มายา – ยามา (บาลีวันละคำ 278)
มายา – ยามา
บาลี 2 คำนี้ สลับเสียงสลับคำเหมือนจะล้อกัน แต่เป็นคนละคำกัน และมีความหมายคนละอย่าง
“มายา” เป็นคำบาลีที่เราค่อนข้างคุ้น มีความหมายว่า รูปลวง, การลวง, การล่อลวง, การหลอกลวง, การโกง, เล่ห์กระเท่ห์, เล่ห์กล, การแสร้งทํา, การตบตา, การหน้าไหว้หลังหลอก, สูตรลึกลับ, กลวิเศษ, การเล่นกล
“มายา” มีรูปคำ เสียง และความหมายอย่างเดียวกับ magic ในภาษาอังกฤษ
“ยามา” เป็นชื่อสวรรค์ชั้นที่ 3 ในภูมิสวรรค์ 6 ชั้น คือ จาตุมหาราชิกา ดาวดึงส์ ยามา ดุสิต นิมมานรดี ปรนิมมิตวสวัตดี
สวรรค์ชั้นยามามีท้าวสุยามเทพบุตรเป็นผู้ปกครอง
ชื่อ “ยามา” มีความหมายว่า “เทพผู้ไปจากทุกข์” “เทพผู้ถึงสุขทิพย์”
ปกติศัพท์นี้เป็น “ยาม” (ยา-มะ) แต่เมื่อเป็นชื่อสวรรค์ ใช้เป็นพหูพจน์ จึงเป็น “ยามา”
ผู้ที่ไม่คุ้นกับชื่อ “ยามา” มักเข้าใจผิดว่าสวรรค์ชั้นนี้ชื่อ “มายา” ซ้ำยังอธิบายว่า เป็นสวรรค์ชั้นที่มีความสวยงามชวนพิศวงหลงใหลราวกับมนตร์เสน่ห์มายา
: ถ้าเฉลียว ความเท็จก็หมดโอกาส
: ถ้าฉลาด ก็มีโอกาสรู้ความจริง
(ถือวิสาสะหยิบ มายา-ยามา สองคำนี้มาจาก-ขอบพระคุณ)
บาลีวันละคำ (278)
11-2-56
มายา (บาลี-อังกฤษ)
รูปลวง, การล่อลวง, การหลอกลวง, การโกง, การหน้าไหว้หลังหลอก
สูตรลึกลับ, กลวิเศษ, มายา, เล่ห์กระเท่ห์
การตบตา, การเล่นกล jugglery, conjuring
มายา กลลวง (ศัพท์วิเคราะห์)
– มเยน อสุเรน สุเร วญฺจิตต ปยุตฺตตฺตา มยสฺสายนฺติ มายา กลลวงของอสูรที่อสูรใช้เพื่อลวงเทวดา
มย บทหน้า ณ ปัจจัย อา.อิต. พฤทธิ์ อ เป็น อา
– เมติ ปริเมติ อญฺเญน อุตฺตเมน คุเณน อตฺตโน คุณนฺติ มายา อาการที่เทียบความดีของตนกับความดีเยี่ยมอื่น
มา ธาตุ ในความหมายว่ากะ, ประมาณ ย ปัจจัย
มายา อิต.(พจนานุกรมศัพท์บาลี)
ความหลอกหลวง, กล, มารยา, เล่ห์เหลี่ยม, ความเปรื่องปราด, ความปรานี.
มายา
น. มารยา, การลวง, การแสร้งทํา, เล่ห์กล. (ป., ส.).
มายากร
น. คนเล่นกล, คนแสดงกล.
มายากล
น. การเล่นกล, การแสดงกล.
มายาการ
น. ความเชื่อถือและการปฏิบัติที่มุ่งให้เกิดผลด้วยการใช้พลังหรืออํานาจเหนือธรรมชาติ เช่นของขลัง พิธีกรรม หรือหลักลี้ลับ บังคับให้เป็นไปตามที่ตนต้องการ.
มายาประสาน
ดู กําแพงขาว.
มายาวี
น. ผู้มีมารยา, ผู้มีเล่ห์เหลี่ยมทําให้ลุ่มหลง, เจ้าเล่ห์. (ป., ส.).
ยาม เวลา, คราว
ยาติ คจฺฉตีติ ยาโม กาลที่ดำเนินไปตามปกติ
ยา ธาตุ ในความหมายว่าไป, เป็นไป ม ปัจจัย
อุปยเมติ อโห รตฺติ จาเนนาติ ยาโม กาลเป็นเครื่องกำหนดวันและคืน
ยมุ ธาตุ ในความหมายว่ากำหนด ณ ปัจจัย
ยามา สวรรค์ชั้นยามา, เทพชั้นยามา (ศัพท์วิเคราะห์)
ทุกฺขโต ยาตา อปคตาติ ยามา เทพผู้ไปจากทุกข์
ยา ธาตุ ในความหมายว่าไป ม ปัจจัย
ทิพฺพํ สุขํ ยาตา ปยาตา สมฺปตฺตาติ ยามา เทพผู้ถึงสุขทิพย์
ยา ธาตุ ในความหมายว่าถึง, บรรลุ ม ปัจจัย
ยาม (บาลี-อังกฤษ)
1 การสำรวม (เฉพาะเมื่อมาร่วมกับ จาตุ-ยาม การสำรวม ๔ อย่าง)
2 ยาม (ช่วงเวลาของวัน กลางคืนมี ๓ คือ ปฐมยาม มัชฌิมยาม ปัจฉิมยาม)
3 เทวดาพวกพญายม, ผู้เป็นพญายมหรือผู้ปกครองยมโลก, คนในบังคับของพระยม, อาณาจักรพระยม, ผู้อยู่ในยมโลก
ยม (ประมวลศัพท์)
พญายม, เทพผู้เป็นใหญ่แห่งโลกของคนตาย และเป็นเจ้านรก, ยมราช ก็เรียก
ยม ป.(พจนานุกรมศัพท์บาลี)
พญายม, เทพเจ้าผู้เป็นใหญ่ของคนตาย; ความสำรวม.
ยามา (ประมวลศัพท์)
สวรรค์ชั้นที่ ๓ มีท้าวสุยามเทพบุตรปกครอง
สวรรค์
แดนอันแสนดีเลิศล้ำด้วยกามคุณ ๕, โลกของเทวดา ตามปกติหมายถึงกามาพจรสวรรค์ (สวรรค์ที่ยังเกี่ยวข้องกับกาม) ๖ ชั้น คือ จาตุมหาราชิกา ดาวดึงส์ ยามา ดุสิต นิมมานรดี ปรนิมมิตวสวัตดี
ยามา
น. ชื่อสวรรค์ชั้นที่ ๓ แห่งสวรรค์ ๖ ชั้น ได้แก่ จาตุมหาราชหรือจาตุมหาราชิกหรือจาตุมหาราชิกา ดาวดึงส์ ยามา ดุสิต นิมมานรดี และปรนิมมิตวสวัตดี, มีท้าวสุยามเป็นผู้ครอง.