด กูก็จะทอด ก็ต้องทะเลาะกัน ดีไม่ดีเกิดฆ่ากัน ทีนี้ไม่ต้องได้ทอดกันแล้ว 

จึงเกิดเห็นใจกันและกันที่มีศรัทธาต้องการจะทอดเหมือนกัน เมื่อรายหนึ่งทอดแล้ว รายอื่นๆ ก็ทอดอีกไม่ได้ จึงพร้อมใจกันรวมตัวเป็นเจ้าภาพร่วมกัน หลายเจ้าภาพรวมกันเป็นเจ้าภาพเดียว ทำแบบนี้ทอดได้หมดทุกเจ้าภาพ

นี่คือเหตุผลที่ถูกต้องแท้จริงของคำว่า “กฐินสามัคคี”

กฐินสามัคคีก็คือมีเจ้าภาพหลายรายนั่นเอง แต่ต้องรวมกันเป็นรายเดียวก่อนจะเข้าไปทอด เพราะกฐินทอดได้รายเดียว 

ถ้ากฐินทอดได้เป็นร้อยเป็นสิบเจ้าภาพ อย่างที่บางวัดบางแห่งทำกันผิดๆ จะต้อง “สามัคคี” กันทำไม ใครมาก่อนก็ทอดก่อน ใครมาทีหลังก็มาทอดได้อีก 

แต่เพราะทอดได้เพียงรายเดียว จึงต้องรวมกันเป็น “กฐินสามัคคี” 

สรุปว่า 

(๑) บุญกฐิน ไม่เหมือนบุญอื่น เมื่อคนหนึ่งทำแล้ว คนอื่นจะมาทำซ้ำที่กันอีกไม่ได้ จึงต้องจองก่อน เป็นการบอกกล่าวให้รู้ว่า ใครจะมาทอดซ้ำอีกไม่ได้แล้ว จึงเป็นการยืนยันว่า กฐินทอดได้รายเดียว 

(๒) แต่ถ้าเกิดมีคนอยากจะทอดวัดเดียวกันรายหลาย วิธีที่จะทำให้ทอดได้หมดทุกรายก็คือ ทุกรายต้องรวมตัวกันเป็นรายเดียวก่อน เมื่อรวมกันเป็นรายเดียวแล้วทอด ก็เท่ากับได้ทอดหมดทุกรายนั่นเอง จึงเป็นที่มาของ “กฐินสามัคคี” 

กฐินสามัคคีจึงเป็นเครื่องยืนยันว่า กฐินทอดได้รายเดียว และไม่ใช่ทอดกันเป็นกองๆ เหมือนผ้าป่า

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๙ กันยายน ๒๕๖๔

๑๙:๓๓

…………………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *