บาลีวันละคำ

นิมันตนภัต (บาลีวันละคำ 3,992)

นิมันตนภัต

1 ในบิณฑบาตที่เป็นอดิเรกลาภ

…………..

ปัจจัยเครื่องอาศัยของบรรพชิตในพระพุทธศาสนา เมื่อแรกที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติ มี 4 อย่าง ที่เราเรียกรู้กันว่า “จตุปัจจัย” หรือ “ปัจจัยสี่” คือ:-

(1) อาหาร: ปิณฑิยาโลปโภชนะ = โภชนะที่ได้มาด้วยกำลังปลีแข้ง คือเที่ยวบิณฑบาต

(2) เครื่องนุ่งห่ม: บังสุกุลจีวร = ผ้านุ่งห่มทำจากผ้าที่เขาทิ้งแล้ว 

(3) ที่อยู่อาศัย: รุกขมูลเสนาสนะ = ที่อยู่อาศัยคือโคนไม้ 

(4) ยารักษาโรค: ปูติมุตตเภสัช = ยารักษาโรคคือน้ำมูตรดอง 

ต่อมา ทรงอนุญาตปัจจัยพิเศษในแต่ละอย่างเพิ่มขึ้นจากเดิม เรียกว่า “อดิเรกลาภ” กล่าวเฉพาะหมวดอาหารมี 7 อย่าง คือ:-

(1) สังฆภัต = ภัตถวายสงฆ์

(2) อุทเทสภัต = ภัตถวายภิกษุที่สงฆ์คัดเลือกให้

(3) นิมันตนภัต = ภัตในกิจนิมนต์

(4) สลากภัต = ภัตถวายตามสลาก

(5) ปักขิกภัต = ภัตถวายในปักษ์

(6) อุโปสถิกภัต = ภัตถวายในวันอุโบสถ์

(7) ปาฏิปทิกภัต = ภัตถวายในวันปาฏิบท 

ถ้ามีภัตเหล่านี้เกิดขึ้น จะไม่ต้องออกบิณฑบาตก็ได้ 

…………..

นิมันตนภัต” อ่านว่า นิ-มัน-ตะ-นะ-พัด ประกอบด้วยคำว่า นิมันตน + ภัต

(๑) “นิมันตน

เขียนแบบบาลีเป็น “นิมนฺตน” อ่านว่า นิ-มัน-ตะ-นะ รากศัพท์มาจาก นิ (คำอุปสรรค = เข้า, ลง; ไม่มี, ออก) + มนฺตฺ (ธาตุ = ปรึกษา) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)

: นิ + มนฺต = นิมนฺตฺ + ยุ > อน = นิมนฺตน แปลตามศัพท์เท่าที่ตาเห็นว่า “การปรึกษาลง” ซึ่งในภาษาไทยไม่อาจเข้าใจได้ว่าคือการทำอะไร 

ถึงตอนนี้ควรเรียนหลักภาษาเพิ่มเติมขึ้นไปอีกหน่อยว่า “นิ” คำอุปสรรคที่เติมลงข้างหน้าในคำว่า “นิมนฺตน” นี้ ท่านเรียกว่า “อุปสรรคเบียนธาตุ” หมายความว่า ลงแล้วทำให้ความหมายของธาตุเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเล็กน้อย คือ “นิมนฺตน” แปลว่า การนิมนต์, การเชื้อเชิญ (invitation) 

อุปสรรคบางตัวท่านเรียกว่า “อุปสรรคสังหารธาตุ” เช่น “อา” = ทั่วไป, ยิ่ง, กลับความ เมื่อลงหน้าธาตุบางตัวก็ฆ่าความหมายของธาตุตัวนั้นให้ตายไป แล้วสร้างความหมายขึ้นมาใหม่ เช่น 

คมฺ ธาตุ “ไป” ลง อา เป็น “อาคม” ความหมายกลายเป็น “มา” 

ทา ธาตุ “ให้” ลง อา เป็น “อาทา” ความหมายกลายเป็น “เอา” 

แต่ “นิ” ในคำว่า “นิมนฺตน” นี้ไม่ถึงกับสังหารธาตุ เป็นแต่เบียนธาตุ คือทำให้ความหมายเพี้ยนไปจากเดิม คือจาก “ปรึกษา” กลายเป็น “เชื้อเชิญ” (ซึ่งอาจอธิบายแบบลากเข้าความว่า การเชื้อเชิญนั่นแหละคืออาการอย่างหนึ่งของการปรึกษา เช่นอาจเริ่มต้นปรึกษาว่า ข้าพเจ้าอยากจะให้ท่านไปทำกิจอย่างหนึ่ง ณ ที่โน้น ท่านจะเห็นเป็นประการใด – เช่นนี้ จะว่าปรึกษาหรือจะว่าเชื้อเชิญก็ฟังได้ทั้งสองอย่าง)

นิมนฺตน” เขียนเป็นคำไทยว่า “นิมันตนะ” หรือ “นิมนตน์” แต่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ไม่ได้เก็บคำรูปนี้ไว้ แต่เก็บเป็น “นิมนต์” บอกไว้ดังนี้ –

นิมนต์ : (คำกริยา) เชิญ, เชื้อเชิญ, (ใช้แก่พระภิกษุและสามเณร). (ป. นิมนฺต; ส. นิมนฺตฺร).”

(๒) “ภัต” 

บาลีเป็น “ภตฺต” อ่านว่า พัด-ตะ รากศัพท์มาจาก –

(1) ภชฺ (ธาตุ = เสพ, คบหา) + ปัจจัย, แปลง ชฺ เป็น ตฺ

: ภชฺ + = ภชต > ภตฺต แปลตามศัพท์ว่า “ของเป็นเครื่องเสพ” 

(2) ภุชฺ (ธาตุ = กลืนกิน, ใช้สอย) + ปัจจัย, แปลง อุ ที่ ภุ-(ชฺ) เป็น (ภุ > ), แปลง ชฺ เป็น ตฺ

: ภุชฺ + = ภุชต > ภชต > ภตฺต แปลตามศัพท์ว่า “ของที่จะพึงกลืนกิน” 

ข้อความบางแห่งในคัมภีร์ คำว่า “ภตฺต” หมายถึง “ข้าวสุก” โดยเฉพาะ แต่โดยทั่วไป “ภตฺต” หมายถึง อาหาร (ไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นข้าว)

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ภตฺต” (นปุงสกลิงค์) ว่า food, nourishment, meal, feeding (อาหาร, ของบำรุงเลี้ยงร่างกาย, อาหารที่เป็นมื้อ, การเลี้ยง) 

บาลี “ภตฺต” สันสกฤตเป็น “ภกฺต

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

ภกฺต : (คำวิเศษณ์) อันมีความภักดีต่อ; อันเอาใจใส่; อันหุงหรือต้มแล้ว; attached to; attentive to; cooked or boiled; – (คำนาม) อาหาร; ข้าวอันหุงหรือต้มแล้ว; food; cooked or boiled rice.”

บาลี “ภตฺต” ภาษาไทยใช้เป็น “ภัต” และ “ภัตร” 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

ภัต, ภัต-, ภัตร : (คำนาม) อาหาร, ข้าว. (ป. ภตฺต).”

นิมนฺตน + ภตฺต = นิมนฺตนภตฺต (นิ-มัน-ตะ-นะ-พัด-ตะ) แปลว่า “ภัตอันเกิดจากการนิมนต์” หรือ “ภัตอันมีในที่นิมนต์” หมายถึง อาหารที่ถวายแก่ภิกษุที่ทายกนิมนต์ไปรับ

นิมนฺตนภตฺต” ใช้ในภาษาไทยเป็น “นิมันตนภัต” อ่านว่า นิ-มัน-ตะ-นะ-พัด

คำว่า “นิมันตนภัต” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 

ขยายความ :

คำว่า “นิมันตนภัต” คำบาลีท่านใช้ว่า “นิมนฺตนํ” (นิมันตะนัง) เขียนเป็นคำไทยว่า “นิมันตนะ” คำแปลเดิมท่านแปลว่า “การนิมนต์” 

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต อธิบายคำว่า “นิมันตนะ” ไว้ว่า –

………………….

นิมันตนะ: การนิมนต์ หรืออาหารที่ได้ในที่นิมนต์ หมายเอาการนิมนต์ของทายกเพื่อไปฉันที่บ้านเรือนของเขา

………………….

นิมนฺตนํ > นิมันตนะ” ในที่นี้ใช้เป็น “นิมันตนภัต” เพื่อให้เข้าชุดกับคำต้น และให้คำในชุดนี้ลงท้ายด้วยคำว่า “-ภัต” เสมอกัน 

นิมันตนภัต” คือที่เรารู้จักกันในทุกวันนี้ว่า งานนิมนต์ รับนิมนต์ เรียกรวมๆ ว่า “กิจนิมนต์” 

งานนิมนต์ปกติก็จะถวายอาหารด้วย ดังที่พูดว่า นิมนต์ฉันเช้า นิมนต์ฉันเพล เป็นที่คุ้นกัน อาหารที่ถวายในงานนิมนต์นี่แหละคือ “นิมันตนภัต

พึงทราบว่า งานนิมนต์ที่เราคุ้นกันและทำกันในปัจจุบันนี้บรรยากาศคนละแบบกับ “นิมันตนะ” ของเดิมในสมัยพุทธกาล

เท่าที่ตรวจสอบ “นิมันตนะ” สมัยพุทธกาล พบว่ามีลักษณะเป็น 3 แบบ คือ –

แบบ 1 พระที่ได้รับนิมนต์ถือบาตรตรงไปยังบ้านที่นิมนต์เพียงบ้านเดียว รับอาหาร (ซึ่งเพียงพอแก่ความต้องการ-ตามมาตรฐานคือ “เต็มบาตร”) แล้วกลับ จะหาที่นั่งฉันในระหว่างทางหรือกลับมาฉัน ณ ที่พำนักก็ได้ แต่โดยปกติจะหาที่ฉันในระหว่างทาง

แบบ 2 พระที่ได้รับนิมนต์ถือบาตรตรงไปยังบ้านที่นิมนต์เพียงบ้านเดียว เจ้าของบ้านจัดที่ให้พระนั่งฉันภายในบ้าน ฉันเสร็จ อนุโมทนาแล้วกลับ

แบบ 3 บ้านที่นิมนต์ส่งคนมารับบาตรจากที่พำนักของพระ ใส่อาหารเต็มบาตรแล้วนำกลับมาถวาย 

จะเห็นว่า แบบ 1 และ 2 พระก็ยังคงออกบิณฑบาตนั่นเอง เพียงแต่ตรงไปยังบ้านที่นิมนต์เพียงบ้านเดียว ไม่ต้องเข้าบ้านนั้นออกบ้านนี้เหมือนบิณฑบาตตามปกติ

แบบ 2 มีลักษณะใกล้เคียงกับงานนิมนต์ที่เราทำกันทุกวันนี้ แต่พึงทราบว่า สมัยโน้นเจ้าของบ้านไม่ได้จัดงานอะไร คือไม่ได้ “มีงาน” เหมือนงานนิมนต์ทุกวันนี้ แต่เป็นนิมนต์พระมารับบิณฑบาตที่บ้านเหมือนกับเราใส่บาตรกันทุกเช้านั่นเอง เพียงแต่ใส่บาตรแล้วนิมนต์ให้ท่านนั่งฉันในบ้าน (แบบ 2) ถ้าพระไม่ประสงค์จะฉันที่บ้าน เจ้าของบ้านใส่บาตรแล้วพระท่านก็กลับทันที (แบบ 1)

ส่วนแบบ 3 ผู้นิมนต์มาเอาบาตรไปใส่อาหารแล้วนำมาถวายที่พำนัก-ทุกวันนี้ไม่ได้ยินว่ามีใครทำกันอีกแล้ว 

แบบ 3 นี้สันนิษฐานว่าน่าจะมีเหตุมาจากพระอาพาธ ถือบาตรไปตามบ้านคนตามปกติไม่สะดวก ทายกทราบเข้าต้องการจะสงเคราะห์พระ จึงเอาบาตรไปใส่อาหารนำมาถวายแทนการให้พระออกบิณฑบาต ถือว่าเป็นการนิมนต์แบบหนึ่งเหมือนกัน

งานนิมนต์นี้ มีข้อสังเกตบางประการ

เมื่อ 70 ปีมาแล้ว ผู้เขียนบาลีวันละคำเป็นเด็กวัด งานบุญของชาวบ้านนิยมทำเป็น 2 วัน คือ สวดมนต์เย็น รุ่งขึ้นเลี้ยงพระเช้า ตอนพระไปฉันเช้านี้ต้องเอาบาตรและปิ่นโตไปด้วย เป็นหน้าที่ของเด็กวัดสะพายบาตรหิ้วปิ่นโตตามพระไปบ้านงาน ถึงเวลางาน พระสวดถวายพรพระ คนมาร่วมงานใส่บาตร แล้วเลี้ยงพระ บาตร+ปิ่นโตนำกลับมาฉันเพล

ทำให้เห็นร่องรอยว่า พระที่ไปรับนิมันตนภัตก็ต้องออกบิณฑบาตนั่นเอง แต่ไปบิณฑบาตที่บ้านทายกที่นิมนต์บ้านเดียว 

…………..

ดูก่อนภราดา!

: รับ “กิจนิมนต์” เพื่อรักษาศรัทธา

: ทำ “กิจของสงฆ์” เพื่อรักษาพระศาสนา

#บาลีวันละคำ (3,992)

18-5-66 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *