บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ตอบปัญหาเรื่องกฐิน (๑)

ตอบปัญหาเรื่องกฐิน (๓) ตอน ๒

———————

……………………………………

ปัญหาเรื่องกฐิน (๓)

https://www.facebook.com/tsangsinchai/posts/4365905800169790

……………………………………

………………………………..

๒ พระ ๕ รูปนั้นต้องจำพรรษาอยู่ในวัดเดียวกัน 

หรือว่านิมนต์มาจากวัดอื่นเพื่อให้ครบ ๕ รูปก็ได้

………………………………..

ประเด็นนี้มีปัญหามากที่สุด และถกเถียงกันมากที่สุด จุดเด่นของการยกขึ้นมาถกเถียงอยู่ตรงที่ “กฐินพระองค์เดียว” คือมีการยกหลักฐานมาเสนอว่า ภิกษุจำพรรษาอยู่รูปเดียวก็สามารถรับกฐินได้ โดยวิธีนิมนต์พระจากต่างวัดมารวมสังฆกรรมให้ครบ ๕ รูป ก็เป็นอันใช้ได้

กลายเป็นข้อยุติว่า ต่อไปนี้ไม่ต้องพูดกันอีกแล้วว่า พระจำพรรษากี่รูปจึงจะรับกฐินได้ เพราะมีหลักฐานว่า ภิกษุจำพรรษาอยู่รูปเดียวก็สามารถรับกฐินได้ เพราะฉะนั้น วัดไหนมีพระครบ ๕ รูปหรือไม่ครบก็ไม่เป็นปัญหาอะไร ขอให้มีพระอยู่จำพรรษาก็แล้วกัน ญาติโยมเอากฐินไปทอดได้ทั้งนั้น สบายใจ ไชโย พระแฮปปี้แล้ว

นึกไปก็สงสารคนรุ่นเก่า สมัยก่อนโน้น-ตีเสียว่ากว่าครึ่งศตวรรษที่ล่วงมา ใกล้เข้าพรรษา วัดไหนทำท่าว่าจะมีพระจำพรรษาไม่ถึง ๕ รูป ชาวบ้านจะเดือดร้อนใจมาก หลวงพ่อเจ้าอาวาสก็อยู่ไม่เป็นสุข ต้องช่วยกันคิดหาทาง-หาพระมาให้ได้ ๕ รูปเป็นอย่างน้อย 

เคยได้ยินว่า หาวิธีอื่นไม่ได้ บางทีชาวบ้านต้องใช้วิธีขอร้องหรือถึงกับบังคับผู้ชายในหมู่บ้านนั้นเองที่พอจะบวชได้ให้บวชก่อนเข้าพรรษานั้น-แบบนี้ก็มี

เหตุผลมีประการเดียวเท่านั้น คือ เขาเชื่ออย่างมั่นใจว่า พระจำพรรษาน้อยกว่า ๕ รูป รับกฐินไม่ได้ 

เมื่อหลายปีก่อน ใครจำได้บ้าง กรณีที่มีแนวคิดจัดหาพระจากภาคอื่นไปจำพรรษาที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งแต่ละวัดขาดแคลนพระ เกณฑ์อย่างหนึ่งที่ยกขึ้นมาใช้ในการหาพระไปจำพรรษาก็คือ ต้องให้ได้พระอย่างน้อยวัดละ ๕ รูป ตัวเลข ๕ รูป ก็มาจากเหตุผลเรื่องรับกฐินนี่เช่นกัน

การพบหลักฐานว่า พระจำพรรษารูปเดียวก็รับกฐินได้ ทำให้เหตุผลของคนเก่าๆ กลายเป็นเรื่องน่าสงสารไปโดยสิ้นเชิง 

ก็ควรให้อภัย เพราะคนรุ่นเก่าก็ศึกษาเรียนรู้กันไปตามวิสัยสามารถในเวลานั้น คนรุ่นใหม่ศึกษาค้นคว้าได้กว้างขวางกว่า ละเอียดกว่า ก็เป็นที่น่ายินดี และต้องยอมรับในข้อมูลใหม่ที่ได้มา

อย่างไรก็ตาม ผมมีแง่คิดว่า แง่หนึ่งที่เราน่าจะถอยมาตั้งหลักกันให้ดี หรือถอยมาตั้งหลักกันใหม่ก็คือ การอ้างอิงความเห็นของตัวบุคคล 

สิ่งที่เรากำลังทำพลาดก็คือ เราไม่อ้างอิงถึงหลักฐานหรือหลักวิชา แต่เราไปอ้างตัวบุคคล 

เช่นอ้างว่า –

ท่านเจ้าคุณนั่นท่านว่าอย่างนี้ 

ท่านพระมหานี่ท่านว่าอย่างโน้น

ท่านอาจารย์โน้นท่านว่าอย่างนั้น

ทีนี้ใครชอบใคร ใครไม่ชอบใคร ต่างก็แยกถือกันไปตามที่ตนชอบ ไม่ต่างอะไรกับการชอบใจคำสอนธรรมะของอาจารย์ที่เรากำลังยึดติดกันอยู่ในเวลานี้ อ้างคำสอนของอาจารย์ แต่ไม่อ้างคำสอนของพระพุทธเจ้า

ถ้าตามไปดูมติที่ตัวบุคคลเสนอออกมา ก็จะพบว่า ท่านเหล่านั้นไม่ได้แสดงความเห็นลอยๆ หรือคิดเอาเอง เข้าใจเอาเอง กำหนดหลักเกณฑ์ขึ้นมาเอง หากแต่ท่านก็อ้างหลักฐานหรือหลักวิชากำกับอยู่ด้วยเสมอ

พูดให้ขำๆ ว่า ต้นธาตุต้นธรรมอยู่ที่นั่น-อยู่ที่หลักฐานหรือหลักวิชาที่ท่านอ้าง ไม่ได้อยู่ที่ตัวท่าน พูดให้ขำๆ ต่อไปอีกก็ว่า-เพราะท่านไม่ได้ตรัสรู้ด้วยตัวท่านเอง ท่านก็ศึกษามาจากหลักฐานหรือหลักวิชาอีกทีหนึ่งนั่นเอง 

หน้าที่ของเราก็คือ ตามไปดู ตามไปศึกษาหลักฐานหรือหลักวิชาที่ท่านอ้าง ไม่ใช่ยึดอยู่กับความเห็นที่ท่านนำมาเสนอ

หน้าที่ของเราก็คือตามไปศึกษาหลักฐานหรือหลักวิชานั้นๆ ด้วยตัวของเราเอง ซึ่งเมื่อเราได้ศึกษาแล้วจะมีความเห็นตรงตามที่ท่านเห็น หรืออาจจะมีความเห็นต่างไปจากที่ท่านเห็น ก็ย่อมเป็นสิทธิเสรีภาพโดยสมบูรณ์ของเรา และนั่นก็จะเป็นความเห็นตามหลักฐาน ไม่ใช่ความเห็นตามความเห็นของตัวบุคคลใดบุคคลหนึ่ง

ด้วยวิธีนี้ ตัวบุคคลก็ไม่ต้องกระทบกัน เป็นเรื่องระหว่างบุคคลกับหลักฐานหรือหลักวิชา ไม่ใช่เรื่องระหว่างท่านผู้นั้นกับท่านผู้ไหน หรือระหว่างเรากับใครหรือใครกับเรา เพราะต่างก็มีหน้าที่ใช้สติปัญญาศึกษาหลักฐานหรือหลักวิชานั้นให้กระจ่างแจ้งชัดเจน 

ช่วยกันศึกษา ช่วยกันคิด และช่วยกันหาหนทางปฏิบัติที่ถูกต้อง เหมาะสม ดีงาม เป็นทางปฏิบัติร่วมกัน ไม่ใช่ทางปฏิบัติของใครของมัน

……………

อนึ่ง ในกระบวนการศึกษาคัมภีร์ แนวที่ท่านถือกันมาเป็นหลักก็คือ –

พระบาลีพระไตรปิฎก เป็นหลักฐานชั้นต้น มีน้ำหนักมากที่สุด

อรรถกถา มีน้ำหนักรองลงมาจากพระบาลี

ฎีกา มีน้ำหนักรองลงมาจากอรรถกถา

ถ้าเราถือหลักเดียวกัน ถือตรงกัน การร่วมกันช่วยกันศึกษาของพวกเราก็จะดำเนินไปได้ด้วยดี

พึงระลึกว่า ตราบใดที่ยังแยกกลุ่มกันศึกษา ตราบนั้นความเห็นต่างและความขัดแย้งกันก็จะไม่มีทางหมดไป อย่าว่าแต่แยกกันเป็นกลุ่มย่อย ๓ คน ๕ คนเลย แม้แต่รวมกันเป็นจังหวัดหรือรวมกันเป็นภาค ก็ยังจะต้องขัดแย้งกันอยู่นั่นเอง 

เช่น –

คณะสงฆ์จังหวัดนั้นภาคนั้นศึกษาเรื่องกฐินแล้วมีความเห็นว่าอย่างนี้

คณะสงฆ์จังหวัดนี้ภาคนี้ศึกษาเรื่องกฐินแล้วมีความเห็นว่าอย่างโน้น

คณะสงฆ์จังหวัดโน้นภาคโน้นศึกษาเรื่องกฐินแล้วมีความเห็นว่าอย่างนั้น

หนทางที่จะเป็นเอกภาพได้ก็คือ คณะสงฆ์ไทยร่วมกันศึกษาตามหลักที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า –

………………………………..

ตตฺถ สพฺเพเหว สมคฺเคหิ สมฺโมทมาเนหิ อวิวทมาเนหิ สิกฺขิตพฺพํ.

เราทั้งปวงพึงพร้อมเพรียงกัน ชื่นชมยินดีต่อกัน อย่าได้ขัดแย้งกัน ศึกษาเรื่องนั้นเถิด

(มหาวิภังค์ ภาค ๒ พระไตรปิฎกเล่ม ๒ ข้อ ๘๘๑)

………………………………..

ได้ข้อยุติอย่างไร ประกาศออกมาเป็นมติของคณะสงฆ์ไทย-เรื่องกฐิน คณะสงฆ์ไทยมีมติให้ปฏิบัติดังต่อไปนี้ ๑… ๒… ๓… แล้วพร้อมใจกันปฏิบัติให้เป็นเอกภาพทั่วสังฆมณฑล

คณะสงฆ์ไทยมีศักยภาพที่จะทำได้อยู่แล้ว ทั้งกำลังบุคคลผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีอยู่พร้อมพรั่ง ทั้งกำลังสนับสนุนไม่ว่าจะด้านใดๆ

รออยู่อย่างเดียวคือ คำสั่งให้ลงมือปฏิบัติเพื่อการศึกษาค้นคว้าหาข้อยุติ 

และรออยู่อย่างเดียวว่า ผู้มีตำแหน่งหน้าที่ในการบริหารการพระศาสนาท่านรู้หรือยังว่า ท่านมีอำนาจและมีหน้าที่ที่จะต้องสั่งให้ทำ

…………………..

ในที่สุดนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกในการศึกษา ผมขอนำเสนอคัมภีร์ที่เป็นหลักฐานแสดงเรื่องกฐิน ดังนี้ –

๑ กฐินขันธกะ วินัยปิฎก มหาวรรค พระไตรปิฎกเล่ม ๕ ข้อ ๙๕-๑๒๗ (ต้นเหตุที่เกิดพุทธานุญาตเรื่องกฐินและรายละเอียดต่างๆ)

พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปลชุด ๙๑ เล่ม เล่มที่ ๗ หน้า ๑๙๓-๒๒๖

๒ สมันตปาสาทิกา อรรถกถาวินัยปิฎก ภาค ๓ อธิบายกฐินขันธกะ หน้า ๒๓๒-๒๔๔ (คัมภีร์ชุดหลักสูตรเปรียญ ภาค ๓ หน้า ๒๐๘-๒๑๙)

พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปลชุด ๙๑ เล่ม เล่มที่ ๗ หน้า ๒๒๖-๒๔๐ (คัมภีร์ชุดหลักสูตรเปรียญ ตติยสมันตปาสาทิกาแปล มหาวรรค ตอน ๒ หน้า ๓๐๗-๓๒๔)

๓ กฐินเภท คัมภีร์ปริวาร วินัยปิฎก พระไตรปิฎกเล่ม ๘ ข้อ ๑๑๒๔-๑๑๖๐ 

พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปลชุด ๙๑ เล่ม เล่มที่ ๑๐ หน้า ๗๒๖-๗๔๘

๔ สมันตปาสาทิกา อรรถกถาวินัยปิฎก ภาค ๓ อธิบายกฐินเภท หน้า ๖๒๖-๖๒๙ (คัมภีร์ชุดหลักสูตรเปรียญ ภาค ๓ หน้า ๕๖๖-๕๖๙)

พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปลชุด ๙๑ เล่ม เล่มที่ ๗ หน้า ๗๔๘-๗๕๓ (คัมภีร์ชุดหลักสูตรเปรียญ ปัญจมสมันตปาสาทิกาแปล ปริวารวัณณนา หน้า ๘๙๒-๘๙๗)

๕ เรื่องพระที่รับกฐินได้และรับไม่ได้ สมันตปาสาทิกา อรรถกถาวินัยปิฎก ภาค ๓ หน้า ๒๑๐ 

พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล เล่มที่ ๗ หน้า ๒๒๙ (คัมภีร์ชุดหลักสูตรเปรียญ ตติยสมันตปาสาทิกาแปล มหาวรรค ตอน ๒ หน้า ๓๑๐)

๖ วินยสังคหอัฏฐกถา หน้า ๒๙๗, วินยาลังการฎีกา ภาค ๒ หน้า๑๒๕, วินยวินิจฉยฎีกา ภาค ๒ หน้า๒๓๑ (อ้างตามเรื่อง “กฐินพระองค์เดียว”)

๗ กังขาวิตรณี อรรถกถาแห่งพระปาฏิโมกข์ ตอนว่าด้วยกฐินสิกขาบท ฉบับอักษรไทย กงฺขา.อ.๕๒๔/๑๘๒ ฉบับอักษรพม่า กงฺขา.อ.๑๕๒ (อ้างตามเรื่อง “กฐินพระองค์เดียว”)

๗ วชิรพุทฺธิฏีกา หน้า ๔๙๗ (อ้างตามเรื่อง “กฐินพระองค์เดียว”)

๘ จีวรขันธกะ วินัยปิฎก พระไตรปิฎกเล่ม ๕ ข้อ ๑๒๘-๑๗๒

พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปลชุด ๙๑ เล่ม เล่มที่ ๗ หน้า ๒๔๑-๓๑๖

(เฉพาะเรื่องภิกษุจำพรรษารูปเดียว ข้อ ๑๖๔ หน้า ๒๙๖-๒๙๘)

๙ สมันตปาสาทิกา อรรถกถาวินัยปิฎก ภาค ๓ อธิบายจีวรขันธกะ หน้า ๒๔๕-๒๙๑

พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปลชุด ๙๑ เล่ม เล่มที่ ๗ หน้า ๓๑๙-๓๗๓ (คัมภีร์ชุดหลักสูตรเปรียญ ตติยสมันตปาสาทิกาแปล มหาวรรค ตอน ๒ หน้า ๓๒๕-๓๘๗)

(เฉพาะเรื่องภิกษุจำพรรษารูปเดียว หน้า ๓๔๖-๓๔๘, คัมภีร์ชุดหลักสูตรเปรียญ หน้า ๓๕๖-๓๕๘)

๑๐ วินัยมุข เล่ม ๓ หลักสูตรนักธรรมชั้นเอก พระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส กัณฑ์ที่ ๒๖ กฐิน หน้า ๗๓-๘๕

ทั้งหมดนี้ถือว่าเป็นข้อมูลเบื้องต้น โปรดช่วยกันตรวจสอบเพื่อความถูกต้องต่อไปด้วย

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๕ กันยายน ๒๕๖๔

๑๘:๕๐

……………………………………

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *