บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ปัญหาการใช้ภาษาไทย (๑)

ปัญหาการใช้ภาษาไทย (๙)

————————- 

(๘) แบ่งวรรคตอนผิดพลาด 

ภาษาไทยไม่มีกฎบังคับว่าจะต้องเขียนแยกคำเป็นคำๆ เหมือนภาษาบาลีหรือภาษาอังกฤษ แต่ก็ไม่ได้บังคับว่าจะต้องเขียนติดกันเป็นพืดจนไม่มีช่องว่าง เพียงมีหลักกว้างๆ ว่า

– เขียนหนังสือควรให้มีวรรคตอน 

– จบคำหรือจบข้อความตอนหนึ่งควรเว้นวรรค 

แต่เมื่อไรจึงจะเว้นวรรค เมื่อไรจึงจะติดกัน เป็นเรื่องที่จะต้องศึกษา สำเหนียก สังเกตด้วยประสบการณ์

วรรคตอนมีความสำคัญอย่างไร ครูบาอาจารย์รุ่นเก่าๆ ท่านย้ำอยู่เสมอ ตัวอย่างที่ผมได้ยินมาก็คือเรื่องการเขียนชื่อเครื่องยาสมุนไพร

ท่านเล่าว่า แพทย์แผนไทยคนหนึ่งจดชื่อเครื่องยาให้ลูกมือไปซื้อที่ร้านขายเครื่องยาในตลาด 

ลูกมือหมอไปถึงร้านก็ยื่นกระดาษจดชื่อยาให้ 

คนจีนเจ้าของร้านอ่านหนังสือไทยไม่ออก จึงบอกว่า ลื้อต้องอ่านให้ฟังว่าจะเอาอะไรมั่ง

ลายมือหมอที่จดเครื่องยาเขียนว่า 

“ประคำดีควายรากขี้กาแดง”

ลูกมือหมอก็ไม่คอยฉลาดนัก อ่านว่า “ประคำดี”

เจ้าของร้านบอกว่า ไม่มี

ลูกมือหมออ่านต่อไปว่า “ควายรากขี้”

เจ้าของร้านบอกว่า ไม่มี

ลูกมือหมออ่านต่อไปว่า “กาแดง”

เจ้าของร้านบอกว่า ไม่มี

เป็นอันว่าเครื่องยา ๓ อย่าง ตามที่อ่านนี้ไม่มีที่ร้านนี้

พอดีมีคนที่อ่านหนังสือเป็นแวะเข้ามาในร้าน 

เขาขอกระดาษที่หมอจดเครื่องยาไปดู แล้วอ่านว่า “ประคำดีควาย”

เจ้าของร้านบอกว่า มี

“รากขี้กาแดง”

เจ้าของร้านบอกว่า มี

ได้ความว่าเครื่องยาที่หมอจดไปนั้นมี ๒ อย่างเท่านั้น แต่เพราะคนเขียนไม่ได้เว้นวรรค และคนอ่านก็อ่านไม่เป็น จึงเกิดเข้าใจผิดกันขึ้น จนเกือบจะเสียการ

เรื่องก็จบลงแค่นี้

มีคำที่ฟังแล้วอาจเข้าใจว่าพูดกันเล่นๆ เพื่อความครึกครื้น แต่ความจริงแล้วเป็นตัวอย่างที่แสดงถึงความสำคัญของวรรคตอนได้เป็นอย่างดี นั่นคือ –

“ยาขนานนี้กินแล้วแข็งแรงไม่มีโรคภัยเบียดเบียน”

ถ้าเขียนหรืออ่านแบ่งวรรคตอนผิด ความหมายก็จะพลาดตามไปด้วย

………………

ต่อไปนี้คือข้อความที่เขียนแบ่งวรรคตามใจชอบของคนสมัยนี้ นี่คือความจริงที่น่าตกใจว่า เดี๋ยวนี้เขาไม่ได้เห็นความสำคัญของวรรคตอนกันอีกแล้ว นึกอยากจะเว้นวรรคตรงไหน ก็เว้น อยากจะติดกันตรงไหน ก็ติด ชนิดที่ไม่รับรู้ถ้อยคำถ้อยความอะไรทั้งสิ้น

……………………………………

ความโง่เขลาเป็น  เหตุให้คนเราทำสิ่งที่  ก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรง  ได้อย่างคาดไม่  ถึงดังนั้นการส่งเสริมให้คนในชาติได้รับ  การศึกษาอย่างทั่วถึง  จึงควรเป็น  นโยบายเร่ง  ด่วนของรัฐบาล

……………………………………

การแบ่งวรรคตอนแบบที่ยกมาให้ดูนี้ จะพบเห็นได้ทั่วไปในข้อความ บทความ หรือเรียงความที่คนรุ่นใหม่เขียน ไม่ว่าจะเป็นบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือบนหน้ากระดาษธรรมดา 

การแบ่งวรรคตอนแบบนี้ ถ้าใครไม่รู้หรือไม่เห็นว่าเป็นความบกพร่อง หรือคิดว่าไม่เห็นจะเสียหายตรงไหน (สื่อสารกันรู้เรื่องก็ใช้ได้แล้ว จะมาเคร่งอะไรกันนักหนา) – ก็แปลว่า วิชาหนังสือของเราเสื่อมทรามถึงที่สุดแล้วแหละครับ 

แต่ก็แปลกอีก เพราะเดี๋ยวนี้เกิดเคร่งกันเรื่องหนึ่ง คือเรื่องการจัดคำให้ลงบรรทัด จะว่าเป็นความนิยม หรือไปได้หลักการใหม่อะไรมาก็ได้ คือว่า คำบางคำจะต้องให้อยู่ในบรรทัดเดียวกัน จะแยกบรรทัดไม่ได้ 

ยกตัวอย่างคำว่า “กระทรวงวัฒนธรรม”

เวลาเขียนหรือพิมพ์ ถ้า “กระทรวง” อยู่บรรทัดหนึ่ง “วัฒนธรรม” ไปอยู่อีกบรรทัดหนึ่ง อย่างนี้ยอมไม่ได้ ถือว่าไม่ถูก ไม่สวย ใช้ไม่ได้ ต้องหาทางจัดให้มาอยู่ในบรรทัดเดียวกันให้จงได้

ปัญหาคำคำเดียวกันแต่อยู่คนละบรรทัดนั้น ผู้รู้ท่านก็มองเห็นมาแล้ว จึงวางหลักไว้ว่า ให้แก้ด้วยการใช้เครื่องหมายยัติภังค์ 

……………………………………

ยติภังค์

 น. โทษของฉันท์อย่างหนึ่ง คือ คําไม่หมดตรงที่กําหนดไว้ตามข้อบังคับ แต่เลยไปวรรคหลัง เช่น ปางเมื่อพระองค์ปรมพุท- ธวิสุทธศาสดา; เครื่องหมายขีดสั้น – ใช้เป็นเครื่องหมายให้รู้ว่าพยางค์หน้ากับพยางค์หลังนั้นติดกันหรือเป็นคําเดียวกัน ตัวที่เขียนแยกนั้นจะอยู่ในบรรทัดเดียวกันหรือคนละบรรทัดก็ได้, เขียนเป็น ยัติภังค์ ก็มี.

……………………………………

ทำไมเกิดจะรังเกียจหลักวิชาของคนเก่าขึ้นมาเสียเล่า ทำไมไม่เอามาใช้

ก็เลยเป็นอย่างสำนวนที่ว่า “ถี่ลอดตาช้าง ห่างลอดตาเล็น” (ดูเหมือนรอบคอบถี่ถ้วน แต่ไม่รอบคอบถี่ถ้วนจริง) คือถี่ถ้วนในเรื่องหนึ่ง ซึ่งไม่น่าจะจำเป็นเลย แต่กลับหละหลวมละเลยในอีกเรื่องหนึ่งซึ่งน่าจะสำคัญกว่า

………………

ปัญหาการแบ่งวรรคตอนผิดพลาดอีกเรื่องหนึ่งที่ปรากฏในสมัยนี้ คือการเขียนนามพระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์

พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ ก็คือพระภิกษุที่ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร หรือพระราชาคณะ ซึ่งจะมีราชทินนาม คือชื่อที่ได้รับพระราชทานตามสมณศักดิ์นั้นๆ เช่น 

พระมหาศักดา ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร มีราชทินนามว่า “พระครูอุดมธรรมวาที” 

พระมหาช้อย ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ มีราชทินนามว่า “พระศรีธีรพงศ์”

คำว่า “พระครูอุดมธรรมวาที” หรือ “พระศรีธีรพงศ์” นี่คือนามสมณศักดิ์ 

นามสมณศักดิ์แต่ละนาม ต้องเขียนติดกันเป็นคำเดียว

แต่เวลานี้ เกิดมีการเขียนแบ่งวรรค เป็น –

พระครูอุดม  ธรรมวาที

พระศรี  ธีรพงศ์

โดยคนเขียนเข้าใจว่า คำแรกเป็นชื่อ คำหลังเป็นนามสกุล

นามสมณศักดิ์อื่นๆ ก็มักถูกเขียนในทำนองเดียวกันนี้ เช่น

พระครูสิริคณาภรณ์ เขียนเป็น พระครูสิริ  คณาภรณ์

พระราชปัญญากวี เขียนเป็น พระราช  ปัญญากวี

พระเทพญาณมุนี เขียนเป็น พระเทพ  ญาณมุนี

นายปรีดี พนมยงค์ เคยมีบรรดาศักดิ์เป็น หลวงประดิษฐ์มนูธรรม

มีผู้เขียนนามบรรดาศักดิ์ของท่านว่า –

หลวงประดิษฐ์  มนูธรรม 

โดยเข้าใจว่า คุณหลวงคนนี้ชื่อประดิษฐ์ นามสกุล มนูธรรม

จะมองว่าเป็นเรื่องน่าขบขัน ก็ขันไม่ออก เป็นเรื่องน่าตกใจมากกว่า

น่าตกใจว่า คนสมัยนี้ที่ว่าวิทยาการเจริญก้าวหน้า ฉลาด กลับขาดความรู้ความเข้าใจในภาษาอันสืบเนื่องมาจากวัฒนธรรมประเพณีวิถีชีวิตของตัวเองได้ถึงเพียงนี้เชียวหรือ

……………………………………

หลักเกณฑ์การเว้นวรรค

http://legacy.orst.go.th/?page_id=629

……………………………………

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๗ ตุลาคม ๒๕๖๔

๑๑:๔๕

………………………………

ปัญหาการใช้ภาษาไทย (๑๐) – สรุป

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

………………………………

ปัญหาการใช้ภาษาไทย (๘)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

………………………………

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *