บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

อวยพรวันเกิดให้เพื่อนของคุณ

อวยพรวันเกิดให้เพื่อนของคุณ

——————————-

ในการเปิดเฟซบุ๊กแต่ละวัน ผมถือเป็นกิจวัตรอย่างหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือโพสต์ “อวยพรวันเกิดให้เพื่อนของคุณ” 

ผมแบ่ง “เพื่อน” ออกเป็น ๓ กลุ่ม คือ

๑ เพื่อนที่เป็นฆราวาส

๒ เพื่อนที่เป็นพระสงฆ์สามเณร

๓ เพื่อนที่เป็นท่านที่เคารพนับถือซึ่งส่วนมากจะเป็นนายทหารเรือชั้นผู้ใหญ่ระดับ “นายพล” และครูบาอาจารย์ทั้งหลาย

ข้อความอวยพรวันเกิดก็จะแบ่งเป็น ๓ แบบ ตามกลุ่มเพื่อน คือ

๑ สำหรับเพื่อนที่เป็นฆราวาส ข้อความจะเป็นดังนี้ –

รตนตฺตยานุภาเวน

รตนตฺตยเตชสา

ทีฆายุ ชีวสิทฺธี จ

สทา โสตฺถี ภวนฺตุ เต.

ด้วยความปรารถนาดีครับ

………….

๒ สำหรับเพื่อนที่เป็นพระสงฆ์สามเณร ข้อความจะเป็นดังนี้ –

รตนตฺตยานุภาเวน

รตนตฺตยเตชสา

ทีฆายุ ชีวสิทฺธี จ

สทา โสตฺถี ภวนฺตุ เต.

สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ.

………….

๓ สำหรับเพื่อนที่เป็นท่านที่เคารพนับถือ ข้อความจะเป็นดังนี้ –

รตนตฺตยานุภาเวน

รตนตฺตยเตชสา

ทีฆายุ ชีวสิทฺธี จ

สทา โสตฺถี ภวนฺตุ เต.

ด้วยอานุภาพแห่งพระรัตนตรัย

ด้วยเดชแห่งพระรัตนตรัย

ขอความมีอายุยืนนาน 

ความสำเร็จในชีวิต และความสวัสดี

จงมีแด่คุณครูตลอดกาลทุกเมื่อ เทอญ

ด้วยความเคารพอย่างยิ่งครับ

………….

วันนี้ผมก็ปฏิบัติกิจวัตรเช่นเคย แต่เมื่อเขียนข้อความเสร็จแล้วคลิกปุ่ม “โพสต์” หน้าเฟซบุ๊กของผมก็ขึ้นข้อความดังที่ผมถ่ายเป็นภาพประกอบนั้น

สำหรับญาติมิตรที่กำลังจะบอกว่า-ผมไปกดปุ่มตั้งค่าเปลี่ยนแปลงอะไรเข้าหรือเปล่า

ขอเรียนให้ทราบด้วยความเคารพว่า ผมถือเป็นหลักปฏิบัติเคร่งครัดที่จะไม่เปลี่ยนแปลงรายการใดๆ จากที่ผู้จัดการหน้าเฟซบุ๊กของผมเซตไว้ให้แล้ว นั่นคือ ผมมีหน้าที่อ่านและเขียนเท่านั้น ไม่มีหน้าที่ไปตั้งค่า เปลี่ยนค่า หรือปรับแต่งกลไกใดๆ ทั้งสิ้น 

และขอยืนยันว่า ไม่เคยมีเหตุการณ์ชนิดที่เรียกว่า-ผมไปเผลอกดอะไรเข้าโดยบังเอิญ เพราะผมไม่นิยมทำอะไรแปลกๆ ไปจากที่เคยทำ

ผมมีข้อสังเกตที่ขอเรียนไปยังผู้บริหารเฟซบุ๊กเพื่อทราบด้วยว่า ปัญหาดังที่ผมกำลังประสบ คือโพสต์ไม่ไป หรือปัญหาที่เรียกรวมๆ ว่า “คลิกขวาไม่ย้าย คลิกซ้ายไม่ขยับ ดับเครื่องเปิดใหม่ได้ผลเหมือนเดิม” นี้ วิธีที่ผมใช้แล้วได้ผลก็คือ งดใช้ กล่าวคือไม่โพสต์ ไม่คลิก ไม่ทำอะไรกับมันทั้งสิ้น หันไปทำงานด้านอื่น ผ่านไปสักครึ่งชั่วโมง หรือชั่วโมงหนึ่ง หรือบางทีก็เป็นวัน กลับมาลองใหม่ น่าอัศจรรย์อย่างยิ่งคือ ที่โพสต์ไม่ได้ไม่ไป ก็โพสต์ได้ขึ้นมาเฉยๆ ที่คลิกไม่ไปก็ไปตามปกติ

ขอยืนยันว่าไม่ได้ไปปรับไปแก้อะไรทั้งสิ้น เพราะเรื่องแบบนี้ผมไม่ถนัดแก้อยู่แล้ว

สรุปเป็นความรู้ส่วนตัวของผมว่า อะไรๆ ในเฟซบุ๊กนี้ –

บทจะใช้ไม่ได้ ก็ใช้ไม่ได้ขึ้นมาเฉยๆ

บทจะใช้ได้ ก็ใช้ได้ขึ้นมาเฉยๆ

เพราะฉะนั้น ถ้าติดขัดอะไรขึ้นมา อย่าไปแตะต้องมัน

ปล่อยให้มันเยียวยาตัวมันเอง

จำได้ไหมครับที่ผมเคยเล่าให้ฟัง หลายปีมาแล้วสมัยที่ผมใช้ชื่อเฟซบุ๊กว่า “นาวาเอกทองย้อย แสงสินชัย” 

วันหนึ่งผมเปิดหน้าเฟซบุ๊กตามปกติ

เฟซบุ๊กแจ้งขึ้นมาว่า ไม่อนุญาตให้เปิด เนื่องจากชื่อ “นาวาเอกทองย้อย แสงสินชัย” ไม่ใช่ชื่อจริง

ผมยังขำกลิ้งอยู่จนทุกวันนี้-โดยเฉพาะเมื่อเห็นชื่อพิลึกกึกกือทั้งหลายทั้งปวงที่ปรากฏสลอนอยู่บนเฟซบุ๊กในเวลานี้

คนใช้ชื่อจริงนามสกุลจริงแท้ๆ เฟซบุ๊กบอกว่าไม่ใช่ชื่อจริง ใช้ไม่ได้

คนใช้ชื่อพิลึกกึกกือทั้งหลาย เฟซบุ๊กอนุญาตให้ใช้ได้

ผมก็เลยมีอคติ-เฉพาะในประเด็นนี้-กับเฟซบุ๊กอยู่พอสมควร

ไหนๆ ก็เผลอตัวปรับทุกข์มาตั้งเยอะ ขออนุญาตบอกความในใจบางประการเสียด้วยเลย

๑ คำว่า Facebook ผมไม่ชอบเขียนเป็นอักษรฝรั่ง แต่พอใจที่จะถอดเป็นอักษรไทย และผมชอบที่จะสะกดเป็น “เฟซบุ๊ก” เฟซ- ซ โซ่ -บุ๊ก ก ไก่ วรรณยุกตรีกำกับ ทั้งนี้ตามคำชี้แจงประกอบด้วยหลักภาษาของคุณครู Charanya Deeboonmee Na Chumphae ซึ่งผมเห็นว่าชอบด้วยหลักการ

๒ สำหรับผม เฟซบุ๊กไม่ใช่ของเล่น ผมจึงไม่เคยพูดว่า “เล่นเฟซบุ๊ก” ผมไม่เคยเปิดเฟซบุ๊กเพื่อจะเล่นอะไร แต่เปิดเพื่อจะอ่านความคิดความเห็นความเป็นไปของญาติมิตร และมีส่วนร่วมด้วยการแสดงความคิดเห็นต่อปัญหาต่างๆ ตามที่ผมคิด 

ผมพูดเสมอว่า “เฟซบุ๊กเป็นอัพยากตธรรม” คือไม่ดีไม่ชั่วในตัวมันเอง ใช้ทำความดีก็ได้ ใช้ทำความชั่วก็ได้ ผมชอบที่จะใช้เฟซบุ๊กทำประโยชน์ให้แก่เพื่อนมนุษย์ตาม “ทาง” ของผม

วันไหนเวลาไหน อุปกรณ์สิ่งนี้ขลุกขลักขัดข้อง ผมก็ไม่ได้ทุกข์ร้อนอะไรมาก เพราะยังมีวิธีทำงานเพื่อประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์ได้อีกหลายวิธี

——————

เป็นอันว่า กิจวัตรอวยพรวันเกิดให้แก่ “เพื่อน” ที่มีวันเกิดตรงกับวันนี้ซึ่งปกติผมอวยพรไปที่หน้าเฟซบุ๊กของท่านนั้นๆ โดยตรง วันนี้ขออภัยเนื่องจากข้อขัดข้องดังที่เล่ามา ขออนุญาตอวยพรเป็นส่วนกลางผ่านทางโพสต์ของผมมา ณ ที่นี้ 

และหวังว่าสักวันหนึ่งเฟซบุ๊กคงเยียวยาตัวเองได้

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑

๑๖:๔๙

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *