ราชพัสดุ (บาลีวันละคำ 2,232)
ราชพัสดุ
อ่านว่า ราด-ชะ-พัด-สะ-ดุ
ประกอบด้วยคำว่า ราช + พัสดุ
(๑) “ราช”
บาลีอ่านว่า รา-ชะ แปลตามรากศัพท์ว่า –
(1) “ผู้รุ่งเรืองโดยยิ่งเพราะมีเดชานุภาพมาก”
ความหมายนี้ประกอบขึ้นจาก ราชฺ (ธาตุ = รุ่งเรือง) + อ (ปัจจัย) = ราช
หมายความว่า ผู้เป็นพระราชาย่อมมีเดชานุภาพมากกว่าคนทั้งหลาย
(2) “ผู้ยังคนทั้งหลายให้ยินดี”
ความหมายนี้ประกอบขึ้นจาก รญฺชฺ (ธาตุ = ยินดี พอใจ) + ณ (ปัจจัย) ลบ ณ ลบ ญฺ แผลง ร เป็น รา = ราช
หมายความว่า เป็นผู้อำนวยความสุขให้ทวยราษฎร์ จนคนทั้งหลายร้องออกมาว่า “ราชา ราชา” (พอใจ พอใจ)
“ราช” หมายถึง พระราชา, พระเจ้าแผ่นดิน ใช้นำหน้าคำให้มีความหมายว่า เป็นของพระเจ้าแผ่นดิน, เกี่ยวกับพระเจ้าแผ่นดิน หรือเป็นของหลวง
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ราช ๑, ราช– : (คำนาม) พระเจ้าแผ่นดิน, พญา (ใช้แก่สัตว์) เช่น นาคราช คือ พญานาค สีหราช คือ พญาราชสีห์, คํานี้มักใช้ประกอบกับคําอื่น, ถ้าคําเดียวมักใช้ว่า ราชา.”
แต่เดิมผู้ทำหน้าที่ปกครองบ้านเมือง เรียกกันว่า “พระราชา” ความหมายโดยนัยของคำว่า “ราช” ในปัจจุบันจึงหมายถึงผู้ทำหน้าที่บริหารบ้านเมือง ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็น “พระราชา” หรือไม่ก็ตาม
(๒) “พัสดุ”
บาลีเป็น “วตฺถุ” (วัด-ถุ) รากศัพท์มาจาก วสฺ (ธาตุ = อยู่) + รตฺถุ ปัจจัย, ลบ สฺ ที่สุดธาตุ (วสฺ > ว) และ ร ต้นปัจจัย (รตฺถุ > ตฺถุ)
: วสฺ + รตฺถุ = วสฺรตฺถุ > วรตฺถุ > วตฺถุ แปลตามศัพท์ว่า “ที่ตั้งอยู่”
“วตฺถุ” (นปุงสกลิงค์) ในบาลีมีความหมายหลายอย่าง คือ –
(1) วัตถุ, ของจริง, ทรัพย์, สิ่งของ, ของที่เป็นสาระ (object, real thing, property, thing, substance)
(2) แหล่ง, ที่ตั้ง, สนาม, พื้นที่, ที่ดิน (site, ground, field, plot)
(3) มูลฐาน, รากฐาน, ฐานรองรับ, แก่นสาร, ธาตุ (basis, foundation, seat, (objective) substratum, substance, element)
(4) โอกาส, เหตุผล, พื้นฐาน (occasion for, reason, ground)
(5) เนื้อหา, รูปเรื่อง, เรื่องราว, รายงาน (subject matter, subject, story, account)
(6) ข้อ หรือกระทง (ในข้อความ) (object, item)
บาลี “วตฺถุ” สันสกฤตเป็น “วสฺตุ” สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“วสฺตุ : (คำนาม) พัสดุ, วัตถุ, สิ่ง; ภาวะหรือประกฤต, สาระหรือมูลพัสดุ, มูล; มุขยบทแห่งกาพย์หรือนาฏก; matter, substance, thing; nature or essential property, essence or pith; the main subject of a poem or play.”
ในภาษาไทย เราใช้อิงสันสกฤตเป็น “พัสดุ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“พัสดุ : (คำนาม) สิ่งของต่าง ๆ, เครื่องใช้ไม้สอย, ที่ดิน, บ้านเรือน. (ส. วสฺตุ; ป. วตฺถุ).”
ในที่นี้ “พัสดุ” มีความหมายเน้นหนักไปที่-พื้นที่, ที่ดิน (ตามความหมายในบาลีข้อ (2) ข้างต้น)
ราช + วตฺถุ = ราชวตฺถุ แปลว่า “ที่ดินของพระราชา” คือ ที่ดินของหลวง, ที่ดินของทางราชการ
“ราชวตฺถุ” ใช้อิงรูปสันสกฤตเป็น “ราชพัสดุ”
คำว่า “ราชพัสดุ” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554
ขยายความ :
คำว่า “ราชพัสดุ” ที่พูดกันทั่วไปนั้นส่วนใหญ่จะหมายถึง “ที่ดิน” จึงมักพูดควบกันเป็น “ที่ราชพัสดุ”
พระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ.2518 มาตรา 4 กำหนดความหมายหรือ คำจำกัดความของ “ที่ราชพัสดุ” ไว้ดังนี้ –
…………..
มาตรา ๔ ที่ราชพัสดุ หมายความว่า อสังหาริมทรัพย์อันเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินทุกชนิด เว้นแต่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ดังต่อไปนี้
(๑) ที่ดินรกร้างว่างเปล่า และที่ดินซึ่งมีผู้เวนคืนหรือทอดทิ้งหรือกลับมาเป็นของแผ่นดินโดยประการอื่นตามกฎหมายที่ดิน
(๒) อสังหาริมทรัพย์สำหรับพลเมืองใช้หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ของพลเมืองใช้ร่วมกันเป็นต้นว่า ที่ชายตลิ่ง ทางน้ำ ทางหลวง ทะเลสาป
ส่วนอสังหาริมทรัพย์ของรัฐวิสาหกิจที่เป็นนิติบุคคลและขององค์การปกครองท้องถิ่นไม่ถือว่าเป็นที่ราชพัสดุ
…………..
ดูก่อนภราดา!
สพฺพญฺเจ ปฐวึ ทชฺชา
เนว นํ อภิราธเย.
ที่มา: สีลวนาคชาดก เอกนิบาต พระไตรปิฎกเล่ม 27 ข้อ 72
พากย์ไทยสำนวนบาลีวันละคำว่า –
: ยกแผ่นดินให้หมดทั้งโลกหล้า
: ก็ไม่ทำให้คนบ้า (อำนาจ) รู้สึกอิ่มได้เลย
#บาลีวันละคำ (2,232)
23-7-61