กฐินพระราชทาน
กฐินพระราชทาน
—————
เมื่อวานนี้ (๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๔) ผมไปร่วมอนุโมทนากฐินพระราชทานที่วัดมหาธาตุ ราชบุรี และโดยเสด็จพระราชกุศลตามกำลัง
ได้พบเห็นอะไรๆ หลายอย่าง ก็เลยอยากจะเล่าให้ญาติมิตรทั้งหลายฟัง
……………….
ผมมาอยู่วัดมหาธาตุปี ๒๕๐๖ จำได้ว่า กฐินพระราชทานวัดมหาธาตุไม่เคยมีโฆษกประจำงาน เป็นงานเงียบๆ ซึ่งผมเห็นว่าดี งานกฐินพระราชทานเป็นงานหลวง ควรมีความขรึมขลัง เป็นทางการ
ตอนหลังไม่กี่ปีมานี้เกิดมีความนิยมให้มีการประชาสัมพันธ์ในงาน คือมีเครื่องขยายเสียง มีโฆษก รูปแบบของงานก็ชักเพี้ยนไป
โฆษกบางท่านก็พูดคล่องเกินไป ใครโผล่เข้ามาท่านก็ร้องทักออกอากาศไปหมด ยิ่งเป็นนักการเมืองมาด้วยแล้ว ประชาสัมพันธ์ต้อนรับกันคึกคักมาก-มากกว่าที่เอ่ยถึงผู้ได้รับพระราชทานผ้าพระกฐินเสียด้วยซ้ำ
ปีนี้ก็มีนักการเมืองมาด้วย แล้วก็ถือโอกาสปราศรัยสั้นๆ ด้วย งานกฐินพระราชทานเลยกลายเป็นเวทีหาเสียงย่อยๆ ไป
กาลเทศะหายไปไหนกันหมดก็ไม่ทราบ
……………….
แต่ที่ดีหน่อยก็คือ โฆษกท่านให้ความรู้แก่ผู้มาร่วมอนุโมทนาว่า ถึงตอนที่ประธานสงฆ์ถวายอดิเรก ผู้ร่วมอยู่ในพิธีไม่ต้องประนมมือ
คนไทยเรา เมื่ออยู่ในพิธีที่มีพระสงฆ์สวดบทต่างๆ พอพระสวดก็เป็นต้องประนมมือ อันนี้เป็นสำนึก หรือจะว่าสามัญสำนึกของชาวพุทธก็ว่าได้ นับว่าเป็นกายกรรมที่ดี แต่พอมาถึงบทถวายอดิเรกก็ทำกันเพลินไป เพราะไม่ทันได้สังเกตหรืออาจเป็นเพราะไม่รู้จริงๆ น่าเห็นใจ การช่วยกันให้ความรู้จึงเป็นเรื่องที่ดี
กล่าวเฉพาะงานกฐินพระราชทาน “ถวายอดิเรก” ก็คือประธานสงฆ์ถวายพระพรพิเศษแก่พระมหากษัตริย์ เป็นการถวายพระพรในระหว่างการอนุโมทนา
“อนุโมทนา” ก็คือที่เรารู้จักกันว่า ยะถา-สัพพี
ขั้นตอนก็คือ –
………………………….
ยะถา-ประธานสงฆ์ว่า
สัพพี-พระสงฆ์สวดพร้อมกัน
ผู้อยู่ในพิธีประนมมือ
พอจบคำว่า-อายุ วัณโณ สุขัง พะลัง
ประธานสงฆ์ตั้งพัดยศ กล่าวคำถวายอดิเรกเป็นภาษาบาลี (ประธานสงฆ์กล่าวรูปเดียว) คำขึ้นต้นว่า “อะติเรกะวัสสะสะตัง ชีวะตุ …”
ผู้อยู่ในพิธีไม่ต้องประนมมือ
คำถวายอดิเรกจบลงเป็นภาษาไทยว่า “ขอถวายพระพร”
พระสงฆ์สวดอนุโมทนาพร้อมกันต่อไป
ผู้อยู่ในพิธีประนมมือ
………………………….
ที่พลาดกันมาก-เพราะไม่รู้ ไม่เข้าใจ ไม่ได้ศึกษาสำเหนียก-ก็คือ เมื่อประธานสงฆ์กล่าวคำถวายอดิเรก ผู้อยู่ในพิธีก็ยังคงประนมมืออยู่นั่นเอง
ถวายอดิเรกคือถวายพระพรพิเศษเฉพาะพระมหากษัตริย์
ดังนั้น ผู้ที่ไม่ใช่พระมหากษัตริย์จึงไม่ต้องประนมมือรับพร
หลักง่ายๆ มีแค่นี้
บางท่านใช้เทคนิคการจำแบบพลทหารไม่รู้หนังสือ
กล่าวคือ บทไหนพระสวดพร้อมกัน ประนมมือ
บทไหนพระสวดองค์เดียว ไม่ต้องประนมมือ
……………….
ที่หายใจไม่ทั่วท้องอีกตอนหนึ่งก็คือ ตอนกล่าวคำถวายผ้าพระกฐิน
คำถวายผ้าพระกฐินพระราชทานนั้นเป็นภาษาไทย ไม่ใช่ อิมัง ภันเต สะปะริวารัง กะฐินะจีวะระทุสสัง … เหมือนคำถวายกฐินราษฎร์ทั่วไป
คำถวายผ้าพระกฐินพระราชทานเป็นข้อความตามแบบแผน มีบทให้อ่าน ต้องกล่าวไปตามนั้น ข้อสำคัญคือต้องออกเสียงแต่ละคำให้ถูกต้อง
………………………….
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
ผ้าพระกฐินทานกับทั้งผ้าอานิสงสบริวารทั้งปวงนี้ ของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ กอปรด้วยพระราชศรัทธา โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานให้ … น้อมนำมาถวายแด่พระสงฆ์ ซึ่งจำพรรษากาลถ้วนไตรมาส ในอาวาสวิหารนี้ ขอพระสงฆ์จงรับ ผ้าพระกฐินทานนี้ กระทำกฐินัตถารกิจ ตามพระบรมพุทธานุญาตนั้น เทอญ”
………………………….
คำที่ต้องอ่านให้ถูก –
………………………….
ผ้า-พฺระ-กะ-ถิน-นะ-ทาน-กับ-ทั้ง-ผ้า-อา-นิ-สง-สะ-บอ-ริ-วาน-…
… พระ-บาด-สม-เด็ด-พระ-ปะ-ระ-เมน-ทะ-ระ-รา-มา-ทิบ-บอ-ดี-สี-สิน-ทระ-มะ-หา-วะ-ชิ-รา-ลง-กอน มะ-หิ-สอน-พู-มิ-พน-ราด-ชะ-วะ-ราง-กูน กิ-ติ-สิ-หริ-สม-บูน-อะ-ดุน-ยะ-เดด สะ-หยาม-มิน-ทรา-ทิ-เบด-ราด-วะ-โร-ดม บอ-รม-มะ-นาด-ถะ-บอ-พิด-พระ-วะ-ชิ-ระ-เกล้า-เจ้า-อยู่-หัว
… กอบ-ด้วย-พระ-ราด-ชะ-สัด-ทา…
… ใน-อา-วาด-สะ-วิ-หาน-นี้
… กระ-ทำ-กะ-ถิ-นัด-ถา-ระ-กิด-ตาม-พระ-บอ-รม-มะ-พุท-ธา-นุ-ยาด-นั้น-เทิน
………………………….
กองทัพเรือเป็นหน่วยราชการหนึ่งที่ขอรับพระราชทานผ้าพระกฐินไปถวาย ณ พระอารามหลวงที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับที่ตั้งกองบัญชาการกองทัพเรือทุกปี
สมัยที่ยังรับราชการอยู่ เวลาผู้บัญชาการทหารเรือซึ่งเป็นประธานอ่านคำถวายผ้าพระกฐิน ผมเป็นต้องหายใจไม่ทั่วท้องทุกที กลัวท่านจะอ่านผิด แล้วก็เคยมีอ่านพลาดจริงๆ ด้วย
สมัยนั้น ผมเคยเสนอขออนุญาตให้ผู้บัญชาการทหารเรือซ้อมอ่านให้อนุศาสนาจารย์ฟังก่อน จะได้ช่วยกันติติง
ไม่ใช่อะไร เราก็อยากให้นายเราสง่างามในท่ามกลางประชุมชน
แต่ชะรอยว่าผู้บัญชาการทหารเรือแต่ละท่าน-ท่านมั่นใจในตัวเองอยู่แล้ว ข้อเสนอของผมจึงเป็นอันตกไป
……………….
มีอยู่ปีหนึ่ง ธนาคาร UOB ขอรับพระราชทานผ้าพระกฐินมาถวายวัดมหาธาตุ ประธานในพิธีกล่าวคำถวายผ้าพระกฐินพระราชทานชัดถ้อยชัดคำ ออกเสียงถูกต้องทุกคำ ผมฟังแล้วนึกว่าเป็นคนไทย
ที่ไหนได้ เป็นคนสิงคโปร์ พูดไทยไม่ได้
ผมแอบไปดูคำอ่านที่ติดไว้บนผ้าไตร ปรากฏว่าเป็นคำที่เขียนแบบที่เราเรียกกันว่าภาษาคาราโอเกะ แสดงว่าต้องฝึกซ้อมมาเป็นอย่างดี น่าอนุโมทนายิ่งนัก
……………….
อีกจุดหนึ่งที่เรามักจะผิดพลาด ก็คือชอบพูดว่า “ขอเชิญร่วมเป็นเจ้าภาพ”
พระอารามหลวงนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ พูดภาษาชาวบ้าน กฐินของพระอารามหลวงนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นเจ้าภาพ บางพระอารามเสด็จพระราชดำเนินไปทรงถวายด้วยพระองค์เอง บางพระอารามมีผู้ขอรับพระราชทานไปถวาย ผู้ขอรับพระราชทานจึงไม่ได้อยู่ฐานะเป็นเจ้าภาพเหมือนเจ้าภาพกฐินวัดราษฎร์ทั่วไป
กิจทั้งปวงที่ไปร่วมกันทำในงานกฐินพระราชทาน เช่นการบริจาคเงิน จึงต้องเรียกว่า “โดยเสด็จพระราชกุศล” ไม่ใช่ “ร่วมเป็นเจ้าภาพ”
……………….
ทั้งหลายทั้งปวงนี้เป็นวัฒนธรรมของชาติ เป็นระเบียบแบบแผน เป็นความดีงามตามวัฒนธรรมไทย
ถ้าการมองสิ่งเหล่านี้ว่าเป็นวัฒนธรรมศักดินา เป็นสิทธิเสรีภาพที่จะมอง
การมองสิ่งเหล่านี้ว่าเป็นวัฒนธรรมไทยที่ดีงาม ก็เป็นสิทธิเสรีภาพที่จะมองด้วยเช่นกัน
………………………………………
https://www.m-culture.go.th/lampang/images/File/63/ebook%20KT.pdf
………………………………………
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๔
๑๘:๒๙
………………………………………