อย่าให้ปัญญาน้อยกว่าศรัทธา
อย่าให้ปัญญาน้อยกว่าศรัทธา
—————————–
มีผู้เขียนข้อความที่เป็นคำสนทนาระหว่างพระพุทธเจ้ากับพระอานนท์แล้วเผยแพร่ทางสื่อโซเชียลมีเดีย และมีผู้ส่งต่อข้อความนั้นแพร่กระจายออกไป
ข้อความที่เผยแพร่ไปนั้นมีดังนี้ –
……………..
“…พระพุทธเจ้ากล่าวกับพระอานนท์ ช่วงที่เกิดโรคห่า ในขณะที่พระองค์ไปปฐมพยาบาลพระที่ป่วย พระอานนท์ถามพระองค์ว่าไม่กลัวติดเชื้อหรือ พระองค์กล่าวว่า “อานนท์ ถ้าไม่ใช่กรรมที่เราทำมา เราก็จะไม่ได้รับกรรมนั้น แต่ถ้าเราทำมา หนีอย่างไรก็หนีไม่พ้น…”
……………..
มีผู้ชี้แจงไปบ้างแล้วว่า ข้อความที่บอกว่า พระพุทธเจ้าไปปฐมพยาบาลพระที่ป่วยนั้น มีในพระไตรปิฎกจริง แต่คำสนทนาระหว่างพระพุทธเจ้ากับพระอานนท์ตามที่เผยแพร่นั้นยังไม่พบว่ามีในพระไตรปิฎก
—————-
ขออนุญาตอธิบายเพิ่มเติมดังนี้
กรณีพระพุทธเจ้าพยาบาลภิกษุไข้ พบในคัมภีร์ ๒ แห่ง คือ
๑ พระวินัยปิฎก มหาวรรค ภาค ๒ ตอนจีวรขันธกะ พระไตรปิฎกเล่ม ๕ ข้อ ๑๖๖ (คัมภีร์ชั้นพระบาลี) กล่าวถึงพระพุทธเจ้ากับพระอานนท์พยาบาลภิกษุรูปหนึ่งซึ่งอาพาธด้วยโรคท้องร่วง (กุจฺฉิวิการาพาธ) มีพระพุทธดำรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า พวกเธอไม่มีบิดามารดา (คือออกบวชแล้ว ไม่มีครอบครัว) ถ้าไม่ดูแลกันเอง ใครเล่าเขาจะมาดูแล แล้วทรงมีพุทธบัญญัติให้ภิกษุดูแลกันตามสถานะที่เกี่ยวข้อง เช่นอุปัชฌาย์อาจารย์ดูแลศิษย์ ศิษย์ดูแลอุปัชฌาย์อาจารย์เป็นต้น ไปจนถึง-ถ้าไม่มีตัวบุคคล สงฆ์ต้องดูแล
เรื่องตอนนี้เป็นที่มาของพุทธภาษิตที่มีผู้นิยมนำไปอ้างอิงเมื่อกล่าวถึงกิจการของโรงพยาบาลสงฆ์ คือข้อความที่ว่า –
โย ภิกฺขเว มํ อุปฏฺฐเหยฺย,
โส คิลานํ อุปฏฺฐเหยฺย.
ผู้ใดจะพึงปรนนิบัติเรา
ผู้นั้นพึงปรนนิบัติภิกษุไข้เถิด
๒ คัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถา ภาค ๒ (คัมภีร์ชั้นอรรถกถา) เรื่องพระปูติคัตตติสสเถระ (แปลว่า “พระติสสะตัวเน่า”) พระภิกษุรูปนี้อาพาธด้วยโรคพุพอง มีตุ่มขึ้นตามตัวแตกพรุนทั้งตัว สุดท้ายกระดูกก็แตก พระที่ดูแลทิ้งให้นอนอนาถา
พระพุทธเจ้าเสด็จไปพยาบาลโดยทรงชำระเนื้อตัวให้เบาสบาย แล้วแสดงธรรมให้ฟัง จบพระธรรมเทศนาพระติสสะได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์แล้วปรินิพพาน
พระธรรมเทศนาที่ทรงแสดงคือคาถาบทนี้ –
อจิรํ วตยํ กาโย
ปฐวึ อธิเสสฺสติ
ฉุฑฺโฑ อเปตวิญฺญาโณ
นิรตฺถํว กลิงฺครํ.
อีกไม่นาน ร่างกายนี้
จักปราศจากวิญญาณ
ถูกทอดทิ้ง ทับถมแผ่นดิน
เหมือนท่อนไม้อันหาประโยชน์มิได้
(คำแปลสำนวนอาจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก)
คาถานี้เรียกกันว่า “คาถาบังสุกุลเป็น”
นอกจาก ๒ แห่งนี้แล้ว น่าจะช่วยกันสืบค้นว่ายังมีเรื่องพระพุทธเจ้าพยาบาลภิกษุไข้ปรากฏในคัมภีร์เล่มไหนอีก
แต่ประเด็นสำคัญ คือในเรื่องที่พระพุทธเจ้าพยาบาลภิกษุไข้นั้น (๑) ไม่ได้เกี่ยวกับโรคห่า และ (๒) พระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสกับพระอานนท์ตามถ้อยคำสนทนาที่เผยแพร่นั้นเลย
—————-
ผมขอเสนอให้พวกเราตั้งหลักกันดังนี้
๑ ช่วยกันรับรู้ว่า ข้อความที่เผยแพร่กันนั้นมีทั้งที่มีในพระไตรปิฎก และที่ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่ามีในพระไตรปิฎก
นั่นก็คือ เมื่อเห็นข้อความนั้นที่ไหนก็ตาม อย่าเพิ่งปฏิเสธหรือเชื่อตามข้อความนั้นทันที ตั้งสติกันตรงนี้ให้มั่นคงก่อน
๒ ต่อจากนั้น ช่วยกันศึกษาจากหลักฐานซึ่งก็คือพระไตรปิฎกอรรถกถาฎีกา ซึ่งเวลานี้ไม่ยากที่จะเข้าถึง
อยากแชร์อยากเชื่อมากเพียงไหน
ก็ควรจะมีอุตสาหะที่จะเปิดอ่าน ที่จะค้นคว้าให้มากเพียงนั้น
โดยเฉพาะท่านที่ (๑) พอมีความสามารถที่จะเข้าถึงข้อมูลได้ (เปิดเป็นหาเป็น) และ (๒) พอที่จะอ่านจะสืบค้นได้ (อ่านพระไตรปิฎกได้ หากไม่ใช่ภาษาบาลี อย่างน้อยก็ที่เป็นภาษาไทย)
ท่านเช่นว่านี้ควรเป็นกลุ่มนำที่จะช่วยกันทำหน้าที่ศึกษาสืบค้น และควรถือเป็นหน้าที่สำคัญที่จะต้องทำ
ขอให้เลิกกันที-ความคิดที่ว่า “ไม่ใช่หน้าที่ของข้าพเจ้า” เพราะคิดอย่างนี้แหละพระศาสนาของเราจึงได้เรียวลงๆ อยู่ทุกวันนี้
๓ พึงทราบหลักการว่า คำตรัสของพระพุทธเจ้าที่เรียกว่า “พระพุทธพจน์” นั้นต้องมี “ที่มา” เสมอ
แหล่งรวมหลักคำสอนในพระพุทธศาสนา ที่เรียกว่า “พระธรรมวินัย” คือพระไตรปิฎกและอรรถกถาฎีกาเป็นต้น กล่าวคือคัมภีร์ในชั้นต่างๆ ที่ลดหลั่นกันลงไป
ดังนั้น เมื่อใดก็ตามที่อ้างพระพุทธพจน์หรือคำตรัสของพระพุทธเจ้า ก็ขอให้ให้ช่วยกันทวงถาม “ที่มา” ของถ้อยคำนั้นๆ ด้วยเสมอ นั่นคือผู้นำมาอ้างต้องสามารถบอกได้ว่าความข้อนั้นเรื่องนั้นมีอยู่ในพระไตรปิฎกหรืออรรถกถาฎีกาเล่มไหน
—————-
บางท่านอาจจะบอกว่า บอกที่มาหรือไม่บอกจะแปลกอะไร จะมีใครสักกี่คนที่อยากรู้ที่ไปที่มาอะไรนั่น บอกไว้ก็ไม่มีใครสนใจจำหรอก เขาสนใจเฉพาะเรื่องที่เอามาบอกนั่นต่างหาก
เรื่องนี้ต้องตั้งหลักให้ถูก มิเช่นนั้นเราจะพลาดไปใหญ่
คำสอนของพระพุทธเจ้าต้องมีที่ไปที่มา ใครจะพูดเอาเองแล้วอ้างว่าเป็นคำที่พระพุทธเจ้าตรัส หาได้ไม่
การอ้างที่มาหรือบอกที่มาไว้ เป็นการรักษาความถูกต้องแม่นยำของหลักคำสอน นั่นคือต้องสามารถชี้ไปที่แหล่งเดิม (Primary sources) ได้เสมอ
ผู้เผยแผ่หลักคำสอนในศาสนาอื่นก็ยึดตามหลักการนี้ ในศาสนาคริสต์เมื่ออ้างคัมภีร์ไบเบิล ก็จะบอกด้วยเสมอ เช่น เยเนซิศบทที่เท่าไร แมทธิวบทที่เท่าไร ในศาสนาอิสลามเมื่ออ้างคัมภีร์อัลกุรอาน ก็จะบอกไว้ด้วยว่าซูเราะห์ไหนบทไหน
การอ้างที่มา ไม่เกี่ยวกับว่าจะมีใครอยากรู้หรือไม่ แต่เกี่ยวกับการยืนยันหลักคำสอนไม่ให้เกิดความสับสนพร่ามัว
……………..
อย่างที่เล่ากันขำๆ ว่า ตำรายาไทยขนานหนึ่งจากสมุดข่อยบอกว่า ยาขนานนั้นเวลากินให้ปั้นเป็นเม็ด (คำเก่าเรียกว่า “ลูกกลอน”) ขนาดเท่าเม็ดนุ่น
ยาขนานนี้มีคนคัดลอกกันไปเรื่อยๆ จนไม่รู้ว่าต้นฉบับเดิมอยู่ที่ไหน
ปัญหาก็คือ ฉบับที่คัดลอกกันต่อมาบอกว่า เวลากินให้ปั้นเป็นเม็ด “ขนาดเท่าเม็ดขนุน”
ยาขนานเดียวกัน บางฉบับบอกว่าเวลากินให้ปั้นเป็นเม็ด “ขนาดเท่าเม็ดนุ่น”
บางฉบับบอกว่าเวลากินให้ปั้นเป็นเม็ด “ขนาดเท่าเม็ดขนุน”
ต้องการรู้ว่า “ขนาดเท่าเม็ดนุ่น” หรือ “ขนาดเท่าเม็ดขนุน” กันแน่ จะทำอย่างไร?
……………..
ถ้าเราศึกษาพระพุทธศาสนาโดยวิธี-ผู้เอาถ้อยคำมาบอกก็ไม่บอกที่มา ผู้รับฟังก็ไม่สนใจที่มา ถ้าต้องการรู้ว่าเรื่องนั้นๆ พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้จริงหรือ หรือตรัสไว้เช่นนั้นจริงหรือ จะทำอย่างไร?
และถ้าเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ความสับสนพร่ามัวจะเกิดขึ้นในหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าสักเพียงไร
อนึ่ง ขอได้โปรดเข้าใจให้ถูกต้องว่า การอ้างที่มาหรือการเรียกร้องขอให้บอกที่มา ไม่ใช่การยึดติดคัมภีร์ อย่างที่มักกระแหนะกระแหนกันว่า-นี่ถ้าไม่มีคัมภีร์คงคิดอะไรเองไม่เป็น
คัมภีร์-ที่มา เป็นเรื่องของหลักฐานและการรักษาหลักฐาน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่สุด
แต่เมื่อมีหลักฐานเห็นหลักฐานแล้ว ต่อจากนั้นใครจะเชื่อหรือใครจะไม่เชื่อเรื่องที่คัมภีร์กล่าวไว้ หรือแม้แต่จะไม่เชื่อตัวคัมภีร์นั่นทั้งคัมภีร์เลย นั่นเป็นสิทธิเสรีภาพโดยสมบูรณ์
จะเห็นตามก็เชิญ
จะเห็นต่างก็เชิญ
พระพุทธศาสนาเตือนแต่เพียงว่า-ขอให้เห็นตรง
ยถาภูตํ ปชานาติ = เห็นตรงตามความเป็นจริง
แล้วจะเอาอะไรเป็นเกณฑ์ตัดสินว่าอย่างไรคือเห็นตรง?
นั่นขึ้นอยู่กับการศึกษา เรียนรู้ สำเหนียก สำนึก ฝึกฝน ขัดเกลา อบรมตนเอง
—————-
ในขั้นนี้ ทำได้เพียงแค่ขอร้องว่า
สำหรับผู้ส่งสาร เมื่อจะอ้างพระพุทธพจน์หรือคำตรัสของพระพุทธเจ้า โปรดศึกษาให้ชัดเจนว่าเป็นคำตรัสของพระพุทธเจ้าแน่หรือ และขอให้แสดงหลักฐานที่มาไว้ด้วยเสมอ
สำหรับผู้รับสาร ขอร้องว่า รับอะไรมาอย่าเพิ่งเชื่อหรือแชร์ทันที ฝึกสร้างนิสัย “ถามหาที่มา” กันไว้บ้าง
เป็นการยากที่จะห้ามไม่ให้ใครยกเอาความปลอมความเท็จออกมาเสนอสังคม
แต่ไม่เป็นการยากเลยที่จะฝึกตั้งสติกันไว้ก่อน และตั้งสติไว้เสมอๆ
และถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับพระศาสนา ก็ขอร้องให้ศึกษาเรียนรู้ให้จงดี
มีศรัทธา นั่นประเสริฐแล้ว
เพียงแต่ขอให้เพิ่มปัญญาคือการใช้เหตุผลประสมเข้าไปด้วย จะประเสริฐที่สุด
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๑๘ มีนาคม ๒๕๖๓
๑๖:๓๖