บาลีวันละคำ

ราชสันตติวงศ์ (บาลีวันละคำ 4,480)

ราชสันตติวงศ์

ก็ยังคงมีคนใช้ผิดไม่ยอมเลิก

คนไทยวันนี้ยังคงใช้ราชาศัพท์ผิด ๆ แบบไม่ยอมรับรู้อะไรทั้งสิ้น เช่น ทรงเสด็จ ทรงตรัส ทรงประทับ 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ที่คำว่า “ทรง” บอกความหมายไว้หลายอย่าง เฉพาะความหมายที่ (๑๑) บอกไว้ว่า – 

…………..

ทรง :

(๑๑) (คำกริยา) ใช้นำหน้าคำนามราชาศัพท์ให้เป็นกริยาราชาศัพท์ เช่น ทรงพระสรวล ทรงพระเมตตา ทรงพระประชวร, ในลักษณะนี้จะหมายความว่า มี ก็ได้ เช่น ทรงพระปรีชาสามารถ ทรงพระคุณ ทรงพระนาม, 

เมื่อกริยาเป็นราชาศัพท์อยู่แล้วไม่ใช้คำว่า ทรง นำหน้าซ้อนลงไปอีก เช่น ไม่ใช้ว่า ทรงตรัส ทรงประทับ ทรงพระราชทาน ให้ใช้ว่า ตรัส ประทับ พระราชทาน.

…………..

นอกจาก ทรงเสด็จ ทรงตรัส ทรงประทับ ซึ่งเป็นการใช้คำราชาศัพท์ซ้ำซ้อนผิดแบบแผนแล้ว คำวา “ราชสันตติวงศ์” ก็เป็นอีกคำหนึ่งที่คนไทยวันนี้ยังคงใช้ผิด ๆ โดยไม่ยอมรับรู้ คือใช้เป็น “ราชสันติวงศ์

ราชสันตติวงศ์” ไม่ใช่ “ราชสันติวงศ์

สันตติวงศ์” ไม่ใช่ “สันติวงศ์” 

คำหลักคือ “-สันตติ-”

ราชสันตติวงศ์” อ่านว่า ราด-ชะ-สัน-ตะ-ติ-วง แยกศัพท์เป็น ราช + สันตติ (ไม่ใช่ สันติ) + วงศ์ 

(๑) “ราช” 

บาลีอ่านว่า รา-ชะ รากศัพท์มาจาก –

(1) ราชฺ (ธาตุ = รุ่งเรือง) + (อะ) ปัจจัย

: ราชฺ + = ราช แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รุ่งเรืองโดยยิ่งเพราะมีเดชานุภาพมาก” หมายความว่า ผู้เป็นพระราชาย่อมมีเดชานุภาพมากกว่าคนทั้งหลาย

(2) รญฺชฺ (ธาตุ = ยินดี พอใจ) + ปัจจัย, ลบ ลบ ญฺ แผลง เป็น รา 

: รญฺชฺ + = รญฺชณ > รญฺช > รช > ราช แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ยังคนทั้งหลายให้ยินดี” หมายความว่า เป็นผู้อำนวยความสุขให้ทวยราษฎร์ จนคนทั้งหลายร้องออกมาว่า “ราชา ราชา” (พอใจ พอใจ

ท่านพุทธทาสภิกขุให้คำจำกัดความ “ราช” หรือ “ราชา” ว่าคือ “ผู้ที่ทำให้ประชาชนร้องออกมาว่า พอใจ พอใจ

ราช” หมายถึง พระราชา, พระเจ้าแผ่นดิน ใช้นำหน้าคำให้มีความหมายว่า เป็นของพระเจ้าแผ่นดิน, เกี่ยวกับพระเจ้าแผ่นดิน หรือเป็นของหลวง

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ราช ๑, ราช– : (คำนาม) พระเจ้าแผ่นดิน, พญา (ใช้แก่สัตว์) เช่น นาคราช คือ พญานาค สีหราช คือ พญาราชสีห์, คํานี้มักใช้ประกอบกับคําอื่น, ถ้าคําเดียวมักใช้ว่า ราชา.”

(๒) “สันตติ” (ไม่ใช่ สันติ)

เขียนแบบบาลีเป็น “สนฺตติ” อ่านว่า สัน-ตะ-ติ รากศัพท์มาจาก –

(1) สํ (คำอุปสรรค = พร้อม, กับ, ดี) + ตา (ธาตุ = สืบต่อ) + ติ ปัจจัย,แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น (สํ > สนฺ), ลบสระหน้า คือ อา ที่ ตา (ตา > )

: สํ > สนฺ + ตา = สนฺตา + ติ = สนฺตาติ > สนฺตติ แปลตามศัพท์ว่า “เชื้อสายที่สืบต่อด้วยดี

(2) สํ (คำอุปสรรค = พร้อม, กับ, ดี) + ตนฺ (ธาตุ = แผ่, ขยาย) + ติ ปัจจัย,แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น (สํ > สนฺ), ลบที่สุดธาตุ (ตนฺ > )

: สํ > สนฺ + ตนฺ = สนฺตนฺ + ติ = สนฺตนฺติ > สนฺตติ แปลตามศัพท์ว่า “เชื้อสายที่ขยายออกไปโดยชอบ

สนฺตติ” (อิตถีลิงค์) หมายถึง – 

(1) ความสืบต่อ, การต่อเนื่อง, ระยะยาว, การยังมีชีวิตอยู่ (continuity, duration, subsistence)

(2) เชื้อสาย (lineage)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“สันตติ : (คำนาม) ความสืบต่อ เช่น สืบสันตติวงศ์. (ป.; ส. สํตติ ว่า ลูกหลาน).”

พจนานุกรมฯ บอกว่า “สันตติ” สันสกฤตเป็น “สํตติ” 

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน ไม่มีคำที่สะกด “สํตติ” แต่มีคำที่สะกด “สนฺตติ” เหมือนบาลี บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

สนฺตติ : (คำนาม) ‘สันตติ,’ ชาติ, วงศ์; บุตร์, สุดา; กุล; race, lineage; progeny, a son; a daughter; descent.”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต อธิบายไว้ดังนี้ –

สันตติ : การสืบต่อ คือ การเกิดดับต่อเนื่องกันไปโดยอาการที่เป็นปัจจัยส่งผลแก่กัน ในทางรูปธรรม ที่พอมองเห็นอย่างหยาบ เช่น ขนเก่าหลุดร่วงไปขนใหม่เกิดขึ้นแทน ความสืบต่อแห่งรูปธรรม จัดเป็นอุปาทายรูปอย่างหนึ่ง; ในทางนามธรรม จิตก็มีสันตติ คือเกิดดับเป็นปัจจัยสืบเนื่องต่อกันไป.”

(๓) “วงศ์” 

บาลีเป็น “วํส” (วัง-สะ) รากศัพท์มาจาก –

(1) วนฺ (ธาตุ = คบหา) + ปัจจัย, แปลง นฺ (ที่ (ว)-นฺ เป็นนิคหิต (วนฺ > วํ)

: วนฺ + = วนส > วํส แปลตามศัพท์ว่า “เชื้อสายที่แผ่ออกไป” (คือเมื่อ “คบหา” กันต่อๆ ไป คนที่รู้จักกันก็ขยายตัวเพิ่มขึ้น)

(2) วสฺ (ธาตุ = อยู่) + ปัจจัย, ลงนิคหิตอาคมที่ต้นธาตุ (วสฺ > วํส)

: วสฺ + = วส > วํส แปลตามศัพท์ว่า “อยู่รวมกัน

วํส” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ไม้ไผ่ (a bamboo)

(2) เชื้อชาติ, เชื้อสาย, วงศ์ตระกูล (race, lineage, family)

(3) ประเพณี, ขนบธรรมเนียมที่สืบต่อกันมา, ทางปฏิบัติที่เป็นมา, ชื่อเสียง (tradition, hereditary custom, usage, reputation) 

(4) ราชวงศ์ (dynasty)

(5) ขลุ่ยไม้ไผ่, ขลุ่ยผิว (a bamboo flute, fife)

(6) กีฬาชนิดหนึ่งซึ่งอุปกรณ์การเล่นทำด้วยไม้ไผ่ (a certain game)

ในที่นี้ “วํส” มีความหมายตามข้อ (2) และ (4)

บาลี “วํส” สันสกฤตเป็น “วํศ” ภาษาไทยใช้อิงสันสกฤตเป็น “วงศ” เขียนเป็น “วงศ์” และแผลงเป็น “พงศ์” ด้วย

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

วงศ-, วงศ์ : (คำนาม) เชื้อสาย, เหล่ากอ, ตระกูล. (ส. วํศ; ป. วํส).”

การประสมคำ :

สันตติ + วงศ์ = สันตติวงศ์ แปลว่า “วงศ์ที่สืบต่อ

ราช + สันตติวงศ์  = ราชสันตติวงศ์ (ราด-ชะ-สัน-ตะ-ติ-วง) แปลว่า “วงศ์ที่สืบต่อของพระราชา” หรือ “วงศ์ของพระราชาที่สืบต่อกันมา

ขยายความ :

คำหลักในที่นี้คือ “สันตติ” (ไม่ใช่ สันติ)

ความหมายในทางธรรม “สันตติ” คือการเกิดดับต่อเนื่องกันไปโดยอาการที่เป็นปัจจัยส่งผลแก่กัน เช่น ร่างกายตอนเป็นเด็กดับไปแล้ว แต่ส่งผลสืบเนื่องเป็นร่างกายผู้ใหญ่ในปัจจุบัน 

ร่างกายผู้ใหญ่ในปัจจุบันไม่ใช่ร่างกายตอนเป็นเด็ก 

แต่ร่างกายผู้ใหญ่สืบสันตติมาจากร่างกายตอนเป็นเด็ก 

ความเกิด-ดับเช่นนี้ภาษาธรรมเรียกว่า “อนิจจัง” คือไม่เที่ยงแท้แน่นอน แต่เพราะ “สันตติ” คือความเกิดดับต่อเนื่องกันไป เราจึงเห็นไปว่า ร่างกายตอนเป็นเด็กกับร่างกายตอนเป็นผู้ใหญ่เป็นร่างกายเดียวกัน

กล่าวเป็นหลักว่า “สันตติปิดบังอนิจจัง” หมายความว่า เพราะมีการสืบต่อจึงหลงผิดว่าเที่ยง ไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงคือเกิด-ดับ

ความหมายในทางสังคม “สันตติ” คือการสืบทอดตำแหน่งโดยผู้ที่เป็นเชื้อสาย คือจากพ่อสู่ลูก สู่หลาน ที่พูดกันว่า “สืบสันตติวงศ์

คำว่า “สืบสันตติวงศ์” (สัน-ตะ-ติ-วง) นี้มักมีผู้พูดและเขียนผิดเป็น “สืบสันติวงศ์” (สัน-ติ-วง) 

แม้จะเห็นคำว่า “สันตติวงศ์” และได้ยินคำอ่านว่า สัน-ตะ-ติ-วง แต่พอให้เขียนเองหรือพูดเองก็ยังคงเขียนเป็น “สันติวงศ์” และอ่านเป็น สัน-ติ-วง อยู่นั่นเอง เพราะคุ้นแต่คำว่า “สันติ” แต่ไม่รู้จักคำว่า “สันตติ

สันติ” (คนละคำกับ สันตติ) บาลีเขียน “สนฺติ” อ่านว่า สัน-ติ รากศัพท์มาจาก สมฺ (ธาตุ = สงบ) + ติ ปัจจัย, แปลง มฺ ที่สุดธาตุเป็น นฺ

: สมฺ + ติ = สมฺติ > สนฺติ แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่กิเลสสงบ” หมายถึง ความราบรื่น, ความสงบ (tranquillity, peace)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สันติ : (คำนาม) ความสงบ เช่น อยู่ร่วมกันโดยสันติ. (ป.; ส. ศานฺติ).”

สันตติ” = สืบทอด, เชื้อสาย (continuity, duration)

สันติ” = ความสงบ, ความราบรื่น (tranquillity, peace)

สันตติ” กับ “สันติ” เป็นคนละคำ คนละความหมาย และใช้แทนกันไม่ได้ 

สันตติวงศ์” มีใช้ 

แต่ “สันติวงศ์” ไม่มีใช้

แม้จะลากถูลู่ถูกังไปว่า “สืบสันติวงศ์” คือ “สืบทอดตำแหน่งโดยสงบราบรื่น” ก็เป็นการเอาคำ 2 คำมาแปลความให้พัลวันกันไป ทำให้เกิดความสับสนและเข้าใจผิดหนักขึ้นไปอีก ซึ่งผู้ที่เข้าใจความหมายที่ถูกต้องแท้จริงย่อมไม่ทำเช่นนั้น 

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถ้าไทยบอกไทยไม่มีใครฟัง

: วันหนึ่งฝรั่งจะมาสอนไทย

#บาลีวันละคำ (4,480)

17-9-67

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *