บาลีวันละคำ

อมรพิมานมณี (บาลีวันละคำ 2444)

อมรพิมานมณี

…………..

ในพระบรมมหาราชวังมีพระที่นั่งหมู่หนึ่ง ตั้งชื่อคล้องจองกันอย่างไพเราะเพราะพริ้งนับได้ถึง 10 ชื่อ ดังนี้ –

(1) มูลสถานบรมอาสน์

(2) สมมติเทวราชอุปบัติ

(3) ดำรงสวัสดิ์อนัญวงศ์

(4) นิพัทธพงศ์ถาวรวิจิตร

(5) บรมราชสถิตยมโหฬาร

(6) อมรพิมานมณี

(7) สุทธาศรีอภิรมย์

(8) บรรณาคมสรนี

(9) ปรีดีราชวโรทัย

(10) เทพดนัยนันทยากร

ผู้เขียนบาลีวันละคำขอนำชื่อพระที่นั่งแต่ละองค์มาแยกศัพท์และแปลสู่กันฟังตามสติปัญญา เพื่อเป็นอลังการทางภาษาและเป็นเครื่องประเทืองปัญญาตามสมควร

อนึ่ง พึงทราบว่า ชื่อพระที่นั่งเหล่านี้เป็นวิสามานยาม (proper name) การแยกศัพท์และแปลจึงกระทำไปเท่าที่ตาเห็น ซึ่งอาจคลาดเคลื่อนไปจากเจตนาของผู้ตั้งชื่อก็เป็นได้

อีกประการหนึ่ง ขอบเขตของบาลีวันละคำมีเพียงแค่แยกศัพท์และแปลความหมายเท่านั้น มิได้แสดงรายละเอียดอื่นๆ ของพระที่นั่งแต่ละองค์ประกอบไว้ด้วย

ดังนั้น หากญาติมิตรท่านใดมีข้อมูลที่แตกต่างไปจากที่แสดงไว้ก็ดี มีรายละเอียดอื่นๆ เกี่ยวกับพระที่นั่งแต่ละองค์ก็ดี หากจะกรุณานำมาร่วมเสนอไว้เพื่อบูรณาการองค์ความรู้ ก็จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง

…………..

อมรพิมานมณี” อ่านตามหลักภาษาว่า อะ-มะ-ระ-พิ-มาน-นะ-มะ-นี ซึ่งก็ยังรับสัมผัสกับคำอื่นได้ แต่อ่านเช่นนี้ฟังดูออกจะขรุขระ ถ้าอ่านเอาสัมผัสรื่นไหล ก็ควรจะอ่านว่า อะ-มอน-พิ-มาน-มะ-นี

อมรพิมานมณี” แยกศัพท์เป็น อมร + พิมาน + มณี

(๑) “อมร

บาลีอ่านว่า อะ-มะ-ระ รากศัพท์มาจาก (คำอุปสรรค = ไม่, ไม่ใช่) + มรฺ (ธาตุ = ตาย) + ปัจจัย, แปลง เป็น

: + มรฺ = นมร + = นมร > อมร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ไม่มีความตาย

อมร” ในภาษาบาลี ถ้าเป็นคำนาม (ปุงลิงค์) หมายถึง เทวดา, เทพเจ้า; เทพยดา, พระเจ้า (divinity; divine being, deity) ถ้าเป็นคุณศัพท์หมายถึง ไม่เสื่อมสูญ, ไม่ตาย (not mortal, not subject to death)

บาลี “อมร” สันสกฤตก็เป็น “อมร” เหมือนกัน

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

อมร : (คำนาม) เทพดา, ผู้ไม่ตาย; ปรอท; วิมานของพระอินทร์; เสาเรือน; อุทร; สายสะดือ; หญ้าแพรก; a deity; an immortal; quicksilver; the residence of Indra; a house post; the womb; the umbilical cord or navel-string; bent grass; – ค. ไม่ตาย; immortal.”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อมร, อมร– : (คำนาม) ผู้ไม่ตาย, เทวดา. (คำวิเศษณ์) ไม่ตาย, ไม่เสื่อมสูญ, ยั่งยืน. (ป., ส.).”

(๒) “พิมาน

บาลีเป็น “วิมาน” อ่านว่า วิ-มา-นะ รากศัพท์มาจาก –

(1) วิ (แทนศัพท์ “วิห” = อากาศ) + มา (ธาตุ = ไป) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)

: วิ + มา = วิมา + ยุ > อน = วิมาน (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นเครื่องเดินทางไปในอากาศของพวกเทวดา”

(2) วิ (คำอุปสรรค = พิเศษ) + มา (ธาตุ = กะ, ประมาณ; นับ, นับถือ; รัก, ปรารถนา) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน

: วิ + มา = วิมา + ยุ > อน = วิมาน แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “ที่อันกรรมกะกำหนดโดยพิเศษ”

(2) “ที่อันกรรมที่ประพฤติดีแล้วเนรมิตให้โดยพิเศษ

(3) “ที่อันกรรมเนรมิตไว้โดยมีสัณฐานเหมือนนก” (คือล่องลอยอยู่บนฟ้า)

(4) “ที่อันพึงปรารถนาโดยพิเศษ

(5) “ที่อันนับถือกันว่าวิเศษสุดเพราะประกอบด้วยความงดงามอย่างวิเศษ

วิมาน” (นปุงสกลิงค์) ในบาลีมีความหมาย 2 อย่าง คือ –

(1) “รถ” อย่างเก่าในฐานเป็นยานของเทพยดาซึ่งขับขี่ไปได้ตามใจ (the old ratha [ = conveyance, carriage, vehicle] as chariot of the gods, to be driven at will)

(2) ปราสาทบนสวรรค์, แดนสวรรค์, แดนสุขาวดี (heavenly magic palace, a kind of paradise, Elysium)

วิมาน” ในภาษาไทยอ่านว่า วิ-มาน พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

วิมาน : (คำนาม) ที่อยู่หรือที่ประทับของเทวดา; ยานทิพย์. (ป., ส.).”

วิมาน” แผลง เป็น ตามหลักนิยมในภาษาไทย จึงเป็น “พิมาน

คำว่า “พิมาน” พจนานุกรมฯ บอกไว้ว่า –

พิมาน : (คำนาม) ที่อยู่หรือที่ประทับของเทวดา. (ป., ส. วิมาน).”

โปรดสังเกตว่า ตามพจนานุกรมฯ “วิมาน” กับ “พิมาน” หมายถึง “ที่อยู่หรือที่ประทับของเทวดา” เหมือนกัน “วิมาน” ยังหมายถึง “ยานทิพย์” อีกด้วย แต่ “พิมาน” ไม่ได้หมายถึง “ยานทิพย์

(๓) “มณี

บาลีเป็น “มณิ” (ภาษาไทยสระ อี บาลีสระ อิ แต่ที่เป็น “มณี” เหมือนในภาษาไทยก็มีบ้าง) รากศัพท์มาจาก –

(1) มนฺ (ธาตุ = รู้, พินาศ) + อิ ปัจจัย, แปลง เป็น

: มนฺ + อิ = มนิ > มณิ แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่ให้รู้ถึงความมีค่ามาก” (หมายถึงเป็นของที่มีค่ามาก) (2) “สิ่งที่ยังความมืดให้พินาศไป” (ธรรมชาติของมณีจะมีแสงในตัว)

(2) มา (ธาตุ = นับถือ) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แปลง เป็น , ลบ อา ที่ธาตุ (มา > ) + อิ ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: มา > + ยุ > อน = มน + อิ = มนิ > มณิ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เป็นเหตุให้นับถือเครื่องอาภรณ์” (หมายถึงทำให้เครื่องประดับมีคุณค่า)

มณิ” หรือ “มณี” ในบาลีใช้ในความหมายว่า –

(1) รัตนะ, เพชรพลอย (a gem, jewel)

(2) แก้วผลึกที่ใช้เป็นแก้วสำหรับจุดไฟจากแสงอาทิตย์ (a crystal used as burning-glass)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

มณี : (คำนาม) แก้วหินมีค่าสีแดง ในจําพวกนพรัตน์ มักหมายถึงทับทิม. (ป., ส. มณิ).”

การประสมคำ :

(๑) อมร + พิมาน = อมรพิมาน แปลว่า “วิมานของเทวดา

(๒) อมรพิมาน + มณี = อมรพิมานมณี แปลว่า “วิมานของเทวดาอันงดงามดังดวงมณี

อมรพิมานมณี” เป็นพระวิมานที่บรรทม (ห้องพระบรรทม) ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถ้ามนุษย์มีอมรธรรม-คือหิริโอตตัปปะ-ประจำสันดาน

: โลกสันนิวาสก็สุขสราญดั่งพิมานมณี

#บาลีวันละคำ (2,444)

20-2-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *