คิดอย่างไรถ้าสอบตก
คิดอย่างไรถ้าสอบตก
———————-
…………..
ส่วนที่หนึ่ง
…………..
พรุ่งนี้ (๑๔ มีนาคม ๒๕๖๓) คณะสงฆ์ก็จะตรวจข้อสอบบาลีสิ้นเสร็จและประกาศผล
กระผมขอแสดงความยินดีล่วงหน้ากับพระภิกษุสามเณรและผู้สอบบาลีศึกษาทุกรูปทุกท่านที่สอบได้
แล้วถ้าสอบตก ท่านจะคิดอย่างไร?
คงยากมากที่จะไม่ใจตกวูบวาบ ใจเสีย เสียใจ
โดยเฉพาะท่านที่วาดหวังเต็มที่ว่าจะสอบได้
……………………
ผมก็เคยสอบตกครับ
หลักของผมเวลาทำข้อสอบก็คือ
๑ พอกรรมการวางข้อสอบตรงหน้า ผมไม่อ่านทันที แต่จะเริ่มเจริญพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ ๑ จบ
๒ แล้วอ่านข้อสอบ แบบอ่านตะลุยไปเรื่อยๆ จนจบ อ่านเที่ยวแรกนี้ มืด ๘๐%
๓ วางข้อสอบลง เจริญพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ อีก ๑ จบ
๔ แล้วลงมืออ่านข้อสอบใหม่ อ่านเที่ยวสองนี้ สว่าง ๘๐%
๕ ลงมือทำข้อสอบในใจ สมมุติว่าเป็นวิชาแปล ก็ลงมือแปลในใจ ประโยคนี้แปลอย่างนี้ ศัพท์นี้แปลอย่างนี้ แปลในใจไปจนจบ ประโยคไหนแปลไม่ได้ ศัพท์ไหนแปลไม่ได้ ขีดเส้นใต้ไว้ ข้ามไปก่อน
๖ แปลในใจ ร่างคำตอบในใจในส่วนที่สามารถตอบได้แน่ จบแล้ว เริ่มจัดการกับส่วนที่ยังแปลไม่ได้ ค่อยๆ แกะ ค่อยๆ แซะไปเรื่อยๆ
ข้อ ๑-๖ นี้ ใช้เวลาประมาณ ๑ ชั่วโมง +
๗ แล้วลงมือเขียนคำตอบตามที่ร่างไว้ในใจ เขียนไป ปรับแก้ไปด้วย ใช้เวลาประมาณ ๒ ชั่วโมง +
๘ เหลือเวลาอีก ๑ ชั่วโมง – ตรวจสอบความเรียบร้อย อ้อยอิ่งกับการเติมหัวต่อหาง เน้นจุดล่างจุดบน
๙ ลุกจากโต๊ะเมื่อกรรมการประกาศหมดเวลา ส่งใบตอบ
ผมไม่เคยส่งใบตอบก่อนกรรมการประกาศหมดเวลา ไม่ว่าสอบประโยคไหน
ผ่านด้วยดีทุกประโยค
สอบประโยค ป.ธ.๙ ครั้งแรกปี ๒๕๑๔ ผมปฏิบัติตามแผนที่วางไว้ทุกประการ
แต่เชื่อหรือไม่ กรรมการประกาศหมดเวลา ผมเพิ่งเริ่มลงมือตรวจความเรียบร้อยของใบตอบ เดินไปส่งใบตอบด้วย ตรวจความเรียบร้อยไปด้วย เหงื่อชุ่มจีวร
รู้ผลด้วยตัวเองตั้งแต่ส่งใบตอบ
ประกาศผลสอบของแม่กองบาลีสนามหลวงเป็นแต่เพียงคำยืนยันเท่านั้น
แล้วผมเป็นไง?
ก็ฉันข้าวไม่อร่อยไป ๓ วัน
ครูบาอาจารย์ท่านปลอบใจด้วยคำคมที่ยังจำได้จนทุกวันนี้
“มหาสอบไม่เคยตกเลย ก็ตกเสียมั่งสิ”
ฮ่า ฮ่า ฮ่า
แล้วผมก็ลงมือทบทวนวิชาตั้งแต่ต้น เพื่อเตรียมตัวสอบปีต่อไป คือในอีก ๑๐ เดือนข้างหน้า
เอามาเล่าบอกตอนนี้มีประโยชน์อะไร?
มีประโยชน์สำหรับเตรียมตัวสอบใหม่ปีหน้าไงขอรับ
…………..
ส่วนที่สอง
…………..
เพราะเราเรียนบาลีในระบบ “ทำข้อสอบ ประกาศผลสอบ” และถูกครอบงำด้วยระบบนี้มานาน เราจึงตกอยู่ใต้อิทธิพลของการ “สอบได้-สอบตก” และคิดไม่เป็นเห็นไม่ได้กับการเรียนบาลีในระบบใช้งานจริง
โปรดลองคิดเทียบกับเรื่องแบบนี้ดู –
เรียนหมอ ด้วยวิธีฝึกสอนให้รักษาโรค จากโรคเบาไปหาโรคหนัก รักษาโรคหาย จบหมอ
เรียนช่างยนต์ ด้วยวิธีฝึกสอนให้ซ่อมรถ ซ่อมรถเป็น แก้เครื่องเป็น จบช่างยนต์
เรียนคหกรรม ด้วยวิธีฝึกสอนให้ทำอาหาร ทำกับข้าว ทำขนม ตัดเสื้อ เย็บผ้า ทำกับข้าวเป็น ตัดเสื้อเป็น จบคหกรรม
เรียนบาลี ด้วยวิธีฝึกสอนให้รู้ไวยากรณ์ รู้หลักภาษา แล้วค้นคว้าคัมภีร์ แก้ปัญหาเกี่ยวกับธรรมวินัย ค้นได้ ค้นเป็น สะสางปัญหาเกี่ยวกับพระธรรมวินัยได้ถูกต้อง จบบาลี
เวลานี้ อุปมาเหมือน —
จบหมอกันเยอะแยะ แต่ในโรงพยาบาลไม่มีหมอ ไม่มีพยาบาล คนป่วยเต็มโรงพยาบาล
จบช่างยนต์กันเยอะแยะ แต่ในอู่ไม่มีช่างซ่อมรถ รถเสียรอซ่อมจอดล้นอู่
จบคหกรรมกันเยอะแยะ แต่ในครัวไม่มีคนหุงข้าว ไม่มีคนทำกับข้าว คนหิวนั่งรอกินเต็มบ้านเต็มร้าน
จบบาลีกันเยอะแยะ แต่เมื่อมีปัญหาเกี่ยวกับพระธรรมคำสอน เกี่ยวกับหลักพระวินัย ทั้งในคณะสงฆ์เอง ทั้งในหมู่ประชาชน ไม่มีใครค้นคว้าหลักพระธรรมวินัยที่ถูกต้องมาตอบ มาแก้ไข
ถ้ารักษาโรคเป็น รักษาไข้หายได้จริง จะกลัวอะไรกับการไม่ได้เรียนจบหมอ
ถ้าซ่อมรถเป็น แก้เครื่องยนต์ได้ จะกลัวอะไรกับการไม่ได้จบช่างยนต์
ถ้าหุงข้าวทำกับข้าวได้ ตัดเย็บเสื้อผ้าเป็น จะกลัวอะไรกับการไม่ได้จบคหกรรม
ถ้าค้นคว้าคัมภีร์ได้ วินิจฉัยหลักพระธรรมวินัยเป็น จะกลัวอะไรกับการสอบตก หรือไม่ได้เป็น “ประโยค ๙”?
แต่ก็-นั่นแหละ คงยากมากและอีกนานหนักหนา หรืออาจไม่มีวัน-ที่เราจะเป็นอิสระจากอิทธิพลการเรียนบาลีเพื่อสอบได้-ไปสู่การเรียนบาลีเพื่อใช้งาน
ดังนั้น พรุ่งนี้-(๑๔ มีนาคม ๒๕๖๓)-วันประกาศผลสอบบาลี ก็จะต้องมีทั้งคนดีใจที่สอบได้และคนเสียใจที่สอบตก
แต่คนที่จะมาทำงานค้นคว้าคัมภีร์ได้ วินิจฉัยหลักพระธรรมวินัยเป็น ก็คงมีเท่าเดิม – คือมีเปอร์เซ็นต์เป็น ๐ เหมือนเดิม
พรุ่งนี้ ถ้าสอบตก ก็อย่าเพิ่งหมดกำลังใจ
ในขณะที่มีผู้ชื่นชมกับคนที่สอบได้นั้น
ก็โปรดมั่นใจเถิดว่า-ตู้พระไตรปิฎก ไม่เคยรังเกียจคนสอบตกนะขอรับ
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๑๓ มีนาคม ๒๕๖๓
๑๒:๑๘