บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ปัญหาการใช้ภาษาไทย (๑)

ปัญหาการใช้ภาษาไทย (๕)

————————- 

(๔) อ่านผิดความประสงค์

ข้อนี้เป็นคนละอย่างกับอ่านออกเสียงผิด คือหมายความว่า คนเขียนเขาเขียนอย่างหนึ่งด้วยความประสงค์จะให้อ่านอีกอย่างหนึ่ง แต่คนอ่านไม่ได้อ่านให้ตรงกับความประสงค์นั้น เช่น

– “พระพุทธศักราช” คนเขียนเขาไม่อยากจะเขียนคำเต็มๆ เพราะเสียเวลา หรือเพราะเนื้อที่ไม่พอ หรือเพราะเหตุอะไรก็ตาม จึงเขียนย่อว่า “พ.ศ.” โดยประสงค์จะให้อ่านเต็มๆ ว่า “พระพุทธศักราช” 

แต่คนอ่านไม่รู้ หรือไม่ยอมรับรู้ถึงความประสงค์นี้ พอไปเห็นคำที่เขียนว่า “พ.ศ.”  ก็อ่านไปตรงๆ ตามที่ตาเห็นว่า “พอ – สอ” 

ทุกวันนี้ คำย่อ “พ.ศ.” ไม่มีใครอ่านว่า “พระพุทธศักราช”กันอีกแล้วครับ ทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่อ่านว่า “พอ – สอ” กันทั้งบ้านทั้งเมืองจนกลายเป็นคำอ่านที่ถูกต้องไปแล้ว 

นานๆ ทีจึงจะได้ยินอ่านว่า “พุทธศักราช” (ตัดคำว่า “พระ” ออกไปเสียอีก) ใครอ่านว่า “พระพุทธศักราช” กลายเป็นเชย เป็นผิดไป

อันที่จริง “พ.ศ.” อ่านว่า “พอ – สอ” ก็ยังไม่แน่จริงตรงตามที่เขียนหรอกครับ ถ้าแน่จริงต้องอ่านว่า “พอ พาน จุด ศอ ศาลา จุด” ต้องอ่านอย่างนี้จึงจะถูกกับที่เขียน ใช่หรือไม่

– อีกคำหนึ่ง คือคำบอกเวลา เช่นคนเขียนต้องการจะพูดว่า “เวลาแปดนาฬิกาสามสิบนาที” แต่ไม่อยากจะเขียนคำเต็มๆ เพราะเสียเวลา หรือเพราะเนื้อที่ไม่พอ หรือเพราะเหตุอะไรก็ตาม จึงเขียนย่อว่า “เวลา ๐๘:๓๐ น.” 

ฝ่ายคนอ่านแทนที่จะอ่านให้ตรงกับความประสงค์ของคนเขียนว่า “เวลาแปดนาฬิกาสามสิบนาที” ก็มักได้ยินอ่านกันว่า “เวลา สูน แปด จุด สาม สูน นอ” 

นี่ก็คืออ่านไปตามที่ตามองเห็นอีกเหมือนกัน

เดี๋ยวนี้อ่านคำบอกเวลาว่า – เวลาสูนเท่านั้น จุดเท่านั้นนอ – กันทั่วไปหมดแล้วครับ อีกไม่นานก็จะเป็นการอ่านที่ถูกต้องตามความนิยมไปอีกคำหนึ่ง

ผมนึกถึงคำย่อบอกจำนวนเงินไทย เช่นเขียนว่า “จำนวนเงิน ๒๕.๕๐ บาท” น่าจะมีคนอ่านว่า “จำนวนเงิน สอง ห้า จุด ห้า สูน บาท” แทนที่จะอ่านว่า “ยี่สิบห้าบาท ห้าสิบสตางค์” 

เรื่องนี้ไม่ไช่เรื่องเฉพาะการอ่านคำย่อ ซึ่งมีหลักเกณฑ์ที่กำหนดร่วมกันไว้แล้วว่า ย่ออย่างไร อ่านอย่างไร แต่เป็นเรื่อง “เขียนอย่างไรอ่านอย่างไร” ในวงกว้างๆ ด้วย

(อาจมียกเว้นเฉพาะวงในของบางวง เช่น หลักการอ่านเวลาของทหารเรือเป็นต้น บางคำอ่านไม่เหมือนหลักทั่วไป ซึ่งก็ต้องรับรู้เป็นกรณีพิเศษเป็นวงๆ ไป) 

………………..

มีตัวอย่างคำเก่าอยู่คำหนึ่งที่อ่านผิดจนกลายเป็นถูกไปแล้ว คือคำว่า “ดูกร”

การเขียนหนังสือแบบเก่า จะมีเกณฑ์อยู่ข้อหนึ่ง คือ

– ร เรือ เป็นตัวสะกดในท้ายคำ เท่ากับ -อน เช่น พร อ่านว่า พอน 

– ล ลิง เป็นตัวสะกดเท่ากับ -น เช่น พล อ่านว่า พน ไม่ใช่ พอน 

หลักนี้โดยมากจะใช้กับคำที่มาจากภาษาอื่น แต่เมื่อใช้ไปๆ ท่านก็เอามาใช้แม้กับคำไทยแท้ๆ ด้วย

คำว่า “ดูกร” นี้ เป็นตัวอย่างที่ท่านใช้ ร เรือ สะกด ความประสงค์ก็คือจะพูดว่า “ดูก่อน” นั่นเอง 

แต่เวลาเขียน ท่านเอาหลักที่ว่า “ร เรือ เป็นตัวสะกดเท่ากับ -อน” มาใช้ 

และคนโบราณไม่พิถีพิถันเรื่องวรรณยุกต์ ดังตัวอย่างคำที่เขียนว่า “ยานี กินกได ทากได” ท่านอ่านกันรู้เรื่องว่า “ยานี้ กินก็ได้ ทาก็ได้”

“นี” ไม่มีวรรณยุกต์โท แต่ต้องอ่านว่า “นี้”

“ได” ก็ไม่มีวรรณยุกต์โท แต่ต้องอ่านว่า “ได้”

เช่นเดียวกัน “กร” ( = กอน) ไม่มีวรรณยุกต์เอก แต่ต้องอ่านว่า “ก่อน” (คำว่า “-กร” ในที่อื่น อ่านอย่างไรต้องดูบริบทประกอบด้วย) 

คนโบราณเขียนว่า “ดูกร” โดยความประสงค์จะให้อ่านว่า “ดูก่อน” 

แต่คนอ่านในเวลาต่อมาไม่รู้ หรือไม่ยอมรับรู้ถึงความประสงค์นี้ เห็น ก ไก่ กับ ร เรือ แทนที่จะนึกถึงคำว่า “ก่อน” ไม่ทราบว่าจะอ่านอย่างไรดี ก็เลยอ่านเรียงตัวอักษรเป็น “กะ – ระ”

“ดูกร” แทนที่จะอ่านว่า “ดูก่อน” ตามความประสงค์ของคนเขียน จึงถูกอ่านว่า “ดู – กะ – ระ”

นานเข้า “ดู – กะ – ระ” ก็กลายเป็นคำอ่านที่ถูกต้อง ทั้งๆ ที่เป็นการอ่านผิดแท้ๆ 

วรรณกรรมเรื่องหนึ่งที่มีคำว่า “ดูกร” ดกดื่นที่สุด คือร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก

ใครเป็นนักฟังเทศน์มหาชาติ ย่อมจะได้ยินเสียงพระเทศน์แว่วอยู่ในโสตประสาท โดยเฉพาะตรงคำที่ว่า “ภิกฺขเว ดูกะระสงฆ์ผู้ทรงศีลวิสุทธิสังวร ..”  อะไรประมาณนี้ 

เสียง “ดูกะระสงฆ์…” นั้นฟังเหมือนมีลูกคลื่นกระทบกันพริ้งพรายดีกว่า “ดูก่อนสงฆ์…” เป็นอันมาก

ด้วยประการดังนี้ “ดูก่อน” จึงกลายเป็น “ดูกะระ” อย่างเนียนสนิท

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ บอกไว้อย่างสง่าผ่าเผยว่า

………………………………

ดูกร, ดูก่อน, ดูรา

 [ดูกะระ, ดูกอน] (กลอน; แบบ) คำกล่าวเรียกผู้ที่จะสนทนาด้วย เป็นคำที่ผู้ใหญ่พูดกับผู้น้อย เช่น ดูกรเจ้าชาลีลูกรัก (ม. ร่ายยาว กุมาร).

………………………………

โปรดสังเกตว่า คำอ่านอีกคำหนึ่งที่พจนานุกรมบอกไว้ คือ “ดูกอน” 

“ดูกอน” นะครับ คือ -กอน ไม่ใช่ -ก่อน 

เป็นการบอกคำอ่านที่ผิด (แต่กลายเป็นถูกไปแล้ว) ทั้งคู่ 

ดู กะ ระ ก็ผิด 

ดู กอน (ไม่มีไม้เอก) ก็ยังผิดอยู่ดี

คำอ่านที่ถูกตามความประสงค์ของคนเขียน คือ “ดูก่อน” ครับ 

ไม่ใช่ ดูกะระ หรือ ดูกอน

แต่เมื่อพจนานุกรมของทางราชการบอกคำอ่านไว้อย่างนั้น ใครขืนไปอ่าน “ดูกร” ว่า “ดูก่อน” ก็ต้องถือว่าอ่านผิด (ทั้งๆ ที่อ่านถูกตามความประสงค์ของคนเขียน)

ต้องอ่านว่า “ดู กะ ระ” หรือ “ดู กอน” (ไม่มีไม้เอก) จึงจะถือว่าถูก (ทั้งๆ ที่อ่านผิดจากความประสงค์ของคนเขียน)

………………..

อีกคำหนึ่งที่อ่านผิดเป็นถูกสนิทไปแล้ว ก็คือคำว่า “อนึ่ง” 

คำว่า “อนึ่ง” นี้ เดิมทีเดียวคนเขียนต้องการให้อ่านว่า “หนึ่ง” คือใช้ อ อ่าง เป็นอักษรนำเหมือน ห หีบ เช่นเดียวกับคำว่า อย่า อยู่ อย่าง อยาก เราไม่ได้อ่านว่า อะ-หย่า อะ-หยู่ อะ-หย่าง อะ-หยาก 

เพราะ อ อ่าง ในคำพวกนี้ทำหน้าที่เป็นอักษรนำ 

ไม่ได้ออกเสียงว่า “อะ” ขึ้นมาอีกพยางค์หนึ่ง

คำว่า “อนึ่ง” นี่ก็มีความประสงค์เช่นเดียวกันนั้น คือต้องการให้อ่านว่า “หนึ่ง” ไม่ใช่ “อะ-หนึ่ง”

แต่เพราะคนอ่านไม่รู้ความประสงค์ของคนเขียน 

“อนึ่ง” คือ “หนึ่ง” ก็เลยกลายเป็น “อะ-หนึ่ง” 

เป็นคำอ่านผิดที่กลายเป็นถูกไปแล้วอีกคำหนึ่ง

แล้วก็เลยทำให้คนช่างคิดชวนกันตีความต่อไปอีกว่า “อนึ่ง” น่าจะกร่อนมาจาก “อันหนึ่ง” อะไรไปโน่น

เป็นการตีความบนฐานแห่งความไม่เข้าใจ หรืออันที่จริงก็คือ- บนฐานแห่งความเข้าใจผิดแท้ๆ

………………..

การอ่านให้ถูกกับความประสงค์ของคนเขียน มีความสำคัญต่อความงอกงามหรืองอกอย่างไม่งามของภาษาไทยเพียงไร ใคร่ขอยกเรื่องความเป็นมาของไม้ยมกมาเป็นเครื่องเตือนสติให้คิดคำนึงไว้

คือ เครื่องหมายไม้ยมกนั้น ความจริงแล้วก็คือเลข ๒ ไทยนั่นเอง

สมัยก่อน อักขระแต่ละตัวสำเร็จมาจากการเขียนด้วยมือ คำบางคำที่มักพูดซ้ำกัน ๒ ครั้ง ถ้าจะต้องเขียนซ้ำกันอีกย่อมสิ้นเปลืองเวลาและแรงงาน คนเขียนหนังสือจึงคิดวิธีที่จะไม่ต้องเขียนซ้ำให้เสียเวลา แต่ให้คนอ่านรู้ได้ว่าต้องอ่านซ้ำ โดยการเขียนเลข ๒ ไว้ข้างหลังคำที่ต้องการให้อ่านซ้ำ เช่น “เบา ๒” 

“เบา ๒” – เขียนอย่างนี้ ถ้าอ่านตามที่สายตามองเห็น ก็น่าจะต้องอ่านว่า “เบาสอง” 

แต่เพราะคนอ่านเข้าใจถึงความประสงค์ของคนเขียน เมื่อเห็นข้อความว่า “เบา ๒” ก็รู้ว่า “เบา ๒ ครั้ง” หมายความว่าให้อ่านคำว่า “เบา” ๒ ครั้ง 

เมื่อเข้าใจตรงกันอย่างนี้ แทนที่จะอ่านแบบเถรตรงว่า “เบาสอง” ก็จะอ่านว่า “เบาเบา” ถูกต้องตรงกับความประสงค์ของคนเขียน คือ –

“เบา ๒” = “เบา ๒ ครั้ง” = “เบาเบา”

เลข ๒ ไทยนี้คนแต่ก่อนท่านลากหางลงมาตรงๆ และม้วนปลายหางเพียงเล็กน้อย ไม่ได้ตวัดขึ้นข้างบน 

เลข ๒ จึงเป็นต้นกำเนิดของเครื่องหมายไม้ยมก ด้วยประการฉะนี้

ถ้าเข้าใจเรื่องไม้ยมกตามที่ว่ามานี้แล้ว ต่อไปพอไปเห็นวิธีเขียนอย่างใดๆ ที่คนเขียนใช้วิธีพิเศษทำนองเดียวกับหลักการของไม้ยมก คือ “เขียนลงไปอย่างหนึ่ง แต่ต้องอ่านไปอีกอย่างหนึ่ง” เราก็จะเกิดความรู้สึกว่าจำเป็นจะต้องศึกษาวิธีเขียนวิธีอ่าน ที่พูดกันว่า “เขียนอย่างไร อ่านอย่างไร” ให้เข้าใจ 

เมื่อศึกษาเข้าใจแล้ว พอไปเห็นคำที่ “เขียนลงไปอย่างหนึ่ง แต่ต้องอ่านไปอีกอย่างหนึ่ง” เราก็จะอ่านถูกตรงกับความประสงค์ของคนเขียน คืออ่านทะลุไปถึงเจตนา ไม่ใช่อ่านเพียงแค่ที่สายมองเห็น อย่างที่กำลังเป็นกันอยู่มากในเวลานี้

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๓ ตุลาคม ๒๕๖๔

๑๑:๓๓

………………………………

ปัญหาการใช้ภาษาไทย (๖)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

……………………………..

ปัญหาการใช้ภาษาไทย (๔)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *