บาลีวันละคำ

ปูติ – บูด (บาลีวันละคำ 3,393)

ปูติบูด

กีฬาของนักเรียนบาลี

ในแวดวงนักเรียนภาษาไทย ถ้าพูดว่า “ลากเข้าวัด” หรือ “จับบวช” จะเป็นที่รู้กันว่า หมายถึงคำที่มีใช้อยู่ในภาษาไทยบางคำมีรูปศัพท์ที่ชวนให้สันนิษฐานว่าน่าจะมาจากภาษาบาลี

คำว่า “บูด” เป็นคำหนึ่งที่ผู้เขียนบาลีวันละคำเคยได้ยินนักเรียนภาษาไทยพูดกันสนุกๆ ว่า อาจจะมาจากคำว่า “ปูติ” ในภาษาบาลี

ปูติ” บาลีอ่านว่า ปู-ติ รากศัพท์มาจาก ปูยฺ (ธาตุ = มีกลิ่นเหม็น) + ติ ปัจจัย, ลบที่สุดธาตุ (ปูยฺ > ปู)

: ปูยฺ + ติ = ปูยติ > ปูติ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เน่า” “สิ่งที่เหม็น” 

ปูติ” ใช้เป็นคุณศัพท์ หมายถึง เน่า, เหม็น, ผุ, เหม็นโฉ่ (putrid, stinking, rotten, fetid)

ขยายความ :

ปูติ” ที่นักเรียนบาลีค่อนข้างจะคุ้นกันดีก็อย่างเช่น –

ปูติกาย” (ปู-ติ-กา-ยะ) กายอันเน่าเปื่อย, กองอันเน่าเปื่อย, เป็นคำแสดงลักษณะของร่างกายมนุษย์ (foul body, mass of corruption, Ep. of the human body)

ปูติมุตฺต” (ปู-ติ-มุด-ตะ) ในคำว่า “ฉันยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า” หมายถึง มูตรมีกลิ่นแรง, โดยปกติมูตรโคที่ภิกษุใช้เป็นยา (strong-smelling urine, usually urine of cattle used as medicine by the bhikkhu)

ปูติ” ที่น่าสนใจมากคำหนึ่งคือ “อนฺโตปูติ” (อัน-โต-ปู-ติ) แปลว่า “เน่าใน” เป็นคำเรียกภิกษุผู้ประพฤติไม่ดีไม่งาม มีพระพุทธพจน์ตรัสไว้ในพระไตรปิฎก ดังนี้ –

(พึงตั้งอารมณ์ในการอ่านว่า เราจักศึกษาบาลีคือพระธรรมวินัยเท่านั้น มิได้มุ่งจะรังเกียจเดียดฉันท์พระภิกษุใดๆ)

…………..

กตโม  จ  ภิกฺขุ  อนฺโตปูติภาโว.

ดูก่อนภิกษุ ความเป็นผู้เน่าในเป็นไฉน?

อิธ  ภิกฺขุ  เอกจฺโจ

ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ 

ทุสฺสีโล  โหติ

เป็นผู้ทุศีล

ปาปธมฺโม

เป็นผู้มีปกติเลวทราม

อสุจิ

ไม่สะอาด

สงฺกสฺสรสมาจาโร

มีพฤติกรรมน่ารังเกียจ

ปฏิจฺฉนฺนกมฺมนฺโต

ทำสิ่งที่ต้องปกปิด

อสฺสมโณ  สมณปฏิญฺโญ

ไม่เป็นสมณะก็ปฏิญาณว่าเป็นสมณะ

อพฺรหฺมจารี  พฺรหฺมจารีปฏิญฺโญ

ไม่เป็นพรหมจารีก็ปฏิญาณว่าเป็นพรหมจารี

อนฺโตปูติ

เป็นผู้เน่าใน

อวสฺสุโต

มีใจชุ่มด้วยกาม

กสมฺพุกชาโต.

เป็นดุจขยะมูลฝอย

อยํ  วุจฺจติ  ภิกฺขุ  อนฺโตปูติภาโวติ.

ดูก่อนภิกษุ นี้เรียกว่าความเป็นผู้เน่าใน

ที่มา: ปฐมทารุขันธสูตร สังยุตนิกาย สฬายตนวรรค 

พระไตรปิฎกเล่ม 18 ข้อ 323

…………..

คำว่า “บูด” ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

“บูด : (คำวิเศษณ์) มีรสเปรี้ยวและมีกลิ่นเหม็นเปรี้ยวแสดงว่าเสีย (ใช้แก่อาหาร) เช่น ข้าวบูด แกงบูด; ทําหน้าแสดงอาการไม่พอใจ เรียกว่า ทําหน้าบูด.”

ปูติ” คำนี้แหละที่นักเรียนภาษาไทย “ลากเข้าวัด” เอาเป็นที่มาของคำว่า “บูด” โดยอธิบายว่า “ปูติ” แผลง เป็น , เป็น ตามหลักนิยมในภาษาไทย เป็น “บูดิ” ลบสระ อิ ก็เป็น “บูด” ด้วยประการฉะนี้

โปรดทราบว่า ที่ว่ามานี้เป็น “วจนกีฬา” หรือการเล่นสนุกทางภาษาอย่างหนึ่งเท่านั้น มิได้มีความประสงค์จริงจังที่จะแสดงเป็นหลักวิชาการว่าจะต้องเป็นเช่นนั้นแต่ประการใด

…………..

ดูก่อนภราดา!

: คำบางคำลากเข้าวัดได้ง่าย

: คนบางคนชวนเข้าวัดได้ยาก

#บาลีวันละคำ (3,393)

26-9-64

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *