บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

อภิสิทธิ์กับความเคารพนับถือ

อภิสิทธิ์กับความเคารพนับถือ

——————————–

และเส้นแบ่งเขตระหว่างคนกับสัตว์

……………….

เมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๕๘ ผมโพสต์บทความเรื่อง “ทางรอด” มีญาติมิตรท่านหนึ่ง ใช้นามว่า ร.รัตน์ เปรียญ ส่งภาพข้อความของท่านผู้หนึ่งมาลงในช่องแสดงความคิดเห็น

ภาพข้อความก็เป็นดังที่ผมนำลงประกอบเรื่องนี้ 

ผมได้คัดลอกข้อความในภาพออกมาเพื่อความสะดวกในการอ่าน ดังต่อไปนี้ (โปรดตรวจสอบกับข้อความในภาพด้วย)

———-

…………

สวัสดีค่ะ ดิฉันได้เห็นกระทู้หนึ่งถามเรื่องการให้สิทธิพระขึ้นเครื่องบินก่อน แต่ไม่ทันได้อ่านเนื้อหาด้านใน ก็ถูกลบไปแล้ว (เว็บมาสเตอร์ที่นี่ขึ้นชื่อเรื่องความวิตกจริต)

อย่างก็ตาม จะจริงหรือไม่ไม่ทราบ แต่ก็เห็นได้จากขนส่งสาธารณะทั่วไปในประเทศไทย เช่น…

– ที่นั่งพิเศษสำหรับพระ

– ผู้หญิง/ผู้ชายบางคนถูกพนักงานในรถให้ย้ายที่ เพื่ออำนวยความสะดวกที่นั่งให้แก่พระภิกษุ

หลายท่านอาจไม่รู้สึกผิดปกติอะไร ย่อมไม่แปลกเพราะเราถูกสั่งสอนและใช้ชีวิตแบบนั้นมานานนัก แต่ดิฉันคิดว่าถึงเวลาที่เราควรตั้งคำถามว่า สังคมในยุค ๒๕๕๘ ในยุคศตวรรษที่ ๒๑ มีเหตุผลอะไรที่เราต้องให้อภิสิทธิ์นักบวชในศาสนาหนึ่งขนาดนี้?

(อันนี้จะขอแค่ประเด็นการใช้ขนส่งสาธารณะก่อน)

๑. ดิฉันคิดว่าประเทศไทยไม่ใช่รัฐศาสนา และเราเป็นสังคมที่มีความหลากหลายทางความเชื่อ รวมถึงคนไม่มีศาสนา การให้อภิสิทธิ์แก่กลุ่มบุคคลเพียงศาสนาใด เป็นการเลือกปฏิบัติ

๒. ศาสนาเป็นเรื่องส่วนบุคคล ก็ไม่ควรกระทบต่อผู้อื่น ซึ่งกรณีพระมันต่างอะไรกับการชี้นิ้วบอกผู้ชายว่าเธอต้องลุกให้ผู้หญิงนั่งนะ? มันต่างอะไรกับที่แปะป้ายว่า นี่ที่นั่งคนขาว?

และความเชื่อห้ามโดนตัวผู้หญิง ก็เป็นความเชื่อส่วนบุคคลอยู่ดี ไม่ควรที่จะต้องไปบังคับคนอื่นให้ทำตามด้วย หรือต้อง(บังคับ)เสียสละเพื่อให้คุณไปสู่นิพพาน

หลายคนอาจบอกว่าฉันยังทำได้เลย ไม่เห็นรู้สึกอะไร…แต่ดิฉันรู้สึกนี่คะ และยังมีคนอีกหลายคนที่รู้สึก แต่ไม่กล้าพูด กลัวต่อสังคมคลั่งศาสนานี่ไง

ต่อให้อ้างเรื่องน้ำใจ ก็ควรเป็นการตัดสินใจอย่างอิสระ แต่ในสังคมเรามันไม่ใช่ มันถูกกดดันโดยวัฒนธรรม ถูกกดดันโดยผู้คนในสังคม ที่คิดว่าตัวเองกำลังธำรงซึ่งคุณงามความดีอยู่

ดิฉันไม่เห็นด้วยที่เราจะให้อภิสิทธิ์แก่พระภิกษุในระบบขนส่งสาธารณะ (รวมถึงนักบวชในทุกศาสนา-ถ้ามี)

แก้ไขข้อความเมื่อ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๘ เวลา ๑๔:๒๔:๑๘

…………

———————————–

(จบข้อความที่คัดลอกจากภาพ)

———————————–

คำถามของผมก็คือ ญาติมิตรอ่านแล้วคิดอย่างไร ?

ข้อความในภาพเป็นความเห็นของผู้ที่ไม่ต้องการให้สังคมให้อภิสิทธิ์แก่พระสงฆ์ ดูก็เป็นประชาธิปไตยดีอยู่ คือทุกคนได้รับการปฏิบัติเท่าเทียมกัน

แต่ถ้าถามว่า อย่างไร แค่ไหนจึงจะเป็นความเท่าเทียม ก็คงต้องเถียงกันอีกมาก

หลักก็คือ เมื่อคนอยู่รวมกันตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไป กติกาจะเกิดขึ้นมาโดยอัตโนมัติ ไม่ว่าจะมีการประกาศหรือไม่ประกาศก็ตาม เพราะความต้องการของคนหนึ่งจะต้องไปกระทบกับความต้องการของอีกคนหนึ่งอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ 

ถ้าไม่มีกติกา คนก็ไม่ต่างจากสัตว์เดรัจฉาน คือใครข่มอีกคนหนึ่งให้กลัวได้ คนนั้นก็ชนะ

ปัญหาใหญ่ก็คือ จะตั้งกติกากันอย่างไร 

แต่ที่ใหญ่กว่านั้นก็คือ จะมีใจกว้างพอที่จะเคารพกติกาของสังคมได้หรือไม่

อนึ่ง การให้อภิสิทธิ์กับการปฏิบัติต่อ-ด้วยความเคารพ น่าจะเป็นคนละเรื่องกัน ชาวพุทธไม่เคยรู้สึกว่าต้องให้อภิสิทธิ์แก่พระภิกษุสามเณร แต่เรารู้สึกว่าเราควรปฏิบัติต่อพระภิกษุสามเณรด้วยความเคารพ 

ถ้าใครจะถามว่าทำไมจะต้องทำอย่างนั้น ก็ต้องศึกษาเรียนรู้ถึงเหตุผลให้ตรงให้ถูก แต่ไม่ใช่ด้วยการคาดคะเนหรือคิดคำนึงเอาเอง หรือแม้แต่เอาแนวคิดทางศาสนาหนึ่งไปวัดหรือไปตัดสินวัฒนธรรมของอีกศาสนาหนึ่ง

——————-

ก็ทำนองเดียวกับลูกแสดงความเคารพและปฏิบัติต่อพ่อแม่ด้วยความเคารพแตกต่างไปจากที่ปฏิบัติต่อชายหญิงทั่วไป แล้วถามด้วยคำถามเดียวกันว่า ทำไมเราจะต้องให้อภิสิทธิ์แก่พ่อแม่

ทำนองเดียวกับศิษย์แสดงความเคารพและปฏิบัติต่อครูบาอาจารย์ด้วยความเคารพแตกต่างไปจากที่ปฏิบัติต่อคนทั่วไป แล้วถามด้วยคำถามเดียวกันว่า ทำไมเราจะต้องให้อภิสิทธิ์แก่ครู

สำหรับคนที่อยู่ในสังคมที่ไม่มีวัฒนธรรมเคารพพ่อแม่ ไม่มีวัฒนธรรมเคารพครูบาอาจารย์ ก็คงเห็นเป็นเรื่องประหลาดที่มนุษย์จะต้องให้อภิสิทธิ์แก่คนบางจำพวกถึงขนาดนั้น

แม้แต่คนที่อยู่ในสังคมที่วัฒนธรรมแตกต่างกัน แต่ถ้าเป็นคนที่มีการศึกษาและได้รับการอบรมมาเป็นอย่างดีแล้วย่อมจะเข้าใจได้ หรืออย่างน้อยที่สุดเขาก็ย่อมพยายามที่จะศึกษาเรียนรู้เพื่อเข้าใจ

สำหรับคนที่มีวัฒนธรรมนับถือศาสนา ก็น่าจะเข้าใจได้ด้วยว่าการแสดงความเคารพในศาสนานั้นๆ มีความหมายว่าอย่างไรและมีเหตุผลอะไร

แต่เฉพาะในพระพุทธศาสนา สมควรที่จะต้องเข้าใจให้ลึกละเอียดต่อไปอีกด้วยว่า เราไหว้พระสงฆ์ทำไม เราถวายปัจจัยสี่อันจำเป็นต่อชีวิตแก่พระทำไม และเราถวายความเคารพในลักษณะอื่นๆ ที่ถูกเรียกว่า “ให้อภิสิทธิ์” แก่พระสงฆ์ทำไม 

เพราะมันไม่ใช่แค่เพื่อต้องการ “บุญ” อย่างที่มักตอบกันคลุมๆ ไปเท่านั้น

ก็ทำนองเดียวกับที่ชาวพุทธกราบไหว้พระพุทธปฏิมาที่ถูกบางลัทธิเรียกว่า “รูปเคารพ” แล้วก็เลยถูกเรียกว่าเป็น “พวกลัทธิบูชารูปเคารพ” ที่เขาประกาศว่าขัดต่อหลักศาสนาของบางศาสนาเพราะเห็นว่าเป็นเรื่องงมงายโง่เขลานั่นแหละ

ควรจะถูกเรียกกลับไปบ้างว่า-เป็นการเรียกด้วยความงมงายโง่เขลาอย่างที่สุด เพราะเพียงแค่ว่า-ทำไมเขาจึงบูชาสิ่งที่คุณเรียกตามคำของนักวิจารณ์สังคมว่า “รูปเคารพ”-แค่นี้ก็ไม่ได้ศึกษาเรียนรู้ให้เข้าใจเหตุผลที่ถูกต้อง นอกจากเชื่อไปตามที่มีคนบางจำพวกพูดให้ฟัง

สำหรับมนุษย์ที่เจริญแล้ว ย่อมเข้าใจเหตุผลได้เป็นอย่างดีว่า –

ทำไมลูกจึงควรแสดงความเคารพและปฏิบัติต่อพ่อแม่ด้วยความเคารพแตกต่างไปจากที่ปฏิบัติต่อชายหญิงทั่วไป 

ทำไมศิษย์จึงควรแสดงความเคารพและปฏิบัติต่อครูบาอาจารย์ด้วยความเคารพแตกต่างไปจากที่ปฏิบัติต่อคนทั่วไป

ทำนองเดียวกับที่-ถ้าศึกษาจนเข้าใจเหตุผลก็จะรู้ได้ว่า ทำไมชาวพุทธจึงปฏิบัติต่อพระสงฆ์ด้วยความเคารพแตกต่างไปจากที่ปฏิบัติต่อคนทั่วไป

——————

เพียงแต่สังเกตสังคมสัตว์สักนิดก็จะเข้าใจได้โดยไม่ต้องรอให้ใครอธิบาย

ดูแค่สังคมสัตว์ใกล้ตัว-อย่างหมาแมวในละแวกบ้าน-ก็ได้ ไม่ต้องไปดูไกลถึงเมืองนอกเมืองนา

ลูกหมาลูกแมวเกิดมาก็อยู่กับแม่มัน ให้แม่มันเลี้ยง 

เมื่อยังเล็กมันก็รู้ว่านี่แม่มัน นี่พี่น้องมัน 

แต่เมื่อมันโตขึ้นมันก็ลืม 

มันไม่รู้จักว่าตัวไหนเป็นพ่อเป็นแม่เป็นพี่เป็นน้อง 

เวลาหิวมันก็แย่งแม่มันกินได้ 

เวลาโกรธมันก็กัดแม่มันได้ 

เวลาอยากมันก็สมสู่แม้แต่กับแม่มันเองได้

แม้แต่ตัวพ่อตัวแม่เอง เมื่อถึงเวลาหนึ่งมันก็ทำแบบเดียวกันนั้นกับลูกของมันเองเหมือนกัน

และขอให้สังเกตว่า สังคมสัตว์ไม่ต้องมีความเคารพนับถือกัน 

ไม่มีการให้อภิสิทธิ์กัน 

รู้จักกันเพียงแค่ตัวไหนตัวผู้ตัวไหนตัวเมียก็พอแล้ว

——————-

อาจจะต้องถกเถียงกันว่า แล้วเส้นแบ่งเขตระหว่างมนุษย์กับสัตว์อยู่ตรงไหน

ใครเชื่อว่าตัวเองมีสติปัญญาดีเลิศ ก็เชิญไปเที่ยวค้นหากันเอาเถิด

แต่ถ้าไม่รังเกียจ จะลองฟังมติของคนโบราณดูสักนิดก็ได้ ท่านว่าไว้ดังนี้

………..

อาหารนิทฺทา ภยเมถุนญฺจ

สามญฺญเมตปฺปสุภี นรานํ

ธมฺโม ว เตสํ อธิโก วิเสโส

ธมฺเมน หีนา ปสุภี สมานา.

กิน นอน กลัว และสืบพันธุ์

สี่อย่างนี้มีเสมอกันทั้งคนและสัตว์

ธรรมะเท่านั้นที่ทำให้คนประเสริฐกว่าสัตว์

เสื่อมจากธรรมะเสียแล้ว คนก็เท่ากับสัตว์.

………..

ท่านว่า-ธรรมะเท่านั้นที่ทำให้คนประเสริฐกว่าสัตว์

ถ้ายังไม่รู้ว่า“ธรรมะ” คืออะไร ก็ต้องไปศึกษาหาความรู้กันต่อไป

——————

ตราบใดที่ยังรู้ไม่ถูกต้องว่าเส้นแบ่งเขตระหว่างคนกับสัตว์อยู่ตรงไหน

ตราบนั้นก็จะไม่มีทางเข้าใจได้ว่าทำไมคนจึงต้องมีความเคารพนับถือกันในสถานะต่างๆ

และตราบใดที่ยังไม่เข้าใจว่าทำไมคนจึงต้องมีความเคารพนับถือกันในสถานะต่างๆ

ตราบนั้นก็จะไม่มีสำนึกที่จะปฏิบัติต่อใครตามควรแก่ฐานะไหน เพราะจะมองคนว่าเป็นคนเท่ากันหมด 

แม้แต่ใครเป็นหญิงเป็นชายก็แทบจะไม่รู้จักแยกด้วยซ้ำไป-ไม่ต้องมองสูงขึ้นไปถึงว่าใครควรเคารพนับถือใครแค่ไหนอย่างไร

ไม่ต่างอะไรกับสัตว์ที่ไม่รู้จักแม้แต่พ่อแม่ของมัน

รู้แค่ว่าตัวไหนตัวผู้ตัวเมีย เพื่อสะดวกแก่การสืบพันธุ์กัน-แค่นั้นพอ

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๙

๑๑:๒๖

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *