บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ฤๅจะหลงทางกันอยู่ตรงนี้

ฤๅจะหลงทางกันอยู่ตรงนี้

—————————

…………….

ชาวบ้านต้องตอบโจทย์ให้ได้ว่า ทำไมเราจึงศรัทธาพระ เหตุผลที่ถูกต้องอยู่ตรงไหน

พระเองก็ต้องตอบโจทย์ให้ได้ด้วยเช่นกันว่า ทำไมเมื่อเป็นพระชาวบ้านจึงศรัทธา

…………….

ชาวพุทธเรานิยมใส่บาตรทุกเช้า หลายคนทำเป็นกิจวัตร ขาดไม่ได้ และเชื่ออย่างมั่นใจว่า เรากำลังทำบุญอันเป็นความดีในพระพุทธศาสนา

แต่เชื่อว่ามีชาวพุทธส่วนน้อยเท่านั้นที่เคยสอบสวนสืบค้นอย่างจริงจังและถึงที่สุดว่า เรามีเหตุผลอะไรที่ศรัทธาในการทำบุญใส่บาตร

ที่นิยมอ้างกันมากก็คือ-เป็นการอุทิศส่วนบุญไปให้ท่านผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ใส่บาตรให้พ่อ ใส่บาตรให้แม่

อีกส่วนหนึ่งเข้าใจว่า การใส่บาตร (ภาษามาตรฐานท่านให้เรียก “ตักบาตร”) เป็นการทะนุบำรุงพระพุทธศาสนา และเพื่อให้ตนเองไปเกิดในภพภูมิที่ดีและไม่อดอยากยากจนในชาติหน้า 

ความเข้าใจเช่นนี้อิงหลักที่ว่า –

ทาน ทำให้รวย 

ศีล ทำให้สวย 

ภาวนา ทำให้มีสติปัญญาดี

——————

ถามว่า ผู้รอรับทานก็มีอยู่มากมาย ขอทาน คนจน หรือแม้แต่หมาแมวที่ไม่มีเจ้าของ ตลอดจนนกหนูปูปีก สัตว์น้อยสัตว์ใหญ่ มีอยู่เป็นอเนกอนันต์ ทำบุญกับพวกเหล่านั้นไม่ได้บุญหรือ ทำไมเล่าจะต้องทำบุญโดยการใส่บาตรให้ภิกษุสามเณร

พอถามอย่างนี้ก็ต้องหาหลักอิงที่หนักแน่นยิ่งขึ้น เช่นอ้างทักขิณาวิภังคสูตร ที่แสดงไว้ว่า –

ให้ทานแก่สัตว์เดรัจฉานได้บุญร้อยเท่า 

ให้ทานแก่คนธรรมดาได้บุญพันเท่า 

ถวายทานแก่พระสงฆ์ได้บุญแสนเท่า …

ไปจนถึง-ทำบุญกับพระพุทธเจ้าได้บุญนับไม่ถ้วน

หมายความว่า คนเราก็ต้องเลือกทำบุญกับแหล่งที่จะอำนวยให้ได้ผลมากที่สุด-เป็นธรรมดา

ตรงนี้อาจจะอ้างสังฆคุณมายืนยันได้ด้วย คือบทที่ว่า อนุตฺตรํ ปุญฺญกฺเขตฺตํ โลกสฺส = พระสงฆ์เป็นเนื้อนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า

ตามดูต่อไปอีกว่า ทำไมท่านจึงว่าพระสงฆ์เป็นเนื้อนาบุญของโลกไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า 

คำตอบก็อยู่ในบทสังฆคุณนั่นเอง คือ เพราะพระสงฆ์เป็นผู้ –

สุปฏิปนฺโน ปฏิบัติดี 

อุชุปฏิปนฺโน ปฏิบัติตรง 

ญายปฏิปนฺโน ปฏิบัติควร 

สามีจิปฏิปนฺโน ปฏิบัติชอบ

เป็นอันได้หลักยืนยันว่า ใส่บาตรให้พระสงฆ์สามเณร จะได้บุญมากก็ต้องเป็นพระสงฆ์สามเณรที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติควร ปฏิบัติชอบ

ตั้งเป็นหลักใหญ่ได้ว่า จะอุปถัมภ์บำรุง หรือควักกระเป๋าทุ่มเทให้พระสงฆ์สามเณรรูปไหน วัดไหน สำนักไหน ต้องตรวจสอบให้ดีก่อนว่า พระสงฆ์สามเณรรูปนั้น วัดนั้น สำนักนั้นเป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติควร ปฏิบัติชอบหรือเปล่า

ถึงตรงนี้คงมีคนอยากพูดว่า มัวแต่ไปตรวจสอบก็ไม่ต้องได้ทำบุญกันพอดี 

แล้วอีกประการหนึ่ง ใครจะไปตรวจสอบได้ว่าพระเณรที่เราเห็นท่านออกบิณฑบาตทุกเช้า รูปไหนปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติควร ปฏิบัติชอบหรือเปล่า

ตรงนี้แหละคือช่องโหว่ของสังคมไทย และเป็นช่องโหว่ขนาดมหึมาด้วย

หมายความว่าอย่างไร

ก็หมายความว่า – คนที่เก่งทางการตลาดย่อมจะตีโจทย์ออกแล้วว่า สังคมไทยเลื่อมใสง่าย ศรัทธาง่าย เพราะฉะนั้น ทำอะไรก็ได้ให้ออกมาดูดี น่าเลื่อมใส 

ง่ายๆ เท่านี้เอง 

ทำอะไรก็ได้ให้ออกมาดูดี น่าเลื่อมใส ก็จะสามารถทำให้คนไทยเทกระเป๋าออกมาถวายได้อย่างไม่อั้น

เอาไว้แค่นี้ก่อน

——————

คราวนี้ลองถอยกลับมาดูว่า มีเหตุผลอะไรท่านจึงใช้การปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติควร ปฏิบัติชอบ เป็นมาตรฐานในการตัดสินพระสงฆ์สามเณรว่าเป็นเนื้อนาบุญหรือไม่เป็น

ถามอีกอย่างหนึ่งว่า มีเหตุผลอะไรท่านจึงบอกว่า ทำบุญกับพระสงฆ์ได้บุญมากกว่าให้ทานแก่คนธรรมดา

ตรงนี้ต้องตามไปดูกำเนิดของพระสงฆ์

ว่าย่อๆ พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่แสดงหนทางปฏิบัติไปสู่ความพ้นทุกข์ พระพุทธเจ้าผู้เป็นเจ้าของพระศาสนาทรงชี้ทางไว้ว่า การปฏิบัติไปสู่ความพ้นทุกข์จะได้ผลดีต้องออกจากเรือนไปสู่ความเป็นผู้ไม่มีบ้านเรือน มีหลักมีเกณฑ์ในการครองชีวิตอีกแบบหนึ่งต่างจากผู้ครองเรือน

คำแนะนำนี้มีตัวพระพุทธเจ้าเองเป็นบทพิสูจน์ และต่อมาก็มีพระสงฆ์สาวกทั้งหลายเป็นพยานยืนยัน

พระสงฆ์สาวกทั้งหลาย แต่เดิมก็คือชาวบ้านธรรมดาเหมือนเราท่านนี่เอง ไม่ใช่มนุษย์ต่างดาวที่ไหน เป็นชาวบ้านที่ฟังคำสอนแล้วเกิดศรัทธา 

แล้วออกบวช 

แล้วปฏิบัติตาม 

แล้วบรรลุธรรม 

ที่ยังไม่บรรลุก็พยายามปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติควร ปฏิบัติชอบเพื่อบรรลุในโอกาสต่อไป 

นี่คือเหตุผลที่แท้จริงที่มีเพศสมณะเกิดขึ้นในพระพุทธศาสนา

ฝ่ายชาวบ้านที่มีศรัทธา แต่ยังไม่พร้อมที่จะออกบวช เมื่อได้เห็นพวกที่พร้อมกว่าได้ออกบวชไปแล้ว ก็มีแก่ใจสนับสนุนด้วยปัจจัยต่างๆ เพื่อให้ผู้ออกบวชมีความสะดวกในการครองชีพ จะได้มุ่งปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติควร ปฏิบัติชอบเพื่อบรรลุธรรมต่อไป

นี่คือเหตุผลต้นเดิมที่ชาวพุทธมีศรัทธาในการใส่บาตร-คือในการอุปถัมภ์บำรุงพระสงฆ์สามเณร อุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนา

และที่ว่าถวายทานแก่พระสงฆ์ได้บุญมากกว่าให้ทานแก่สัตว์ แก่คนธรรมดา ก็ด้วยเหตุผลข้อนี้แหละ

คือเหตุผลที่ว่า-เป็นการสนับสนุนให้คนดำเนินไปสู่ความพ้นทุกข์

ถึงตัวเองจะยังไปไม่ได้ แต่ก็สนับสนุนคนที่เขาไปได้

ถามว่า ทุกวันนี้มีใครได้คิดไปให้ถึงเหตุผลต้นเดิมตรงนี้กันบ้าง?

นอกจากใส่บาตรทุกเช้าแล้ว การอุปถัมภ์บำรุงในรูปแบบอื่นๆ ทุกอย่าง สร้างโบสถ์ สร้างศาลา สร้างกุฏิ บริจาคที่ ตั้งทุนมูลนิธิ บำรุงการศึกษาพระปริยัติธรรม บวชเณร บวชพระ ทอดผ้าป่า ทอดกฐิน ฯลฯ ก็ล้วนแต่มีรากเหง้าเค้าเดิมมาจากการสนับสนุนให้คนดำเนินไปสู่ความพ้นทุกข์ทั้งสิ้น

เราได้คิดสาวไปให้ถึงเหตุต้นเค้าที่แท้จริงของการมีศรัทธากันบ้างหรือเปล่า

เมื่อทำกันนานเข้าจนกลายเป็นวัฒนธรรม ประเพณี เป็นค่านิยม เราก็เลยลืมกันไปว่าเหตุผลที่แท้จริงของการกระทำเช่นนั้นคืออะไร 

กลายเป็นทำตามประเพณี หนักเข้าก็เลยเป็น “ความเชื่อ” คือศรัทธาล้วนๆ ไม่ได้มองไปที่เหตุผลที่แท้จริงของการกระทำเช่นนั้น 

และในที่สุดก็ถึงขั้น-ไม่ต้องการคำอธิบายหรือเหตุผลใดๆ 

ใครจะพูดจะชี้แจงก็ไม่อยากฟัง (ซ้ำชักจะรำคาญเอาด้วย)

ขอเพียงแค่ให้ได้ทำ เท่านั้นพอ 

และมีเป็นอันมากที่อ้างเหตุผลเพียงว่า ทำแล้วสบายใจ ก็พอแล้ว ขอแค่นั้น

สมณเพศที่เกิดขึ้นเพื่อเป็นทางดำเนินหรือเป็นวิถีชีวิตของผู้ขัดเกลาจึงเริ่มเบี่ยงเบน เจตนาของการบวชเริ่มเปลี่ยนไป เป็นที่มาของคำพูดเล่นหัวเชิงถากถางที่ว่า

บวชเล่น

บวชลอง

บวชครองประเพณี

บวชหนีสงสาร

บวชผลาญข้าวสุก

บวชสนุกตามเพื่อน

วิถีชีวิตของสมณะที่ต่างจากชาวบ้าน มุ่งขัดเกลาตนเอง ก็เริ่มแปรผัน หวนกลับมาใกล้ไปทางฆราวาสเข้าไปอีก 

ชาวบ้านมีอะไร พระก็มี 

ชาวบ้านทำอะไร พระก็ทำ

สมัยพุทธกาล มีคำที่ชาวบ้านวิพากษ์วิจารณ์พระอยู่ประโยคหนึ่งว่า 

 ยเถว  มยํ  …..  เอวเมวิเม  สมณา  สกฺยปุตฺติยา  ….. 

พวกเรา (ทำอย่างนี้ๆ) ฉันใด 

พระสมณะศากยบุตรเหล่านี้ก็ (ทำอย่างนี้ๆ) ฉันนั้น

ถอดความว่า “พระทำแบบนี้ก็ไม่ต่างอะไรกับชาวบ้าน

คำวิพากษ์วิจารณ์เช่นนี้เป็นเหตุให้พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบทหลายต่อหลายข้อห้ามภิกษุทำอย่างที่ชาวบ้านติเตียนนั้น

จึงได้หลักว่า ถ้าพระทำเหมือนชาวบ้าน ก็ไม่จำเป็นต้องเข้ามาบวชในพระศาสนา ทำอยู่กับบ้านสะดวกกว่า 

หรือพูดกระทบต่อไปอีกว่า ถ้าอยากทำเหมือนชาวบ้านก็ควรออกไปอยู่บ้าน ไม่ควรครองเพศสมณะอยู่ในวัดอันเป็นสถานที่ซึ่งชาวบ้านสร้างไว้สำหรับสมณะที่มุ่งขัดเกลาตนเอง

อาจจะมีบางสำนักแย้งว่า วัดนี้ชาวบ้านไม่ได้สร้าง อาตมาสร้างเอง อาตมาจึงมีสิทธิ์ที่จะอยู่ 

แต่กระนั้นคำแย้งนี้ก็ไปไม่รอด 

ทั้งนี้เพราะเพศสมณะนั้นพระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้สำหรับผู้ที่ต้องการปฏิบัติดำเนินไปสู่ความพ้นทุกข์ ซึ่งจะได้ผลดีก็ต้องออกจากเรือนไปสู่ความเป็นผู้ไม่มีบ้านเรือน มีหลักมีเกณฑ์ในการครองชีวิตอีกแบบหนึ่งต่างจากผู้ครองเรือน 

ดังนั้น ผู้ที่ไม่ได้ตั้งใจปฏิบัติตามเป้าหมายดังว่านั้น ก็ไม่มีความจำเป็นอะไรเลยที่จะต้องออกจากเรือนไปครองเพศเช่นนั้น 

ที่ครองเพศนั้นอยู่ หากแต่ยังทำเหมือนชาวบ้าน ก็ไม่ควรมีสิทธิ์ที่จะทรงเพศนั้นอยู่ต่อไป

และว่ากันอย่างตรงไปตรงมา เมื่อไม่ตั้งใจปฏิบัติขัดเกลา จะต้องเข้าไปอยู่วัดทำไม

เหมือนคนที่เข้าไปอยู่ในกลุ่มเดียวกันเพื่อดำเนินไปสู่เป้าอย่างหนึ่ง ถ้าใครมิได้มีความมุ่งหมายจะไปสู่เป้าหมายนั้น ก็แล้วจำเป็นอะไรเล่าที่จะต้องเข้าไปอยู่ในกลุ่มกับเขาด้วย?

อนึ่ง มนุษย์ไม่ได้เป็นสมณะมาตั้งแต่เกิด และสมณเพศก็มิใช่สมบัติที่จะสืบสันตติวงศ์ไปตามตระกูล หากแต่ต้องสมัครใจเข้าไป 

และตามกฎกติกาสากล เมื่อสมัครเข้าเป็นสมาชิกของสังคมใด ผู้สมัครต้องพร้อมที่จะปฏิบัติตามกฎกติกาของสังคมนั้น

ก็สังคมสงฆ์หรือ “สังฆะ” นั้นเป็นสังคมที่พระพุทธเจ้าทรงตั้งขึ้นสำหรับผู้ต้องการปฏิบัติขัดเกลาตนเอง มีกฎเกณฑ์ มีหลักการครองชีวิตที่แตกต่างไปจากชาวบ้าน 

ใครไม่อยากปฏิบัติตาม ก็ไม่มีข้อบังคับว่าต้องเข้ามาอยู่ในสังคมนี้ 

ใครเข้ามาแล้ว แต่ปฏิบัติตามต่อไปไม่ไหว หรือเห็นว่าทำอะไรๆ ให้เหมือนชาวบ้านจะสนุกกว่า ก็มีสิทธิ์ที่จะออกไป และควรอย่างยิ่งที่จะออกไป-ออกไปทำกันข้างนอก

จะอยู่เป็นพระไปด้วย แล้วก็ทำเหมือนชาวบ้านไปด้วย ย่อมไม่ชอบธรรม

——————

ความที่ว่ามานั้นไม่ใช่ความคิดของผมนะครับ

ผมเพียงแต่เก็บความคิดจากที่ต่างๆ มาว่าให้ฟัง

พอมีคำวิพากษ์วิจารณ์ทำนองที่ว่ามานี้-อยากทำเหมือนชาวบ้าน ก็ออกไปเป็นชาวบ้านเสียสิ-ก็จะมีท่านจำพวกหนึ่งให้เหตุผลว่า งานต่างๆ ที่พระกำลังทำอยู่ในทุกวันนี้ ถ้าเป็นชาวบ้านทำ คนเขาก็ไม่ศรัทธา ที่เขาศรัทธาก็เพราะความเป็นพระ

อย่างเช่นครูบาศรีวิชัยพาชาวบ้านทำทางขึ้นดอยสุเทพ

ถ้าครูบาท่านไม่ได้เป็นพระ แต่เป็นชาวบ้านธรรมดาเหมือนชาวบ้านคนอื่นๆ จะมีคนมาช่วยกันทำถึงขนาดนั้นหรือไม่

ผมว่าเหตุผลนี้คงต้องมีคนเห็นด้วยเยอะ

ผมเองก็เห็นด้วย

ลองสำรวจดูหลวงปู่หลวงพ่อที่ทำงานเชิงสังคมสงเคราะห์ดูเถิด-อย่างเช่นหลวงพ่อพะยอมวัดสวนแก้วเป็นต้น-จะเห็นชัดว่า ที่ท่านทำเช่นนั้นได้ก็เพราะท่านเป็นพระนั่นเอง

คนธรรมดาที่ชาวบ้านสนับสนุนคล้ายๆ กันอย่างนั้นก็พอมีบ้าง แต่ที่เป็นพระเป็นสงฆ์เห็นได้ชัดเจนที่สุด

ว่าไปทำไมมี แม้แต่วัดพระธรรมกายที่มีผู้คนศรัทธา เหตุผลสำคัญก็อยู่ตรงที่เป็นงานที่พระทำ วัดทำ นั่นเอง การบริหารจัดการที่พูดกันว่าเจ๋งนักหนานั้นก็ตั้งอยู่บนฐานคือความเป็นพระเป็นวัดนี่แหละ

สมมติว่า นายไชยบูลย์ สิทธิผล ไม่แปรสภาพมาเป็นหลวงพ่อธัมมชโย 

หรือถ้าหลวงพ่อธัมมชโย เปลี่ยนสภาพกลับไปเป็นนายไชยบูลย์ สิทธิผล เหมือนเดิม

วัดธรรมกายแปรสภาพเป็น-บริษัท ธรรมกาย จำกัด (มหาชน)

ทุกอย่างก็เอวัง แปลว่า-ก็พังนะสิโยม

——————

แต่เหตุผลที่ว่า-ผู้คนศรัทธาเพราะความเป็นพระนี่แหละ เป็นเหตุผลแบบโค้งหักศอกอยู่ในตัว

นั่นคือจะต้องถามกลับไปอีกทีหนึ่งว่า ก็แล้วเพราะเหตุผลอะไรกันเล่าชาวพุทธจึงเลื่อมใสศรัทธาและอุปถัมภ์บำรุงพระ?

คำถามนี้ตอบเป็นอย่างอื่นไม่ได้ ต้องย้อนกลับไปดูคำตอบข้างต้นที่ชี้ให้ดูมาแล้ว

นั่นคือ พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่แสดงหนทางปฏิบัติไปสู่ความพ้นทุกข์ พระคือผู้ที่ฟังคำสอนแล้วเกิดศรัทธา แล้วออกบวช แล้วปฏิบัติตาม 

ฝ่ายชาวบ้านที่มีศรัทธาในหลักคำสอน เมื่อได้เห็นพระสงฆ์ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติควร ปฏิบัติชอบเพื่อบรรลุธรรม ก็จึงสนับสนุนด้วยประการต่างๆ

นี่คือเหตุผลที่ถูกต้องแท้จริงที่ชาวพุทธมีศรัทธาในเพศสมณะ

——————

ถึงเวลาที่เราจะต้องถอยไปตั้งหลักกันใหม่ให้ถูกต้อง

คือชาวบ้านต้องตอบโจทย์ให้ได้ว่า ทำไมเราจึงศรัทธาพระ เหตุผลที่ถูกต้องอยู่ตรงไหน

และพระเองก็ต้องตอบโจทย์ให้ได้ด้วยเช่นกันว่า ทำไมเมื่อเป็นพระชาวบ้านจึงศรัทธา

ต้องไม่ใช่แค่-เพราะเห็นพระเป็นบุรุษไปรษณีย์เอาบุญไปส่งให้ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว หรือเป็นธนาคารรับฝากบุญให้เราไปเบิกใช้ในชาติหน้า หรือเห็นว่าพระเป็นผู้บันดาลความขลังความศักดิ์สิทธิ์ให้ได้

แต่ต้องถามต่อไปอีกว่า พระมีคุณสมบัติอะไรจึงได้สิทธิ์มาทำหน้าที่นั้น-ในเมื่อตอนที่เกิดมาก็เป็นชาวบ้านเหมือนเรา ไม่ได้เป็นพระมาตั้งแต่เกิดสักหน่อย

ถ้าใครตอบว่า เพราะท่านห่มผ้ากาสาวพัสตร์อันเป็นธงชัยของพระอรหันต์ ก็ต้องถามต่อไปอีกว่า ท่านใช้สิทธิ์อะไรมาห่มผ้ากาสาวพัสตร์

ถามไล่ไปเรื่อยๆ ให้ถึงที่สุด 

ในที่สุดจะต้องได้คำตอบที่ถูกต้องว่า เพราะท่านเป็นปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติควร ปฏิบัติชอบ ตามพระธรรมวินัยอันเป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า-เพื่อดำเนินไปสู่ความพ้นทุกข์-นั่นเอง

ต้องเป็นคำตอบนี้เท่านั้น 

ตอบอย่างอื่น ผิด

ถ้าเพศพระเป็นตัวตัดสินศรัทธาของชาวบ้าน

การปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติควร ปฏิบัติชอบก็เป็นตัวตัดสินความเป็นพระ

เวลานี้ชาวบ้านศรัทธาพระโดยไม่รู้เหตุผลที่ถูกต้อง

ฝ่ายพระก็ไม่รู้เหตุผลที่ถูกต้องว่าทำไมพอเป็นพระ ชาวบ้านจึงศรัทธา

——————

สถานการณ์จึงดำเนินไปเหมือนกับว่าต่างฝ่ายต่างสมประโยชน์กัน

ฝ่ายหนึ่งต้องการศรัทธาพระ

อีกฝ่ายหนึ่งก็ต้องการเป็นพระเอาไว้ให้ศรัทธา

ถ้าถามว่า ทำไมจึงศรัทธา ก็ตอบว่าศรัทธาเพราะเห็นว่าเป็นพระ

ถ้าถามว่า ทำไมจึงเป็นพระ ก็ตอบว่าเป็นพระเพราะเห็นว่าเขาศรัทธา

ทำไมจึงศรัทธา ศรัทธาเพราะเห็นว่าท่านเป็นพระ

ทำไมจึงเป็นพระ เป็นพระเพราะเห็นว่าเขาศรัทธา

ต้องไม่ใช่วนอยู่แค่นี้

แต่จะต้องออกจากวังวนนี้ไปสู่คำตอบที่ถูกต้อง

คำตอบที่ถูกต้องคือ :

ทำไมจึงศรัทธา –

ศรัทธาเพราะปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติควร ปฏิบัติชอบ

ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติควร ปฏิบัติชอบ เพราะจะนำไปสู่การพ้นทุกข์

ทำไมจึงเป็นพระ –

เป็นพระเพื่อจะได้ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติควร ปฏิบัติชอบ

ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติควร ปฏิบัติชอบ เพราะจะนำไปสู่การพ้นทุกข์

เป็นคำตอบที่นำไปสู่เป้าหมายเดียวกัน

เป็นเหตุผลที่ถูกต้องที่ชาวบ้านมีศรัทธาต่อพระ

และเป็นเหตุผลที่ถูกต้องที่เข้ามาเป็นพระให้เขาศรัทธา

——————

เวลานี้มีท่านจำพวกหนึ่งออกมาบอกว่า – 

พระทุกวันนี้ล้วนเป็นปุถุชน 

ไม่มีใครสามารถปฏิบัติตามสิกขาวินัยได้ครบถ้วนหรอก 

พระต้องปรับตัวให้เข้ากับสังคม 

ถึงท่านจะบกพร่องไปบ้างก็ยังมีศีลมากกว่าชาวบ้าน 

อย่าไปเคร่งครัดอะไรกันนักหนา 

เอาแค่มีพระไว้ให้ชาวบ้านได้ทำบุญก็พอแล้ว

……………..

คิดแค่มีพระไว้ให้ชาวบ้านได้ทำบุญ

แต่ไม่ได้คิดต่อไปว่า-แล้วทำไมต้องทำบุญกับพระ

ถ้าคิดอย่างที่ว่านั่น ก็เท่ากับเปิดทางให้ยุคผ้าเหลืองน้อยห้อยหูมาถึงเร็วเข้านั่นเอง (หรือเผลอๆ เวลานี้อาจจะถึงยุคนั้นเข้าไปแล้วก็ได้)

ประเด็นนี้ต้องตั้งหลักคิดให้ถูก มิเช่นนั้นจะเสียหลัก

หลักก็คือ พระธรรมวินัยเป็นหลักที่จะต้องยึดไว้ให้มั่นคงและครบถ้วน เพราะเป็นมาตรฐานของพระพุทธศาสนา

ต้องศึกษาเรียนรู้ให้เข้าใจ แล้วตั้งใจปฏิบัติตามให้เต็มที่ คือพยายามพัฒนาตัวเองขึ้นไปสู่มาตรฐาน

จะทำได้แค่ไหน เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ต้องคงมาตรฐานของท่านไว้ แล้วตั้งเป้าหมายที่จะขึ้นไปสู่มาตรฐานนั้น

ไม่ใช่ดึงมาตรฐานลงมาหาตัวเอง

ไม่ใช่ถอดใจไปตั้งแต่เริ่มต้นว่า ทำไม่ได้ ไม่มีใครทำได้ และข้าพเจ้าก็จะไม่ทำ 

อ้างโน่นนี่นั่น-โดยเฉพาะอ้างสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป

เมื่อสมัครใจเข้าไปทำ ก็ต้องทำ ไหวหรือไม่ไหวก็ต้องทำ

ทำไม่ได้ ก็อย่าเข้าไป

ทำไม่ไหว ก็ถอยออกมา 

ง่ายๆ ตรงไปตรงมา

ไม่มีใครว่าอะไร

ไม่ได้เสียหายอะไร

ทำไม่ได้ ไม่ถอย แต่ดึงมาตรฐานลงมา นั่นต่างหากที่เสียหาย

——————

คราวนี้มาดูกันว่าเราศรัทธาหรือไม่ศรัทธาเพราะอะไร

………….

ในกองถ่ายภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง มีนักแสดงแต่งตัวเป็นพระสงฆ์ เข้าฉากในภาพยนตร์

คนนอกไม่รู้ มาเห็นเข้า เข้าใจว่าเป็นพระสงฆ์จริงๆ ก็ยกมือไหว้ด้วยความเคารพศรัทธา

ถามว่า ใครๆ ในกองถ่ายจะยกมือไหว้นักแสดงคนนั้นในฐานะเป็นพระหรือไม่?

………….

เราไปเห็นมากับตาตัวเองว่า ชายคนหนึ่งโกนผม ห่มจีวรเอาเอง แล้วอุ้มบาตรเดินบิณฑบาต 

คนทั้งหลายพากันใส่บาตรด้วยความศรัทธา

เราจะใส่บาตรให้เขาหรือไม่ 

เราจะศรัทธาว่าเขาเป็นพระหรือไม่

………….

ตามตัวอย่างที่ว่ามานี้ ดูเหมือนว่าความไม่รู้จะเป็นปัจจัยสำคัญ

ศรัทธาเพราะไม่รู้ความจริงว่านั่นไม่ใช่พระ

ถ้ารู้ก็จะไม่ศรัทธา ไม่ไหว้ ไม่ใส่บาตร

แน่ใจหรือว่าแค่นี้?

ถ้าเช่นนั้น ดูต่อไป –

………….

พระที่วัดแห่งหนึ่ง พระจริง บวชจริงถูกต้องตามพระวินัยตามสังฆกรรมทุกประการ มีพระอุปัชฌาย์อาจารย์ มีพยานสงฆ์ มีใบสุทธิพร้อมตามระเบียบ

ตกเย็น ตั้งวงก๊งสุรา

หัวค่ำ สั่งดินเนอร์ชุดใหญ่

ดึกๆ ออกเที่ยวสถานบริการ 

อิ่มหนำสำราญดีก็กลับวัด

เรารู้ เราเห็น เราจะศรัทธาหรือไม่ จะไหว้ จะใส่บาตรไหม?

………….

จะเห็นได้ว่า เอาเข้าจริง มันไม่ใช่แค่เป็นพระจริงหรือปลอม

แต่มันลึกลงไปถึงวัตรปฏิบัติ ลึกลงไปถึงพระธรรมวินัย

เริ่มตั้งแต่ “อาทิพรหมจริยกา สิกขา” คือข้อบังคับ หรือศีลตามสถานภาพ

เณร ๑๐

พระ ๒๒๗

ภิกษุณี (ถ้ามี) ๓๑๑

แล้วยังต้องประกอบพร้อมไปด้วย “อภิสมาจาริกา สิกขา” คือวัตรปฏิบัติ กิริยามารยาท จารีต ประเพณี วิถีชีวิตที่ต่างไปจากผู้ครองเรือน

สรุปก็คือ อะไรห้ามทำ อะไรต้องทำ อะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ

ตรงนี้ต่างหากคือตัวชี้วัดตัดสิน

แต่เราส่วนมากไม่ได้คิดไปถึงนั่น เพราะติดอยู่แค่-ศรัทธาเพราะเห็นว่าเป็นพระ

—————–

ดูอีกเรื่องหนึ่ง

ผมเลื่อมใสพระเณรที่ท่านเรียน มจร. มมร. เพราะตามหลักการแล้ว ท่านเหล่านี้ต้องออกแรงเป็นสองเท่า

เท่าหนึ่ง คือต้องเรียนให้ได้ ให้จบ เหมือนที่ชาวบ้านเขาเรียนกัน

อีกเท่าหนึ่ง คือต้องรักษาสิกขาวินัยวัตรปฏิบัติไว้ให้ได้ตามแบบแผนที่ถูกต้องดีงามของสงฆ์

เรียนให้จบก็ต้องทำให้ได้

รักษาพระธรรมวินัยก็ต้องทำให้ดี ไม่มีบกพร่อง

พระเณรที่เรียนจบ มจร. มมร. น่านับถือมากๆ ก็ด้วยเหตุผลข้อนี้

แต่ถ้ามุ่งแต่จะเรียนให้จบ ไม่รักษาพระธรรมวินัย ไม่ทำวัตรสวดมนต์ ไม่ลงปาติโมกข์ ไม่บิณฑบาต ไม่รักษาจารีตประเพณีวิถีชีวิตแบบแผนของสงฆ์ ฯลฯ

ความน่านับถือก็หมดไป

เพราะก็จะเหมือนๆ เท่าๆ กับชาวบ้านทั่วไป

แต่ที่ไม่เหมือนก็ตรงที่-ชาวบ้านเขาไม่ต้องอาศัยเพศสมณะเขาก็เรียนจบ 

ชาวบ้านไม่มีข้อผูกมัดที่จะต้องตอบคำถามว่า-ทำไมต้องเป็นพระเป็นเณร

แต่พระเณรต้องตอบคำถามให้ได้ว่า-ทำไม

เหมือนกับที่ชาวบ้านต้องตอบคำถามให้ได้ว่า-ทำไมจึงศรัทธาพระเณร

เรื่องก็จะวนกลับไปที่เดิม-ในพระพุทธศาสนานี้เพศสมณะเกิดขึ้นเพราะเหตุผลอะไร 

——————

ตามไปดูอีกเรื่องหนึ่ง-เป็นเรื่องค่านิยมที่เบี่ยงเบนเพราะเราพากันลืมเหตุผลที่แท้จริง

นั่นคือเรื่องการเรียนบาลี

ความมุ่งหมายของการเรียนบาลีก็คือ-เพื่อให้มีความรู้สามารถในการศึกษาพระไตรปิฎกอันเป็นแหล่งคำสอนในพระพุทธศาสนา ซึ่งบันทึกไว้เป็นภาษาบาลี 

เมื่อศึกษารู้ชัดแล้วจะได้ปฏิบัติตามได้ถูกต้อง พร้อมกันนั้นก็สามารถเผยแผ่หลักคำสอนที่ถูกต้องต่อไปได้เป็นอย่างดี

นี่คือเหตุผลที่แท้จริงของการเรียนบาลี

การที่พระเจ้าแผ่นดินเมืองไทยทรงอุปถัมภ์บำรุงและยกย่องพระเณรที่ศึกษาบาลีสำเร็จก็สืบเนื่องมาจากเหตุผลข้อนี้

แต่เมื่อมาถึงวันนี้ การเรียนบาลีของพระเณรในเมืองไทยเบี่ยงเบนไปหมดแล้วโดยสิ้นเชิง

จากเรียนเพื่อให้มีความรู้

กลายเป็นเรียนเพื่อให้สอบได้

จากเรียนความรู้

กลายเป็นเรียนวิธีสอบ

“นาคหลวง” กลายเป็นเป้าหมายของสามเณรที่เรียนบาลี

“สำนักนี้สอบประโยคเก้าได้เยอะ” กลายเป็นความมุ่งหมายของสำนักเรียน

บางสำนักใช้วิธีซื้อตัวพระเณรให้มาสอบประโยคเก้าในสำนักของตนเพียงเพื่อสร้างภาพว่า “สำนักนี้สอบประโยคเก้าได้เยอะ” 

พูดกันตรงๆ ก็คือ-ต้องการสร้างภาพ

เพื่อให้ภาพไปสร้างศรัทธา 

เพื่อให้ศรัทธาไปสร้างการสนับสนุนของชาวบ้านตามเป้าหมายที่ต้องการต่อไป

ความเบี่ยงเบนนี้ลามไปถึงญาติโยมด้วย คือพากันชื่นชมยินดีต่อพระเณรที่สอบได้ โดยที่ไม่ได้สืบสาวไปถึงเหตุผลที่แท้จริง

ยินดีทำไม

ยินดีที่ท่านเรียนจบประโยคเก้า

จบประโยคเก้าทำไม

…….

ตอบไม่ได้

ตอบได้ก็ไม่ใช่เหตุผลที่ถูกต้อง แต่เป็นเหตุผลที่เบี่ยงเบน

เวลานี้เป็นอย่างนี้แล้ว และกำลังเป็นอยู่

นี่เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดถึงการไม่สืบสาวไปถึงเหตุผลที่แท้จริงของการมีศรัทธา

——————

ทั้งหลายทั้งปวงที่ว่ามานี้มีเจตนาเพียงประการเดียว คือจะชวนให้คิด อันเนื่องมาจากข้อเท็จจริงที่ว่า-เรามักจะไม่ได้คิดหาเหตุผลที่ถูกต้องของกระบวนการ 

ทำไมจึงศรัทธา > 

ศรัทธาเพราะเป็นพระเณร > 

ทำไมจึงเป็นพระเณร >

เป็นพระเณรเพราะคนศรัทธา > 

แล้วเหตุผลที่ถูกต้องจริงๆ อยู่ที่ไหน

ชาวพุทธมีศรัทธาอุปถัมภ์บำรุงพระสงฆ์สามเณรด้วยเหตุผลอะไร

โปรดอย่าเข้าใจไปว่าผมกำลังตำหนิพระ กำลังเล่นงานพระ กำลังจะไล่พระออกจากวัด

ประเดี๋ยวจะมีใครย้อนเข้าให้ว่า ตอนที่เอ็งบวชน่ะเอ็งประเสริฐนักงั้นสิ

แล้วก็ไม่ใช่ว่าจะเกณฑ์พระเณรให้เป็นพระอรหันต์ให้หมด-อย่างที่บางท่านมักประชดประชัน

ผมเพียงแต่มีกรอบคิดว่า พระเณรเป็นชาวบ้านมาก่อน ไม่ได้เป็นพระเณรมาตั้งแต่เกิด

แต่เมื่อสมัครเข้ามาเป็น-จะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม-ต้องปฏิบัติตามกฎกติกาอย่างเคร่งครัด และต้องตั้งใจปฏิบัติจริงๆ

การอ้างความเป็นปุถุชนไม่เป็นเหตุให้ได้สิทธิ์ที่จะไม่ต้องปฏิบัติตามพระธรรมวินัย

ความจริงแล้ว พระธรรมวินัยเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับปุถุชนนั่นแหละโดยแท้ พระอริยะท่านไม่ต้องมีปัญหาอะไรกับพระธรรมวินัยเลย

ปุถุชนเหมือนคนป่วย

พระธรรมวินัยเหมือนยา

พระอริยะเหมือนคนที่หายป่วยแล้ว

เพราะฉะนั้น ยิ่งอ้างว่าเป็นปุถุชน ก็ยิ่งจำเป็นต้องมีพระธรรมวินัยไว้กำกับ

—————–

เชิญท่านสาธุชนสดับอุปมาก่อนจบ 

พระพุทธศาสนา เปรียบเหมือนมหาวิทยาลัยที่พระพุทธเจ้าทรงก่อตั้งขึ้นมา

มหาวิทยาลัยนี้มี ๒ วิทยาเขต คือวิทยาเขตคฤหัสถ์ กับวิทยาเขตบรรพชิต

ศรัทธาจากชาวบ้านเป็นทุนประเดิมในการก่อตั้ง และเป็นทุนการศึกษาด้วย

วิทยาเขตบรรพชิตมี ๒ คณะ คือคณะคันถธุระ กับคณะวิปัสสนาธุระ

ผู้สมัครเข้าเป็นนิสิตนักศึกษาในวิทยาเขตบรรพชิตต้องเรียนตามกรอบขอบเขตที่กำหนดไว้ คือเรียนเพื่อให้รอบรู้และปฏิบัติตามคำสอนที่ถูกต้องของพระพุทธเจ้า แล้วประกาศเผยแผ่ให้ชาวโลกรับรู้ พร้อมๆ ไปกับปฏิบัติดำเนินไปสู่ความพ้นทุกข์ตามสัตติกำลัง

ใครดูกระบวนวิชาแล้วเห็นว่าไม่พร้อมที่จะเข้าศึกษาในวิทยาเขตบรรพชิต ก็สามารถเข้าศึกษาได้ในอีกวิทยาเขตหนึ่ง คือวิทยาเขตคฤหัสถ์

ใครเลือกเข้าไปศึกษาในวิทยาเขตบรรพชิตแล้ว ถ้าต่อมาเห็นว่าจะไปไม่ไหว ก็มีสิทธิ์ลาออกหรือโอนไปศึกษาในวิทยาเขตคฤหัสถ์ได้โดยสะดวกใจ

……………

กาลเวลาผ่านมาจนถึงวันนี้ วิทยาเขตบรรพชิตของมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่ 

มีคณะวิชาต่างๆ ที่ไม่ใช่วัตถุประสงค์ของการก่อตั้งมหาวิทยาลัยเกิดขึ้นมากมาย 

คณะคันถธุระและคณะวิปัสสนาธุระซึ่งเป็นหัวใจของมหาวิทยาลัยถูกยุบลงไปเหลือเพียง “รายวิชา” ที่ไม่สำคัญอะไร นิสิตนักศึกษาจะเลือกเรียนหรือไม่เรียนก็ได้ตามความสมัครใจ

นิสิตนักศึกษาผู้รับทุน-ซึ่งแต่เดิม-เพื่อศึกษาคันถธุระและวิปัสสนาธุระ แต่ในบัดนี้สามารถใช้ทุนไปทำกิจกรรมอย่างอื่นได้โดยไม่ต้องศึกษาตามเจตนารมณ์ของเจ้าของทุน

แม้เจ้าของทุนนั่นเอง ตกมาถึงชั้นนี้ก็เลือนรางไปแล้วว่าเจตนารมณ์ที่แท้จริงของการให้ทุนนั้นคืออะไร

จากเจตนารมณ์เดิมของผู้ก่อตั้งที่ต้องการให้คณะคันถธุระและคณะวิปัสสนาธุระเป็นหัวใจของมหาวิทยาลัย และนิสิตนักศึกษาที่สมัครเรียนจะต้องเป็นผู้ต้องการเรียนวิชานี้จริงๆ 

ตกมาถึงวันนี้ คณะคันถธุระและคณะวิปัสสนาธุระ-กลายมาเป็น-ถูกยุบลงจนกระทั่งใครจะเรียนหรือไม่เรียนก็ได้

ในท่ามกลางแห่งความเป็นไปเช่นนี้ คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย นิสิตนักศึกษา และผู้ให้ทุน ในปัจจุบัน พากันชื่นชมยินดีว่า มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาของเราเจริญก้าวหน้ามาได้เป็นอย่างดียิ่ง 

และบอกกันและกันด้วยความมั่นใจและภาคภูมิใจว่า-เรามากันถูกทางแล้ว

——————

สรุปอีกทีว่า –

สำหรับชาวบ้าน ต้องหาเหตุผลที่ถูกต้องให้พบว่า ทำไมจึงศรัทธาพระเณร

สำหรับพระเณร ต้องหาเหตุผลที่ถูกต้องให้พบว่า เมื่อเป็นพระเณรทำไมเขาจึงศรัทธา และมาเป็นพระเณรให้เขาศรัทธาทำไม

ถ้าหาเหตุผลที่ถูกต้องไม่พบ เราก็จะหลงทางกันอยู่ตรงนี้

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๗ มกราคม ๒๕๖๐

๑๒:๒๑

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *