บาลีวันละคำ

มหาราช [2] (บาลีวันละคำ 2,083)

มหาราช [2]

กัณฑ์ที่ 11 ในมหาเวสสันดรชาดก 13 กัณฑ์

อ่านว่า มะ-หา-ราด

ประกอบด้วยคำว่า มหา + ราช

(๑) “มหา

ศัพท์เดิมในบาลีเป็น “มหนฺต” (มะ-หัน-ตะ) รากศัพท์มาจาก มหฺ (ธาตุ = เจริญ, ขยายตัว) + อนฺต ปัจจัย

: มหฺ + อนฺต = มหนฺต แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ขยายตัว” มีความหมายว่า ยิ่งใหญ่, กว้างขวาง, โต; มาก; สำคัญ, เป็นที่นับถือ (great, extensive, big; much; important, venerable)

มหนฺต” เมื่อผ่านกรรมวิธีทางไวยากรณ์ได้รูปเป็น “มหา-” มักใช้เป็นส่วนหน้าของสมาส

(๒) “ราช

บาลีอ่านว่า รา-ชะ รากศัพท์มาจาก –

(1) ราชฺ (ธาตุ = รุ่งเรือง) + (ปัจจัย) = ราช แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รุ่งเรืองโดยยิ่งเพราะมีเดชานุภาพมาก” หมายความว่า ผู้เป็นพระราชาย่อมมีเดชานุภาพมากกว่าคนทั้งหลาย

(2) รญฺชฺ (ธาตุ = ยินดี พอใจ) + ปัจจัย, ลบ ลบ ญฺ แผลง เป็น รา

: รญฺชฺ + = รญฺชณ > รญฺช > รช > ราช แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ยังคนทั้งหลายให้ยินดี” หมายความว่า เป็นผู้อำนวยความสุขให้ทวยราษฎร์ จนคนทั้งหลายร้องออกมาว่า “ราชา ราชา” (พอใจ พอใจ)

ท่านพุทธทาสภิกขุให้คำจำกัดความ “ราช” หรือ “ราชา” ว่าคือ “ผู้ที่ทำให้ประชาชนร้องออกมาว่า พอใจ พอใจ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ราช ๑, ราช– : (คำนาม) พระเจ้าแผ่นดิน, พญา (ใช้แก่สัตว์) เช่น นาคราช คือ พญานาค สีหราช คือ พญาราชสีห์, คํานี้มักใช้ประกอบกับคําอื่น, ถ้าคําเดียวมักใช้ว่า ราชา. (ป., ส.).”

ราช” ความหมายตรงๆ ที่เข้าใจกัน คือ พระราชา, พระเจ้าแผ่นดิน

มหนฺต > มหา + ราช = มหาราช แปลตามศัพท์ว่า “พระราชาผู้ยิ่งใหญ่” (great king)

มหาราช” บาลีอ่านว่า มะ-หา-รา-ชะ ภาษาไทยอ่านว่า มะ-หา-ราด

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

มหาราช : (คำนาม) คำซึ่งมหาชนถวายเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระมหากษัตริย์; ชื่อธงประจำพระองค์พระมหากษัตริย์เรียกว่า ธงมหาราช; ชื่อกัณฑ์ที่ ๑๑ ของมหาชาติ.”

ดูเพิ่มเติม: “มหาราช [1]” บาลีวันละคำ (1,308) 28-12-58

ขยายความ :

มหาราช” เป็นชื่อกัณฑ์ที่ 11 ของมหาเวสสันดรชาดก

ในคัมภีร์ชาดก (พระไตรปิฎกเล่ม 28 ข้อ 1215-1240 หน้า 437-444) เรียกชื่อกัณฑ์นี้ว่า “มหาราชปพฺพํ” (ดูภาพประกอบ) ภาษาไทยใช้ว่า “มหาราช

เรื่องราวในกัณฑ์ “มหาราช” ว่าด้วยชูชกพาสองกุมารเดินทาง เวลาคํ่าก็ผูกเปลนอนเหนือค่าคบไม้ เทพยเจ้าก็ช่วยอภิบาลบำรุงรักษาสองกุมาร

ล่วงเวลาได้ 15 ราตรีก็ลุถึงกรุงสีพี ชูชกพาสองกุมารผ่านมาตรงหน้าพระที่นั่ง พระเจ้ากรุงสญชัยตรัสสั่งให้พาชูชกมาเฝ้า ทราบความแล้ว ทรงไถ่พระเจ้าหลานทั้งสองตามพิกัดที่พระชาลีกราบทูล คือ “เกล้ากระหม่อมฉันพันตำลึงทอง แต่พระนุชน้องนาฏแก้วกัณหา เธอทรงพระพิกัดคาดราคาด้วยพระราชทรัพย์สิ่งละร้อยๆ กับสุวรรณไม่น้อยร้อยตำลึงทอง” พระเจ้ากรุงสญชัยก็พระราชทานตามนั้น ซ้ำยังเพิ่มพระราชทานปราสาทเจ็ดชั้นให้อีกด้วย

ต่อมาชูชกบริโภคอาหารเกินขนาด ไฟธาตุไม่ย่อยก็ถึงแก่ความตาย ทางการประกาศหาญาติก็ไม่มีผู้ใดเป็นญาติ สมบัติทั้งปวงที่ได้รับพระราชทานก็ตกเข้าพระคลังหลวง

พระเจ้ากรุงสญชัยตรัสสั่งให้จัดกระบวนทัพยกไปรับพระเวสสันดร พระชาลีเป็นทัพหน้านำพลไปยังเขาวงกต

อภิปราย :

คำว่า “มหาราช” ในกัณฑ์นี้หมายถึงใคร?

สมัยเป็นเด็ก ผู้เขียนบาลีวันละคำได้เห็นภาพจิตรกรรมชุดมหาเวสสันดรชาดกที่สำนักงาน ส.ธรรมภักดี พิมพ์เผยแพร่ กัณฑ์มหาราชเป็นภาพเทพยเจ้า 2 องค์แปลงกายเป็นพระเวสสันดรและพระนางมัทรีมาอภิบาลสองกุมาร ก็เข้าใจว่าชื่อกัณฑ์ “มหาราช” หมายถึงเทพยเจ้า 2 องค์นั้น

แต่ต่อมาเมื่อได้ศึกษามหาเวสสันดรชาดกพอเข้าใจบ้างแล้ว จึงแน่ใจว่า “มหาราช” ในกัณฑ์นี้หมายถึงพระเจ้ากรุงสญชัยซึ่งขณะเมื่อพระเวสสันดรออกไปอยู่เขาวงกตนั้นก็ได้ทรงครองกรุงสีพีอยู่ และได้ทรงจัดการทั้งปวงให้สองกุมารเป็นไทและให้ตรัสสั่งให้จัดกระบวนทัพยกไปรับพระเวสสันดร จึงนับว่าทรงมีบทบาทสำคัญสมควรแก่พระสมัญญานาม “มหาราช

……..

กัณฑ์ที่ 11 มหาราชปพฺพํ 69 พระคาถา

เพลงประจำกัณฑ์: เพลงกราวนอก

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ยิ่งใหญ่ด้วยอำนาจ ถึงจะเป็นมหาราชก็อยู่ได้ไม่นาน

: ยิ่งใหญ่ด้วยคุณธรรมศีลทาน อยู่ได้นิรันดร

#บาลีวันละคำ (2,083)

24-2-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย