อโหสิกรรม
อโหสิกรรม
————-
………………………………..
อโหสิ
[อะ-] ก. เลิกแล้วต่อกัน, ยกโทษให้.
อโหสิกรรม
[อะ-] น. กรรมที่เลิกให้ผล; การเลิกแล้วต่อกัน, การไม่เอาโทษแก่กัน. (ป. อโหสิกมฺม).
(พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔)
………………………………..
ในภาษาไทย มักใช้คำว่า “อโหสิกรรม” ในความหมายว่า ขอโทษ หรือยกโทษให้ คือผู้ทำผิดขอให้ตนอย่ามีความผิด อย่าต้องรับโทษ และผู้ถูกละเมิดไม่ติดใจที่จะเอาผิด
ความหมายเช่นว่านี้ ตรงกับคำว่า ขอโทษ หรือขอขมา ซึ่งในแง่ตัวบุคคลสามารถขอโทษและยกโทษให้กันได้
แต่ในทางธรรม เมื่อทำกรรมสำเร็จ จะขอร้องไม่ให้กรรมนั้นให้ผลหาได้ไม่ เพราะเมื่อทำกรรมแล้วกรรมนั้นย่อมให้ผลตามเหตุตามปัจจัยเที่ยงตรงเสมอ
พอจะเทียบได้กับความผิดบางอย่างที่กฎหมายกำหนดไว้ว่ายอมความกันมิได้ แม้ผู้ถูกละเมิดหรือถูกกระทำจะยินยอมไม่เอาความ แต่ผู้รักษากฎหมายก็ต้องดำเนินคดีตามกฎหมายอยู่นั่นเอง
กรณีที่ศาลมีคำพิพากษาลงโทษจำเลย แต่ถ้าไม่มีตัวจำเลยอยู่ เช่นจำเลยเสียชีวิตไปก่อนที่จะรับโทษ โทษตามคำพิพากษานั้นก็เป็นอันระงับไป นี่คือความหมายแง่หนึ่งของ “อโหสิกรรม” ที่พอจะช่วยให้เข้าใจได้ง่ายๆ
……………
ขออภัย-ให้อภัยกันได้
เพราะเป็นกลไกของคุณธรรม
แต่ขออโหสิกรรมกันไม่ได้
เพราะเป็นกลไกของกรรม
……………
เพาะฉะนั้น ก่อนจะทำอะไร คิดให้รอบคอบ และรู้จักยับยั้งชั่งใจให้จงมาก
แต่จะทำเช่นนั้นได้ก็ต้องฝึกหัดไว้ล่วงหน้า จะไปยับยั้งชั่งใจเอาทันทีตอนที่จะลงมือทำนั้นไม่ทันการณ์
คนที่ฝึกยับยั้งชั่งใจไว้เสมอๆ จึงปลอดภัย ไม่ต้องไปขออโหสิกรรมใครพร่ำเพรื่อ หรือมานั่งเสียใจว่า นี่เราทำอะไรลงไป
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๔
๑๑:๑๑
…………………………………