บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ตอบปัญหาเรื่องกฐิน (๑)

ตอบปัญหาเรื่องกฐิน (๓) ตอน ๑

ตอบปัญหาเรื่องกฐิน (๓) ตอน ๑

———————

……………………………………

ปัญหาเรื่องกฐิน (๓)

https://www.facebook.com/tsangsinchai/posts/4365905800169790

……………………………………

ปัญหาเรื่องพระรับกฐินเป็นปัญหาในฝ่ายพระโดยตรง ชาวบ้านแทบจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ 

รับกฐินทำไมต้อง ๕ รูป? ต้องอยู่วัดเดียวกันทั้ง ๕ รูป หรือนิมนต์จากที่อื่นมาให้ครบ ๕ รูปก็ใช้ได้? – ชาวบ้านจะรู้คำตอบหรือไม่รู้ ก็ยังคงทอดกฐินได้อยู่นั่นเอง รู้หรือไม่รู้ก็ไม่เป็นเหตุตัดโอกาสที่จะได้ทำบุญทอดกฐิน

แล้วชาวบ้าน-อย่างผม-จะต้องเอามาพูดเอามาเขียนทำไม ปล่อยให้เป็นเรื่องของพระไปสิ ไปยุ่งกับเรื่องของท่านทำไม

ที่กล่าวเช่นนี้เพราะผมนึกถึงกรณีที่พระท่านประพฤติอะไรบางอย่างเป็นที่ปรากฏขึ้น แล้วก็มีชาวบ้านออกมาทักท้วง-หรือว่ากันตรงๆ ก็ตำหนิติเตียน หรือพูดหยาบๆ ก็ว่าด่าพระนั่นแหละ ก็มักจะมีท่านจำพวกหนึ่งออกมาทักท้วงชาวบ้านด้วยกันว่า ไปตำหนิพระได้อย่างไร พระท่านมีศีลมากกว่าเราตั้งหลายเท่า เราเองศีล ๕ ยังรักษาไม่ได้ ยังจะมีหน้าไปว่าพระอีกหรือ

ผมเองก็เคยโดน

ที่ยกเรื่องนี้ขึ้นมาปรารภก็เพราะ-ไม่รู้ว่าจะโดนทักท้วงอีกหรือเปล่าว่า กฐินเป็นเรื่องวินัยของพระ ทำไมจะต้องไปยุ่งกับท่าน ตัวเองศึกษาเรื่องศีล ๕ ของตัวเองให้ดีก่อนเถอะ ไม่ต้องไปอวดรู้เรื่องวินัยของพระนักหรอก 

ในพระไตรปิฎก พระพุทธเจ้าตรัสเป็นใจความว่า พระศาสนาจะเสื่อมหรือไม่เสื่อมขึ้นอยู่กับภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาลิกา

ถ้าศึกษาสัทธรรมปฏิรูปกสูตรและมหาปรินิพพานสูตร ก็จะเข้าใจได้ดีว่า ความคิดแบบนี้-คือแบบยกพระศาสนาถวายพระไปเลย ชาวบ้านห้ามยุ่ง-เป็นความคิดที่ผิดพลาดอย่างยิ่ง

พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้บอกให้ยกพระศาสนาให้พระรับผิดชอบฝ่ายเดียว แต่ท่านบอกว่า พุทธบริษัทมีส่วนรับผิดชอบในความเสื่อมความเจริญของพระศาสนาร่วมกัน

………………………………..

สัทธรรมปฏิรูปกสูตร อยู่ในสังยุตนิกาย นิทานวรรค พระไตรปิฎกเล่ม ๑๖ ข้อ ๕๓๑-๕๓๕

อรรถกถาที่อธิบายสัทธรรมปฏิรูปกสูตร ชื่อสารัตถปกาสินี ภาค ๒ อธิบายไว้ในหน้า ๓๑๘-๓๒๔

อ่านที่แปลเป็นภาษาไทยก็ได้ อยู่ในพระไตรปิฎกและอรรถกถาแปลชุด ๙๑ เล่ม เล่มที่ ๒๖ หน้า ๖๓๐-๖๓๘

ส่วนมหาปรินิพพานสูตรอยู่ในทีฆนิกาย มหาวรรค พระไตรปิฎกเล่ม ๑๐ ข้อ ๙๕ และข้อ ๑๐๒ 

อรรถกถาที่อธิบายมหาปรินิพพานสูตร ชื่อสุมังคลวิลาสินี ภาค ๒ อธิบายไว้ในหน้า ๒๕๘-๒๕๙

อ่านที่แปลเป็นภาษาไทยก็อยู่ในพระไตรปิฎกและอรรถกถาแปลชุด ๙๑ เล่ม เล่ม ๑๓ หน้า ๒๗๘-๒๗๙ และหน้า ๓๙๐-๓๙๑

………………………………..

เพราะเราถือคติ “ชั่วช่างชี ดีช่างสงฆ์” ปล่อยให้พระบริหารพระศาสนาไปข้างเดียว ชาวบ้านไม่สนใจเรื่องพระธรรมวินัยใดๆ ทั้งสิ้น อ้างว่าไม่ใช่หน้าที่ชาวบ้าน เป็นหน้าที่พระ ผลก็คือชาวบ้านไม่รู้ไม่เข้าใจเรื่องพระธรรมวินัย พระทำอะไรผิดถูกอย่างไรก็มองไม่ออกบอกไม่ถูก จะเลื่อมใสหรือไม่เลื่อมใสพระ ก็ใช้ความรู้สึกส่วนตัวมากกว่าใช้หลักพระธรรมวินัย

ฝ่ายพระเอง ตกมาถึงปัจจุบันวันนี้ ความมีฉันทะอุตสาหะที่จะศึกษาพระธรรมวินัยตามหน้าที่ก็ลดน้อยถอยลง ความรู้ในหลักพระธรรมวินัยก็กะพร่องกะแพร่งลงไปเรื่อยๆ เมื่อไม่รู้ก็ทำผิดปฏิบัติผิดมากขึ้น เมื่อทำกันมากๆ ก็พากันเห็นเป็นเรื่องปกติธรรมดา กลายเป็นข้ออ้างให้กันและกัน-ที่ไหนๆ เขาก็ทำกันอย่างนี้

เป็นอันว่า ทั้งชาววัด ทั้งชาวบ้าน ความรู้ความปฏิบัติในพระธรรมวินัยแหว่งวิ่นไปทุกที นึกดูให้ดี พระศาสนาจะเป็นอย่างไร

ผมเชื่อว่า ชาวบ้านนั่นแหละควรสนใจศึกษาพระธรรมวินัยด้วย แต่ไม่ใช่เรียนรู้เพื่อจะข่มพระ ต้องเรียนเพื่อจะถวายกำลังใจให้พระท่านมีฉันทะอุตสาหะที่จะศึกษาพระธรรมวินัยตามหน้าที่ของท่านให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น นั่นคือเรียนเพื่อตัวเองจะได้มีความรู้ด้วย เรียนเพื่อกระตุ้นเตือนพระให้ได้คิดว่า-โยมเขายังอุตส่าห์ศึกษาเรียนรู้วินัยพระ แล้วอาตมาเป็นพระเองแท้ๆ จะมัวไม่เรียนไม่รู้อยู่ได้อย่างไร เมื่อพระรู้สึกอย่างนี้ท่านก็จะมีอุตสาหะศึกษาเรียนรู้พระธรรมวินัย ไม่เรียนก็อายโยม-ว่างั้นเถอะ ด้วยประการดังนี้ ทั้งบรรพชิตทั้งคฤหัสถ์ก็เท่ากับช่วยกันรักษาพระศาสนาไว้ได้

นี่คือเหตุผลที่ชาวบ้านก็ควรศึกษาเรียนรู้พระธรรมวินัย

กลับมามองที่เรื่องกฐิน เพราะชาวบ้านไม่มีความรู้ที่ถูกต้อง ชาววัดชวนให้เป็นเจ้าภาพหมู่ ก็เป็น ถ้าชาวบ้านมีความรู้-รู้ว่ากฐินต้องมีเจ้าภาพเดียว ชาวบ้านก็จะไม่สนับสนุน ไม่เอาด้วย แต่เพราะไม่รู้ก็เลยพลอยทำผิดไปด้วยกัน แล้วก็อย่างที่ว่า-กลายเป็นข้ออ้างให้กันและกัน-ที่ไหนๆ เขาก็ทำกันอย่างนี้ หนักเข้า ผิดก็กลายเป็นถูก นี่คือโทษของการที่ชาวบ้านปล่อยมือ ไม่ช่วยกันยื้อพระศาสนา

………………………………..

๑ พระที่รับกฐิน ทำไมจึงกำหนดว่าต้องไม่น้อยกว่า ๕ รูป 

ตัวเลข ๕ รูปเอามาจากไหน มีเหตุผลอย่างไร

………………………………..

กฐินต้องทำเป็น “สังฆกรรม” คือเจ้าภาพทอดให้สงฆ์ สงฆ์ต้องไปดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ในพระวินัยว่าด้วยกฐิน

หลักเกณฑ์อย่างหนึ่งคือ จำนวนภิกษุที่ประชุมกันเป็น “สงฆ์” เพื่อทำสังฆกรรมกฐิน

พึงทราบว่า “จำนวนภิกษุที่ประชุมกันเป็นสงฆ์” เพื่อทำกิจที่เรียกว่า “สังฆกรรม” แต่ละชนิดจะแตกต่างกัน แต่จำนวนภิกษุต่ำสุดที่จะนับว่าเป็น “สงฆ์” ได้คือ ๔ รูป จะมากกว่านี้สักเท่าไรก็ได้ แต่น้อยที่สุดคือ ๔ รูป 

จำนวนภิกษุในสังฆกรรมแต่ละอย่างนั้น สำนวนบาลีเรียกว่า “สงฆ์-วรรค”

ที่ขีด – ละไว้นั้นคือตัวเลขจำนวนภิกษุ เช่นถ้าต้องมีภิกษุจำนวนต่ำสุด ๔ รูป ก็เรียกว่า “สงฆ์จตุวรรค”

เทียบให้เข้าใจง่ายๆ ก็ขอให้นึกถึงคำว่า “องค์ประชุม” เช่นการประชุมสภา หรือประชุมคณะกรรมการอะไรสักคณะหนึ่ง จะมีข้อกำหนดว่า ต้องมีสมาชิกหรือกรรมการเข้าร่วมประชุมอย่างน้อยกี่คน จึงจะถือว่าครบองค์ประชุม ถ้าน้อยกว่ากำหนดถือว่าไม่ครบองค์ประชุม คือเปิดประชุมไม่ได้

คำว่า “สงฆ์-วรรค” ในภาษาพระวินัยก็คือ “องค์ประชุมของสงฆ์” นั่นเอง

ในพระวินัย กำหนด “วรรค” ของสงฆ์ไว้ดังนี้

๑ สงฆ์จตุวรรค มีภิกษุเข้าร่วมประชุมอย่างน้อย ๔ รูป 

สงฆ์จตุวรรคทำสังฆกรรมได้ทุกอย่าง-ยกเว้นอุปสมบท ปวารณา และอัพภาน (อัพภานเป็นสังฆกรรมที่ทำกรณีมีภิกษุต้องอาบัติสังฆาทิเสส ต้องมีภิกษุเข้าร่วมประชุมอย่างน้อย ๒๐ รูป)

๒ สงฆ์ปัญจวรรค มีภิกษุเข้าร่วมประชุมอย่างน้อย ๕ รูป

สงฆ์ปัญจวรรคทำสังฆกรรมได้ทุกอย่าง-ยกเว้นอุปสมบทในมัชฌิมชนบท (ซึ่งต้องมีภิกษุเข้าร่วมประชุมอย่างน้อย ๑๐ รูป) และอัพภาน

๓ สงฆ์ทสวรรค มีภิกษุเข้าร่วมประชุมอย่างน้อย ๑๐ รูป

สงฆ์ทสวรรคทำสังฆกรรมได้ทุกอย่าง-ยกเว้นอัพภาน

๔ สงฆ์วีสติวรรค มีภิกษุเข้าร่วมประชุมอย่างน้อย ๒๐ รูป

๕ สงฆ์อติเรกวีสติวรรค มีภิกษุเข้าร่วมประชุมมากกว่า ๒๐ รูปขึ้นไป

สงฆ์ ๒ วรรคนี้ทำสังฆกรรมได้หมดทุกอย่าง

ที่แสดงมานี้ได้หลักมาจากคัมภีร์จัมเปยยขันธกะ วินัยปิฎก มหาวรรค ภาค ๒ พระไตรปิฎกเล่ม ๕ ข้อ ๑๘๗

คราวนี้ขอให้พิจารณาสงฆ์จตุวรรค ที่ท่านว่าทำสังฆกรรมได้ทุกอย่าง-ยกเว้น –

(๑) อุปสมบท คือพิธีบวชพระ บวชในถิ่นที่หาพระง่าย ที่เรียกว่า “มัชฌิมชนบท” ต้องมีภิกษุอย่างน้อย ๑๐ รูปเข้าร่วมในพิธี กรณีบวชในถิ่นที่หาพระยาก ที่เรียกว่า “ปัจจันตชนบท” ต้องมีภิกษุอย่างน้อย ๕ รูปเข้าร่วมในพิธี เพราะฉะนั้น สงฆ์จตุวรรคคือภิกษุ ๔ รูป จึงทำสังฆกรรมอุปสมบทไม่ได้

(๒) ปวารณา คือปวราณากรรมที่ทำในวันออกพรรษา จะทำเป็นสังฆกรรมได้ต้องมีภิกษุอย่างน้อย ๕ รูป 

(๓) อัพภาน สังฆกรรมนี้ต้องมีภิกษุอย่างน้อย ๒๐ รูป 

ตามรายการ “ยกเว้น” นี้ ไม่ปรากฏว่ามีสังฆกรรมกฐิน

จึงชวนให้เข้าใจว่า สังฆกรรมกฐินใช้สงฆ์จตุวรรค คือมีภิกษุ ๔ รูปก็ได้ ไม่ใช่ ๕ รูปอย่างที่พูดกัน?

ถูกต้องแล้วครับ สังฆกรรมกฐินใช้สงฆ์จตุวรรคคือภิกษุ ๔ รูป แต่ทว่าในคัมภีร์พระวินัยที่อ้างข้างต้นนั่นเองท่านกำหนดเงื่อนไว้ด้วยว่า –

………………………………..

ยสฺส  สงฺโฆ  กมฺมํ  กโรติ  

ตํจตุตฺโถ  กมฺมํ  กเรยฺย  

อกมฺมํ  น  จ  กรณียํ ฯ

สงฆ์ทำกรรมแก่ผู้ใด 

มีผู้นั้นเป็นที่ ๔ ทำกรรม 

กรรมนั้นใช้ไม่ได้ และไม่ควรทำ

(พระไตรปิฎกเล่ม ๕ ข้อ ๑๘๘)

………………………………..

สังฆกรรมกฐินต้องมีภิกษุ ๑ รูปเป็นผู้ที่สงฆ์ยกผ้ากฐินให้ ที่เราเรียกกันว่า “องค์ครอง” ภิกษุที่เป็นองค์ครองนี้แหละอยู่ในฐานะผู้ที่ “สงฆ์ทำกรรม” จะนับเข้าในจำนวนภิกษุที่เข้าร่วมประชุม ๔ รูปด้วยไม่ได้ ต้องกันออกนอกจำนวน นั่นแปลว่าต้องมีภิกษุ ๔ รูปเป็นสงฆ์จตุวรรค และมีภิกษุที่เป็นองค์ครองอีก ๑ รูป จึงรวมเป็นภิกษุที่ต้องมีในการทำสังฆกรรมกฐินอย่างน้อย ๕ รูป ด้วยประการฉะนี้

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๒ กันยายน ๒๕๖๔

๑๕:๔๘

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *