บาลีวันละคำ

ธรรมวัตร (บาลีวันละคำ 3,438)

ธรรมวัตร

ไม่ใช่ “ทำวัตร

อ่านว่า ทำ-มะ-วัด

ประกอบด้วยคำว่า ธรรม + วัตร

(๑) “ธรรม” 

บาลีเป็น “ธมฺม” อ่านว่า ทำ-มะ รากศัพท์มาจาก ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + รมฺม (ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (ธรฺ > ) และ ต้นปัจจัย (รมฺม > มฺม)

: ธรฺ > + รมฺม > มฺม : + มฺม = ธมฺม แปลตามศัพท์ว่า “สภาพที่ทรงไว้

ธมฺม” มีความหมายหลายหลาก ดังต่อไปนี้ –

สภาพที่ทรงไว้, ธรรมดา, ธรรมชาติ, สภาวธรรม, สัจธรรม, ความจริง; เหตุ, ต้นเหตุ; สิ่ง, ปรากฏการณ์, ธรรมารมณ์, สิ่งที่ใจคิด; คุณธรรม, ความดี, ความถูกต้อง, ความประพฤติชอบ; หลักการ, แบบแผน, ธรรมเนียม, หน้าที่; ความชอบ, ความยุติธรรม; พระธรรม, คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าซึ่งแสดงธรรมให้เปิดเผยปรากฏขึ้น

บาลี “ธมฺม” สันสกฤตเป็น “ธรฺม” เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น “ธรรม

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “ธรรม” ไว้ดังนี้ –

(1) คุณความดี เช่น เป็นคนมีธรรมะ เป็นคนมีศีลมีธรรม

(2) คําสั่งสอนในศาสนา เช่น แสดงธรรม ฟังธรรม ธรรมะของพระพุทธเจ้า

(3) หลักประพฤติปฏิบัติในศาสนา เช่น ปฏิบัติธรรม ประพฤติธรรม

(4) ความจริง เช่น ได้ดวงตาเห็นธรรม

(5) ความยุติธรรม, ความถูกต้อง, เช่น ความเป็นธรรมในสังคม

(6) กฎ, กฎเกณฑ์, เช่น ธรรมะแห่งหมู่คณะ

(7) กฎหมาย เช่น ธรรมะระหว่างประเทศ

(8 ) สิ่งของ เช่น เครื่องไทยธรรม

ในที่นี้ใช้ตามรูปสันสกฤตเป็น “ธรรม” ความหมายเน้นหนักตามข้อ (1) ถึง (6)

(๒) “วัตร” 

(ก) บาลีเป็น “วตฺต” (วัด-ตะ) รากศัพท์มาจาก วตฺตฺ (ธาตุ = ถือเอา, ประพฤติ) + (อะ) ปัจจัย

: วตฺต + = วตฺต แปลตามศัพท์ว่า “ข้อที่ควรถือประพฤติ

(ข) บาลีเป็น “วต” (วะ-ตะ) รากศัพท์มาจาก –

(1) วตฺ (ธาตุ = เป็นไป) + (อะ) ปัจจัย

: วตฺ + = วต แปลตามศัพท์ว่า “การที่เป็นไปตามปกติ

(2) วชฺ (ธาตุ = ปรุงแต่ง, กระทำ) + (อะ) ปัจจัย, แปลง เป็น

: วชฺ > วต + = วต แปลตามศัพท์ว่า “การอันเขาปรุงแต่ง

วตฺต” หรือ “วต” (นปุงสกลิงค์) หมายถึงกิจที่ควรถือประพฤติ, กิจพึงกระทำ, ข้อปฏิบัติ, ความประพฤติ, ธรรมเนียม, ประเพณี, สิ่งที่ทำ, หน้าที่, การบริการ, ประเพณี, งาน (observance, vow, virtue, that which is done, which goes on or is customary, duty, service, custom, function)

วตฺต” หรือ “วต” ใช้ในภาษาไทยเป็น “วัตร” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

วัตร, วัตร– : (คำนาม)  กิจพึงกระทำ เช่น ทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็น, หน้าที่ เช่น ข้อวัตรปฏิบัติ, ธรรมเนียม เช่น ศีลาจารวัตร; ความประพฤติ เช่น พระราชจริยวัตร, การปฏิบัติ เช่น ธุดงควัตร อุปัชฌายวัตร, การจำศีล. (ป. วตฺต; ส. วฺฤตฺต).”

ธรรม + วัตร = ธรรมวัตร (ทำ-มะ-วัด) แปลตามศัพท์ว่า “ข้อปฏิบัติแห่งธรรม” 

อภิปรายขยายความ :

ที่แปล “ธรรมวัตร” ว่า “ข้อปฏิบัติแห่งธรรม” นั้น เป็นการแปลตามรูปศัพท์เท่าที่ตาเห็น แต่ความหมายของคำว่า “ธรรมวัตร” ที่ใช้อยู่ในภาษาไทยไม่ได้แปลเช่นนั้น

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ธรรมวัตร : (คำนาม) ลักษณะเทศน์ทํานองธรรมดาอย่างหนึ่งที่แสดงอยู่ทั่วไป ไม่ใช่ทํานองแบบเทศน์มหาชาติ.” 

ธรรมวัตร” ถ้าแปลงกลับเป็นบาลีก็จะเป็น “ธมฺมวตฺต” (ทำ-มะ-วัด-ตะ) ตรวจดูในคัมภีร์ ยังไม่พบรูปศัพท์เช่นนี้ จึงน่าสันนิษฐานว่า “ธรรมวัตร” เป็นคำที่ไทยเราคิดขึ้นใช้เอง และให้ความหมายตามประสงค์ของเรา

ธรรมวัตร” อ่านว่า ทำ-มะ-วัด ไม่ใช่ ทำ-วัด ถ้าอ่านว่า ทำ-วัด จะชวนให้เข้าใจไปว่าเป็น “ทำวัตร” ซึ่งเป็นคนละคำกัน

คำว่า “ทำวัตร” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –

ทำวัตร : (คำกริยา) กระทํากิจที่พึงกระทําตามหน้าที่หรือธรรมเนียมเช่นไหว้พระสวดมนต์เช้าคํ่าของพุทธบริษัท, ทําวัตรพระ ก็ว่า; ทําสามีจิกรรมตามธรรมเนียมของพระเณร.”

ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับปรุงคำนิยามเป็นดังนี้ –

ทำวัตร : (คำกริยา) กระทํากิจที่พึงกระทําตามหน้าที่หรือธรรมเนียมเช่นไหว้พระสวดมนต์เช้าคํ่าของพุทธบริษัท, ทําวัตรพระ ก็ว่า; ทําสามีจิกรรมตามธรรมเนียมของพระภิกษุ เช่น ก่อนเข้าพรรษาพระภิกษุต้องไปทำวัตรพระอุปัชฌาย์ที่อยู่ต่างจังหวัด.”

ความหมายอย่างหนึ่งของ “ทำวัตร” ตามคำนิยามของพจนานุกรมฯ ก็คือ “ทําสามีจิกรรม” เป็นอันว่า “ทำวัตร” กับ “ทําสามีจิกรรม” มีความหมายอย่างเดียวกัน แต่ “ทำวัตร” ยังหมายถึง “กระทํากิจที่พึงกระทําตามหน้าที่หรือธรรมเนียมเช่นไหว้พระสวดมนต์” อีกด้วย แต่การกระทํากิจที่พึงกระทําตามหน้าที่หรือธรรมเนียมเช่นไหว้พระสวดมนต์ไม่เรียกว่า “ทําสามีจิกรรม” “ทำวัตร” จึงมีความหมายกว้างกว่า “ทําสามีจิกรรม”

“ทําสามีจิกรรม” คือทำอะไร พึงหาความรู้ต่อไป

แต่พึงระวังไว้ว่า “ทำวัตร” หรือ “ทําสามีจิกรรม” เป็นคนละคำ คนละความหมายกับ “ธรรมวัตร

ทำวัตร” – “ทําสามีจิกรรม” คือทำกิจที่ควรทำ

ส่วน “ธรรมวัตร” (ทำ-มะ-วัด) เป็นท่วงทำนองการแสดงธรรมแบบหนึ่ง

คำว่า “ธรรมวัตร” เป็นประจักษ์พยานทางภาษาอีกคำหนึ่งที่ยืนยันว่า บรรพบุรุษของเราท่านเคารพธรรม และเห็นความสำคัญของการแสดงธรรมว่า จะต้องมีระเบียบแบบแผนและอยู่ในกรอบขอบเขตที่ถูกต้องดีงาม

…………..

ดูก่อนภราดา!

: อิสระที่ไร้กรอบขอบเขต

: คือสาเหตุที่ทำให้สิ้นอิสระ

#บาลีวันละคำ (3,438)

10-11-64

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *