บาลีวันละคำ

กล้วย บาลีว่าอย่างไร (บาลีวันละคำ 4,359)

กล้วย บาลีว่าอย่างไร

ไม่ยาก แต่ไม่ถึงกับง่ายเหมือนปอกกล้วยเข้าปาก

ถามว่า “กล้วย” คำบาลีว่าอย่างไร นักเรียนบาลีจะนึกถึงศัพท์ว่า “กทลี” ได้เป็นคำแรก

กทลี” อ่านว่า กะ-ทะ-ลี รากศัพท์มาจาก –

(1) (แทนศัพท์ว่า “วาต” = ลม) + ทลฺ (ธาตุ = ทำลาย) + (อะ) ปัจจัย + อี ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์ 

: + ทลฺ = กทลฺ + = กทล + อี = กทลี แปลตามศัพท์ว่า “ต้นไม้อันลมทำลาย” (คือถูกลมพัดโค่น)

(2) กุ (ตัดมาจาก “กุจฺฉิต” = น่าเกลียด) + ทล (ใบไม้) + อี ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์, แปลง อุ ที่ กุ เป็น อะ (กุ >

: กุ + ทล = กุทล + อี = กุทลี > กทลี แปลตามศัพท์ว่า “ต้นไม้ที่มีใบน่าเกลียดเพราะถูกลมพัดฉีกขาด” 

หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แปล “กทลี” ว่า ต้นกล้วย, ใบกล้วย

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “กทลี” ดังนี้ –

(1) Musa the plantain, Musa sapientium (กล้วยหรือกล้าย, ไม้พันธุ์หนึ่งในสกุล Musa sapientium) 

(2) a flag, banner, i. e. plantain leaves having the appearance of banners (ธง, คือใบกล้วยซึ่งมีรูปเหมือนธงยาว) 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “กทลี” ไว้ด้วย บอกไว้ว่า – 

กทลี : (คำแบบ) (คำนาม) กล้วย. (ป.).”

และคำว่า “กล้วย” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ – 

กล้วย ๑ : (คำนาม) ชื่อไม้ล้มลุกหลายปีในสกุล Musa วงศ์ Musaceae จัดแยกออกได้เป็น ๒ จำพวก จำพวกที่แตกหน่อเป็นกอ ผลสุกเนื้อนุ่ม กินได้ มีหลายชนิดและหลายพันธุ์ เช่น กล้วยนํ้าว้า กล้วยไข่ กล้วยหอม บางชนิดผลสุกเนื้อแข็ง มักเผา ต้ม หรือเชื่อมกิน เช่น กล้วยกล้าย กล้วยหักมุก, จำพวกที่ไม่แตกหน่อเป็นกอ ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด ใบประดับไม่ร่วง เช่น กล้วยนวล กล้วยผา.”

หมายเหตุข้อสงสัย :

คำนิยามของพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ตรงคำว่า “ชื่อไม้ล้มลุกหลายปี” ผู้เขียนบาลีวันละคำอ่านแล้วก็ไม่เข้าใจว่าหมายความว่าอย่างไร 

“ไม้ล้มลุกหลายปี” คือไม้ล้มลุกชนิดไหน?

หรือคำว่า “หลายปี” จะมีความหมายพิเศษว่าอย่างไร?

กลับไปดูพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 คำนิยามตรงนี้บอกไว้ว่า “ชื่อไม้ล้มลุกหลายชนิด” 

อย่างไรกันแน่?

พจนานุกรมฉบับ 2542 บอกว่า “ชื่อไม้ล้มลุกหลายชนิด” 

พจนานุกรมฉบับ 2554 แก้ไขเป็น “ชื่อไม้ล้มลุกหลายปี”

“ชื่อไม้ล้มลุกหลายปี” ดูจากพจนานุกรมฉบับ 2554 ฉบับออนไลน์

ตามไปดูฉบับที่พิมพ์เป็นเล่มกระดาษ ก็เป็น “ชื่อไม้ล้มลุกหลายปี” ตรงกัน 

ถ้าฉบับออนไลน์คัดลอกมาจากฉบับเล่มกระดาษ ก็คือคัดลอกมาถูก หรือถ้าฉบับเล่มกระดาษคัดลอกมาจากฉบับออนไลน์ ก็คือคัดลอกมาถูกเช่นกัน แสดงว่า ไม่ได้พิมพ์ผิด

เว้นไว้แต่จะสันนิษฐานว่า ต้นฉบับที่ออกมาจากคณะกรรมการชำระพจนานุกรมฯ นั่นเองที่พิมพ์ผิด คือต้องการจะบอกว่า “ชื่อไม้ล้มลุกหลาย…” อะไรสักอย่าง ซึ่งอาจจะเป็น “ชื่อไม้ล้มลุกหลายชนิด” ตามฉบับ 2542 นั่นเอง แต่เขียนต้นฉบับพลาดไป กลายเป็น “ชื่อไม้ล้มลุกหลายปี” 

แต่ถ้ายืนยันว่า คำว่า “ชื่อไม้ล้มลุกหลายปี” เป็นคำที่ถูกต้องแล้ว ราชบัณฑิตยสภาก็มีภาระที่จะต้องอธิบายให้ผู้ใช้พจนานุกรมฯ เข้าใจว่า คำว่า “ชื่อไม้ล้มลุกหลายปี” หมายความว่าอย่างไร 

ผู้เขียนบาลีวันละคำเชื่อว่า คนอื่น ๆ ที่ได้อ่านคำนิยามนี้ก็น่าจะไม่เข้าใจเหมือนกับที่ผู้เขียนบาลีวันละคำไม่เข้าใจด้วยเช่นกัน

…………..

นอกจาก “กทลี” แล้ว คำบาลีที่แปลว่า “กล้วย” ยังมีอีก คือคำว่า “โมจ” และ “รมฺภา

โมจ” อ่านว่า โม-จะ แปลตามศัพท์ว่า “พืชที่พ้นจากความเป็นต้นไม้และเครือเถา” หมายความว่า กล้วยนั้นจะว่าเป็นต้นไม้ (รุกฺข) ก็ไม่ใช่ เพราะไม่มีแก่นหรือเนื้อแข็งเหมือนต้นไม้ทั่วไป จะว่าเป็นเครือเถา (วลฺลิ) ก็ไม่ใช่ เพราะไม่ได้แตกออกเป็นกิ่งเป็นเถาเหมือนไม้จำพวกเถาวัลย์ ดังนั้น “กล้วย” จึงมีชื่อว่า “โมจ

รมฺภา” อ่านว่า รำ-พา แปลตามศัพท์ว่า “ผลไม้เป็นที่ยินดี” 

ทั้ง “โมจ” และ “รมฺภา” พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลเป็นอังกฤษว่า a plantain or banana tree

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “รัมภา” ไว้ด้วย บอกไว้ว่า – 

รัมภา : (คำนาม) นางฟ้า; กล้วย. (ป., ส.).”

ขยายความ :

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ บอกไว้ว่า –

(1) เนื่องจากต้นของกล้วยอ่อนนุ่มและไม่มีแก่น จึงถูกใช้บ่อย ๆ เป็นเครื่องหมายของความไม่มีแก่น, ไม่มีสาระและปราศจากคุณค่า (Owing to the softness and unsubstantiality of its trunk it is used as a frequent symbol of unsubstantiality, transitoriness and worthlessness) 

(2) ต้นไม้จำพวกกล้วยหรือกล้ายนี้หลังจากออกผลแล้วจะต้องตายเสมอ จึงใช้เป็นอุปมากับคนเลวซึ่งถูกทำลายโดยผลแห่งกรรมของตน (As the plantain or banana plant always dies down after producing fruit, is destroyed as it were by its own fruit, it is used as a simile for a bad man destroyed by the fruit of his own deeds)

สมดังที่พระไตรปิฎกบอกไว้ว่า –

ผลํ เว กทลึ หนฺติ

ผลํ เว เวฬุํ ผลํ นฬํ

สกฺกาโร กาปุริสํ หนฺติ

คพฺโภ อสฺสตรึ ยถา  ฯ

ผลกล้วยย่อมฆ่าต้นกล้วย

ขุยไผ่ย่อมฆ่าต้นไผ่ ขุยอ้อย่อมฆ่าต้นอ้อ

สักการะย่อมฆ่าคนชั่ว

เหมือนลูกม้าอัสดรฆ่าแม่ฉะนั้น

ที่มา:

– วินัยปิฎก จุลวรรค ภาค 2 พระไตรปิฎกเล่ม 7 ข้อ 360

– สังยุตนิกาย นิทานวรรค พระไตรปิฎกเล่ม 16 ข้อ 591

– อังคุตรนิกาย จตุกนิบาตา พระไตรปิฎกเล่ม 21 ข้อ 68 

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เอาเรื่องเล่นมาทำให้เป็นความดีได้

: แต่อย่าเอาความดีไปทำให้เป็นเรื่องเล่น

#บาลีวันละคำ (4,359)

19-5-67 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *