บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ปัญหาการใช้ภาษาไทย (๑)

ปัญหาการใช้ภาษาไทย (๖)

————————- 

(๕) ใช้คำผิดความหมาย 

หมายถึง คำที่มีความหมายอย่างหนึ่ง แต่เอาไปใช้ในความหมายอีกอย่างหนึ่ง หรือต้องการจะพูดถึงสิ่งนี้เรื่องนี้ แต่คำที่ใช้นั้นมีความหมายไปคนละเรื่อง โดยผู้ใช้เข้าใจว่าถูก เช่น –

๑- “ดาราหนุ่มโกนหัวเข้าวัดแล้ว เผยโยมแม่อยากให้ไปจำวัดที่ต่างจังหวัด”

ผู้เขียนคำนี้เข้าใจว่า “จำวัด” คืออยู่ประจำที่วัดใดวัดหนึ่ง 

แต่ความหมายของคำว่า “จำวัด” ก็คือ “นอนหลับ” เป็นคำที่ใช้เฉพาะแก่ภิกษุสามเณร เช่น “อย่าส่งเสียงเอะอะ หลวงพ่อกำลังจำวัด” 

หรือหมายถึง “เข้านอน” (ไม่เพ่งเล็งว่าจะหลับหรือไม่หลับ) เช่น “เมื่อคืนนี้หลวงพ่อไปเทศน์ กว่าจะกลับถึงวัดได้จำวัดเอาเกือบเที่ยงคืน”

ประโยคข้างต้น “โยมแม่อยากให้ไปจำวัดที่ต่างจังหวัด”

จึงกลายเป็นว่า “โยมแม่อยากให้ไปนอนหลับที่ต่างจังหวัด” ซึ่งไปคนละเรื่องกับที่ตั้งใจจะพูด

คำที่หมายถึง “อยู่ประจำที่วัดใดวัดหนึ่ง” สำหรับพระภิกษุสามเณร คือ “จำพรรษา” ครับ ไม่ใช่ “จำวัด”

“จำพรรษา” ในความหมายเดิม คือ อยู่ประจําที่ ๓ เดือนในฤดูฝน 

พระสงฆ์ในชมพูทวีปสมัยพุทธกาลไม่ได้อยู่ประจำที่หรืออยู่สังกัดวัดใดวัดหนึ่งเหมือนพระสงฆ์ในเมืองไทยในปัจจุบัน แต่ท่านจะจาริกไปตามที่สงบสงัดที่ท่านพอใจ หรือไปประกาศพระศาสนาตามที่ต่างๆ เมื่อถึงฤดูฝนจึงอยู่ประจำที่ ๓ เดือนตามพุทธบัญญัติ พอออกพรรษาก็จาริกต่อไป การอยู่ประจำที่ ๓ เดือนในฤดูฝน จึงเรียกว่า “จำพรรษา” 

แต่ปัจจุบัน พระสงฆ์ (โดยเฉพาะในเมืองไทย) มีที่อยู่ประจำ และต้องสังกัดวัดใดวัดหนึ่งตามกฎหมาย จึงเป็นการอยู่ประจำที่ในลักษณะเดียวกับจำพรรษาตามความหมายเดิมนั่นเอง แต่แทนที่จะอยู่เพียง ๓ เดือนในฤดูฝน ก็อยู่ประจำตลอดไป 

การอยู่ประจำ ณ วัดใดวัดหนึ่งจึงเรียกว่า “จำพรรษา” ตามความหมายที่ขยายออกไป

คำว่า “จำพรรษา” พจนานุกรมว่า “อยู่ประจําที่วัด ๓ เดือนในฤดูฝน” 

คำนิยามนี้ ว่าตามความหมายเดิม ก็แคบ เพราะที่จำพรรษาไม่จำเป็นจะต้องเป็น “ที่วัด” เสมอไป 

และว่าตามความหมายที่ขยายออกในปัจจุบัน ก็ไม่ครอบคลุม เพราะเป็นการอยู่ประจำที่วัดตลอดปีตลอดไป คืออยู่อย่างถาวร ไม่ใช่เฉพาะ “๓ เดือนในฤดูฝน”

………………

๒- “นั่งกันมานานพอสมควรแล้ว ขอเชิญออกไปผลัดเปลี่ยนอริยบทตามอัธยาศัยสัก ๑๕ นาทีนะครับ”

คำว่า “อริยบท” ในข้อความนี้เป็นคำผิดทับซ้อน

คำที่ถูกต้องในความหมายที่ต้องการพูดคือ “อิริยาบถ” (อาการที่ร่างกายอยู่ในท่าใดท่าหนึ่ง คือ ยืน เดิน นั่ง นอน)

“ผลัดเปลี่ยนอิริยาบถ” แปลว่า เปลี่ยนจากท่าหนึ่งไปเป็นอีกท่าหนึ่ง เช่นจากท่านั่งเป็นยืน หรือเดิน อย่างที่พูดว่า ยืดเส้นยืดสาย ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวเพื่อผ่อนคลายความเมื่อยขบจากการที่อยู่ในท่าใดท่าหนึ่งเป็นเวลานาน 

คำว่า “อริยบท” ในข้อความนี้จึงเป็นคำผิดทับซ้อน

ผิดซ้อนแรก คือ เขียน “-บถ” เป็น “-บท” 

พอได้ยินเสียงว่า “บด” เป็นต้องใช้ ท ทหาร สะกด ตามความถนัดมือ

“อิริยาบถ” กลายเป็น “อิริยาบท”

ผิดซ้อนที่ ๒ คือ อิริยา- เขียนเป็น อริยา- (อาจเพราะไม่คุ้นกับเสียง อิริ-)

ผิดซ้อนที่ ๓ จาก อริยา- ยังหดเสียงลงมาเป็น อริย- เข้าอีก

เบ็ดเสร็จแล้ว “อิริยาบถ” ก็กลายเป็น “อริยบท” เป็นอีกคำหนึ่งไปเลย

“อริยบท” แปลตามศัพท์ว่า “ทางของพระอริยะ” หรือ “ทางอันประเสริฐ” ซึ่งไม่ใช่ความหมายที่ต้องการจะพูด เป็นคำที่พูดผิดเขียนผิด จากคำถูกคือ “อิริยาบถ” 

แต่เมื่อผิดเป็น “อริยบท” เข้าแล้ว เกิดเป็นคำที่มีความหมายขึ้นมา แต่ความหมายนั้นก็ไม่ใช่ความหมายที่ต้องการจะพูด จึงเป็นการใช้คำผิดความหมายอีกลักษณะหนึ่ง

………………

๓- “เวรกรรมแท้ๆ ไปถวายสังฆทาน แต่สวดคำถวายไม่เป็น”

คำที่มักใช้ควบกับคำว่า “สวด” ก็คือ “มนต์” พูดรวมกันว่า “สวดมนต์” 

สวดมนต์ในพระพุทธศาสนามีกำเนิดมาจากการนำเอาข้อความที่เป็นคำสอนในพระไตรปิฎกมาท่อง หรือที่เรียกว่า “สาธยาย” (สาธยายมนต์) 

ถ้าท่องพร้อมกันหลายคน ก็จำต้องกำหนดตกลงกันว่าคำไหนจะลากเสียงสั้นยาวอย่างไร จะหยุดตรงคำไหน เป็นต้น เพื่อให้เกิดความพร้อมเพรียงกัน เรียกว่า “ทำนอง” 

เมื่อคุ้นกับทำนองแล้ว แม้จะท่องคนเดียวก็ยังนิยมท่องตามทำนอง และเรียกรู้ทั่วกันว่า “สวดมนต์”

ข้อความที่นำมาสวดนั้นเดิมเป็นหลักคำสอนที่มีอยู่ในพระไตรปิฎก ซึ่งเป็นภาษาบาลี นำมาท่อง (สวด) เพื่อให้จำได้อย่างหนึ่ง เพื่อทบทวนไม่ให้ลืมอย่างหนึ่ง และถ้าสวดให้คนอื่นฟังก็เพื่อบอกให้รู้จักและให้เข้าใจคำสอนนั้นอีกอย่างหนึ่ง

จึงเป็นที่เข้าใจซึมซับว่า ถ้าเอาคำบาลีขึ้นมาท่องละก็ เป็นต้องเรียกว่า “สวด-”

แต่คำภาษาบาลีในบางกรณีนั้นก็เป็นคำพูดธรรมดา เป็นอย่างคำสนทนากันตามปกตินี่เอง ไม่ใช่หลักคำสอนที่จะต้องเอามาท่อง (สวด) เพื่อให้จำได้ เวลายกเอามาพูด ก็พูดตามปกติ ไม่ต้องว่าเป็นทำนองเหมือนสวดมนต์

คำจำพวกที่ว่านี้ก็เช่น คำสมาทานศีล คำถวายทานต่างๆ เป็นต้น 

เมื่อพูดคำพวกนี้ จึงไม่เรียกว่า “สวด” 

เรียกเพียง “ว่า” หรือ “กล่าว” เช่น “ว่าคำสมาทานศีลตามพระ” “กล่าวคำถวายสังฆทาน” 

ไม่ใช่ “สวดศีล” หรือ “สวดคำถวายสังฆทาน”

คนรุ่นใหม่ ที่มักไม่คุ้นหรือไม่ค่อยรู้เรื่องประเพณีพิธีกรรม เข้าใจแต่เพียงว่า ถ้าเอาคำบาลีขึ้นมาพูดละก็ เป็นต้องเรียกว่า “สวด-” ทั้งนั้น จึงเป็นที่มาของคำว่า “สวดศีล”  “สวดคำถวายสังฆทาน” ที่เป็นการใช้คำผิดความหมาย

………………

๔- “ไปวัดระฆัง พระท่านให้คาถาชินบัญชรมา เขียนเป็นภาษาขอมทั้งนั้นเลย” 

ข้อความนี้ใช้คำว่า “ภาษา” ผิดความหมาย คือใช้คำว่า “ภาษา” ในที่ที่จะต้องใช้คำว่า “อักษร”

พระคาถาชินบัญชรนั้นต้นฉบับเป็น “ภาษาบาลี” 

สมัยก่อนโน้นในเมืองไทยเรานี้ คำบาลีเรานิยมเขียนเป็น “อักษรขอม” 

ขอมก็คือเขมรโบราณ อักษรขอมหน้าตาก็คล้ายอักษรเขมร หรือกัมพูชาปัจจุบันนี้แหละ

พระคาถาชินบัญชรแต่เดิมก็เขียนเป็นอักษรขอมตามค่านิยมสมัยโน้น แต่ภาษาก็ยังคงเป็น “ภาษาบาลี” อยู่นั่นเอง

“ภาษา” กับ “อักษร” จึงมีความหมายต่างกัน

“ภาษาบาลี” กับ “ภาษาขอม” เป็นคนละภาษากันครับ

พระคาถาชินบัญชรนั้น เท่าที่ทราบ ยังไม่เคยมีใครแปลเป็น “ภาษาขอม”

พระคาถาชินบัญชรที่ได้ไปจากวัดระฆังตามที่ว่านี้ เมื่อเอามาตรวจดู ก็ปรากฏว่าเป็น “อักษรขอม” แต่ภาษาก็ยังคงเป็น “ภาษาบาลี” อยู่นั่นเอง ไม่ใช่ “ภาษาขอม” ครับ

………………

๕- ถาม – ชื่อของผม ทองย้อย เขียนเป็นภาษาอังกฤษว่ายังไงครับ

ตอบ – Thongyoi 

ผู้ถาม ใช้คำว่า “ทองย้อย เขียนเป็นภาษาอังกฤษ” 

ผู้ตอบ ตอบว่า Thongyoi 

เจตนาของผู้ถามก็คือต้องการคำตอบแบบที่ตอบนี่แหละ

แต่ปัญหาก็คือ Thongyoi นี้เป็นการเขียนคำว่า “ทองย้อย” เป็นภาษาอังกฤษ ตามคำถาม ใช่หรือไม่?

ตอบว่า ไม่ใช่ 

ทำไม?

เพราะ Thongyoi อ่านว่า ทองย้อย ก็ยังคงเป็นภาษาไทยอยู่นั่นเอง ไม่ใช่ภาษาอังกฤษ เพียงแต่เขียนเป็นตัวอักษรที่ใช้เขียนภาษาอังกฤษเท่านั้นเอง

“ทองย้อย” เขียนเป็นภาษาอังกฤษ ก็น่าจะเป็น Drop-gold – ประมาณนี้

Drop-gold คือ “ทองย้อย” เขียนเป็นภาษาอังกฤษ

แต่ Thongyoi คือ “ทองย้อย” ที่เป็นภาษาไทย เขียนเป็นอักษรโรมัน

ตัวอักษรที่ใช้เขียนภาษาของชาติต่างๆ ในยุโรป เช่นอังกฤษ ฝรั่งเศส เป็นต้นนั้น เขาเรียกว่า อักษรโรมัน

การเขียนคำในภาษาไทยเป็นตัวอักษรที่ใช้เขียนภาษาอังกฤษเป็นต้นนั้น มีคำเรียกว่า “ถอดเป็นอักษรโรมัน” (แบบถ่ายเสียง) ครับ

แต่เพราะเราคุ้นกับภาษาอังกฤษมาก ก็เลยเรียกกันเพลินไปว่า “ภาษาอังกฤษ” ซึ่งผิดถึง ๒ ชั้น คือ –

– สิ่งที่เราพูดถึงคือ “ตัวอักษร” ไม่ใช่ “ภาษา”

– และตัวอักษรนั้นก็เป็น “ตัวอักษรโรมัน” ไม่ใช่ “ตัวอักษรอังกฤษ”

แต่ก็แปลก ส่วนมากพอจะพูดถึงการเขียนคำภาษาไทยเป็นตัวอักษรโรมัน (ตัวอักษรที่ใช้เขียนภาษาอังกฤษ) เป็นต้องพูดว่า “เขียนเป็นภาษาอังกฤษ” บางทีก็พูดผิดเต็มๆ ไปเลยด้วยซ้ำว่า “แปลเป็นภาษาอังกฤษ”

การเขียนคำภาษาไทยเป็นตัวอักษรโรมัน (ตัวอักษรที่ใช้เขียนภาษาอังกฤษเป็นต้น) นั้น จึง-

ไม่ใช่ทั้ง “เขียนเป็นภาษาอังกฤษ” 

ไม่ใช่ทั้ง “เขียนเป็นอักษรอังกฤษ” 

ยิ่ง “แปลเป็นภาษาอังกฤษ” ยิ่งผิดไปใหญ่

ต้องเรียกว่า “ถอดเป็นอักษรโรมันแบบถ่ายเสียง” จึงจะถูกต้องครับ

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๔ ตุลาคม ๒๕๖๔

๑๕:๐๐

………………………………

ปัญหาการใช้ภาษาไทย (๗)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

………………………………

ปัญหาการใช้ภาษาไทย (๕)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

………………………………

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *