โรคภัย (บาลีวันละคำ 2,831)
โรคภัย
ไม่ใช่โรคและภัย
ตามปกติ ในภาษาไทย ถ้าเห็นคำว่า “โรคภัย” เราก็จะอ่านว่า โรก-ไพ เช่นในคำว่า “โรคภัยไข้เจ็บ” เราก็พูดกันว่า โรค-ภัย-ไข้-เจ็บ
ในภาษาบาลี คำว่า “โรค” และ “ภย” ปกติก็มีความหมายคนละอย่าง ไม่อิงกันและกัน คือ “โรค” ก็โรค “ภย” ก็ภัย มีความหมายคนละอย่างกัน เช่นในคำอาราธนาพระปริตร วรรคที่ว่า –
สพฺพทุกฺขวินาสาย = เพื่อความพินาศไปแห่งทุกข์ทั้งปวง
สพฺพภยวินาสาย = เพื่อความพินาศไปแห่งภัยทั้งปวง
สพฺพโรควินาสาย = เพื่อความพินาศไปแห่งโรคทั้งปวง
นั่นคือ แยก “ทุกฺข” “ภย” และ “โรค” เป็นคนละส่วนกัน
แต่เฉพาะในที่นี้ “โรคภัย” มีความหมายตามประสงค์ว่า “ภัยจากโรค” จึงต้องอ่านว่า โร-คะ-ไพ หรือจะอ่านว่า โรก-คะ-ไพ ก็ได้
“โรคภัย” แยกคำเป็น โรค + ภัย
(๑) “โรค”
บาลีอ่านว่า โร-คะ รากศัพท์มาจาก รุชฺ (ธาตุ = เสียดแทง, ทำลาย) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แผลง อุ ที่ รุ-(ชฺ) เป็น โอ (รุชฺ > โรช), แปลง ชฺ เป็น ค
: รุชฺ + ณ = รุชณ > รุช > โรช > โรค แปลตามศัพท์ว่า (1) “อาการที่เสียดแทง” (2) “อาการที่ทำลายอวัยวะน้อยใหญ่” หมายถึง ความเจ็บป่วย, ความไข้ (illness, disease)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“โรค, โรค– : (คำนาม) ภาวะที่ร่างกายทํางานได้ไม่เป็นปรกติเนื่องจากเชื้อโรคเป็นต้น. (ป., ส.).”
(๒) “ภัย”
บาลีเป็น “ภย” อ่านว่า พะ-ยะ รากศัพท์มาจาก ภี (ธาตุ = กลัว) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แผลง อี (ที่ ภี) เป็น เอ, แปลง เอ เป็น อย
: ภี + ณ = ภีณ > ภี > เภ > ภย แปลตามศัพท์ว่า “ความกลัว”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ภย” เป็นอังกฤษว่า fear, fright, dread (ความกลัว, ความหวาดหวั่น, สิ่งที่น่ากลัว)
“ภย” ใช้ทับศัพท์ในภาษาไทยว่า “ภัย”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ภัย : (คำนาม) สิ่งที่น่ากลัว, อันตราย, เช่น อัคคีภัย คือ ภัยที่เกิดจากไฟ อุทกภัย คือ ภัยที่เกิดจากน้ำ. (ป., ส. ภย).”
ความหมายของ “ภย” ในบาลีคือ “ความกลัว” (fear) หรือ “สิ่งที่น่ากลัว” (fright) แต่ “ภัย” ในภาษาไทยน้ำหนักของความหมายอยู่ที่ “อันตราย” (danger, dangerous)
โปรดสังเกตว่า พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ที่ฝรั่งเป็นผู้ทำไม่ได้แปล “ภย” ว่า danger หรือ dangerous
โรค + ภย = โรคภย (โร-คะ-พะ-ยะ) แปลว่า “สิ่งที่น่ากลัวอันเกิดแต่โรค”
“โรคภย” ใช้ในภาษาไทยเป็น “โรคภัย” (โร-คะ-ไพ, โรก-คะ-ไพ) คำนี้ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554
อภิปรายขยายความ :
“โรคภย” มุ่งถึงภัยที่เกิดจากโรคระบาด ที่ระบุในคัมภีร์ก็อย่างเช่น “อหิวาตกโรค” (อะ-หิ-วา-ตะ-กะ-โร-คะ) นักเรียนบาลีแปลกันว่า “โรคลมมีพิษเพียงดังพิษแห่งงู” ในภาษาไทยก็ใช้ทับศัพท์อย่างนี้ แต่อ่านว่า อะ-หิ-วา-ตะ-กะ-โรก
เมืองเวสาลี หรือไพศาลี ที่มีชื่อเสียงในครั้งพุทธกาล ก็เคยเกิดโรคระบาด คนตายกระดูกขาวไปทั้งเมือง พระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรด โรคจึงระงับไป เป็นที่มาของพระสูตรที่ชื่อว่า “รัตนสูตร”
ในคัมภีร์บาลี คำว่า “โรคภย” มักจะมาควบคู่กับ –
“ทุพฺภิกฺขภย” (ทุบ-พิก-ขะ-พะ-ยะ) = ทุพภิกขภัย ภัยที่เกิดจากของแพงและขาดแคลน > ขาดแคลนของใช้ (ถ้ากล่าวเฉพาะทุพภิกขภัยอย่างเดียว หมายถึงขาดแคลนอาหารด้วย)
“ฉาตกภย” (ฉา-ตะ-กะ-พะ-ยะ) = ฉาตกภัย ภัยที่เกิดจากการอดอยาก > ขาดแคลนอาหาร (อาจมีของใช้เพียงพอ แต่ขาดแคลนของกิน)
รวม “โรคภย” เข้าด้วย เป็น 3 ภัย
ในที่บางแห่ง รวมภัยอีก 2 อย่างเข้าด้วย คือ –
“ราชภย” (รา-ชะ-พะ-ยะ) = ราชภัย ภัยที่เกิดจากทางราชการบ้านเมืองกดขี่ขูดรีดประชาชน
“โจรภย” (โจ-ระ-พะ-ยะ) = โจรภัย ภัยที่เกิดจากโจรผู้ร้ายชุกชุม
รวมทั้งหมดเป็น 5 ภัย
ภัยอื่นๆ ก็ยังมีอีก แต่ที่พูดถึงเป็นกลุ่มหรือเป็นชุด มักนิยมระบุภัยทั้ง 5 อย่างนี้
นิทานสั้นท้ายคำ :
ครั้งหนึ่ง ที่ตลาดใหญ่ในเมืองแห่งหนึ่ง ขณะที่ผู้คนกำลังจับจ่ายขายซื้อสินค้ากันอยู่ ก็มีคนตะโกนขึ้นว่า เสือโคร่งหลุดเข้ามาในตลาดเจ้าข้า!
ผู้คนแตกตื่นวิ่งหนีเสือ เหยียบกันตายไปหลายคน บาดเจ็บอีกจำนวนมาก
แต่ไม่มีใครถูกเสือกัดตายเลยสักคนเดียว!
…………..
ดูก่อนภราดา!
: อย่ากลัวภัยจากโรค
: จนลืมระวังภัยจากความกลัว
#บาลีวันละคำ (2,831)
13-3-63