พระพุทธเจ้าของเรา ออกพระนามว่าอย่างไร
พระพุทธเจ้าของเรา ออกพระนามว่าอย่างไร
———————————
เมื่อวาน (๑๑ มีนาคม ๒๕๖๓) ผมอ่านเฟซบุ๊กเจอโพสต์ของ “เพื่อน” ท่านหนึ่ง ท่านพูดเรื่อง “ไม่มีศาสนาไหนเป็นวิทยาศาสตร์” แล้วก็พูดถึง “วิชาในโลกนี้พอจะแบ่งได้ ๕ ประเภท” แจกแจงรายชื่อ “วิชา” ทั้ง ๕ หนึ่งในนั้นคือ “เดรัจฉานวิชชา” แล้วท่านก็พูดถึงคำว่า “เดรัจฉาน”
ผมติดใจหลายคำ คือน่าสนใจดี แต่มีคำหนึ่งที่จะขอยกมาคุยสู่กันอ่าน
ความตอนหนึ่งที่ท่านเขียน ว่าดังนี้ –
……………
… เดรัจฉาน มาจากติรัจฉาน เป็นคำนามรูปธรรม เดิมทีเอาไว้เรียกสัตว์อันมีลักษณะการเคลื่อนที่โดยลำตัวขนานพื้น (มนุษย์ลำตัวตั้งฉากกับพื้นเมื่อเคลื่อนที่) แต่ต่อมาถูกเอามาใช้เป็นคำคุณศัพท์ (adjective) โดยพระพุทธเจ้าสิทธัตถะ มีความหมายว่า “ขวาง” …
……………
ผมติดใจคำว่า “พระพุทธเจ้าสิทธัตถะ” ก็เลยเอามาตั้งเป็นหัวข้อเรื่องว่า-พระพุทธเจ้าของเรา ออกพระนามว่าอย่างไร
ต้องปูพื้นกันไปตั้งแต่-ผู้ที่เราเรียกว่า “พระพุทธเจ้า” นั้น เคยมีมาแล้วหลายพระองค์ในอดีตกาล
ตัวเลขที่รู้กันก็คือ ๒๙ พระองค์
แต่นี่เป็นตัวเลขรวม หมายถึง –
พระพุทธเจ้าที่ทรงประกาศพระศาสนา และศาสนาของพระองค์สูญสิ้นไปแล้วมี ๒๗ พระองค์
พระพุทธเจ้าที่ทรงประกาศพระศาสนา และศาสนาของพระองค์ยังดำรงอยู่ ๑ พระองค์ คือพระพุทธเจ้าของเราพระองค์นี้เป็นองค์ที่ ๒๘
พระพุทธเจ้าที่จะมาตรัสรู้ในอนาคตกาล ๑ พระองค์ เป็นองค์ที่ ๒๙ คือที่คนไทยนิยมเรียกกันว่า “พระศรีอารย์” หรือพระนามเป็นทางการว่า “พระเมตไตรย” อ่านว่า เมด-ไตฺร คำบาลีว่า “เมตฺเตยฺย” อ่านว่า เมด-เต็ย-ยะ
พระพุทธเจ้าในอดีต ๒๗ พระองค์นั้น ที่มีประวัติบันทึกไว้ในคัมภีร์มีตั้งแต่พระองค์ที่ ๔ ส่วนพระองค์ที่ ๑-๒-๓ ระบุไว้แต่พระนาม คือ
๑ พระตัณหังกร
๒ พระเมธังกร
๓ พระสรณังกร
ทั้ง ๓ พระองค์นี้ไม่มีประวัติรายละเอียดใดๆ ตรวจดูในอรรถกถา ท่านก็ไม่ได้แสดงประวัติไว้เลย เป็นแต่ระบุพระนามไว้เฉยๆ ทุกแห่งไป
ต่อจากพระสรณังกร ก็มาถึงพระทีปังกร เป็นพระองค์ที่ ๔
คัมภีร์พุทธวงศ์เมื่อแสดงประวัติพระพุทธเจ้าจึงนับพระทีปังกรเป็นพระองค์ที่ ๑
พระพุทธเจ้าเรียงลำดับตามคัมภีร์พุทธวงศ์ (พระไตรปิฎกเล่ม ๓๓ ข้อ ๒-๒๖) มีดังนี้ –
(พระตัณหังกร
พระเมธังกร
พระสรณังกร)
๑ พระทีปังกร
๒ พระโกณฑัญญะ
๓ พระมังคละ
๔ พระสุมนะ
๕ พระเรวตะ
๖ พระโสภิตะ
๗ พระอโนมทัสสี
๘ พระปทุมะ
๙ พระนารทะ
๑๐ พระปทุมุตตระ
๑๑ พระสุเมธะ
๑๒ พระสุชาตะ
๑๓ พระปิยทัสสี
๑๔ พระอัตถทัสสี
๑๕ พระธัมมทัสสี
๑๖ พระสิทธัตถะ
๑๗ พระติสสะ
๑๘ พระปุสสะ
๑๙ พระวิปัสสี
๒๐ พระสิขี
๒๑ พระเวสสภู
๒๒ พระกกุสันธะ
๒๓ พระโกนาคมนะ
๒๔ พระกัสสปะ
๒๕ พระโคตมะ
……………
ทีนี้ย้อนไปดูข้อความที่ผมยกมาข้างต้น ที่บอกว่า “… แต่ต่อมาถูกเอามาใช้เป็นคำคุณศัพท์ (adjective) โดยพระพุทธเจ้าสิทธัตถะ …”
คำว่า “พระพุทธเจ้าสิทธัตถะ” ในข้อความนี้ ท่านผู้เขียนย่อมหมายถึงพระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบัน
เป็นที่มาของประเด็น – พระพุทธเจ้าของเราพระองค์ปัจจุบัน ออกพระนามว่าอย่างไร
ท่านผู้เขียนข้อความนั้นออกพระนามว่า “พระพุทธเจ้าสิทธัตถะ”
แต่รายชื่อพระนามพระพุทธเจ้าตามคัมภีร์พุทธวงศ์พระองค์ที่ ๒๕ คือพระองค์ปัจจุบัน ออกพระนามว่า “พระโคตมะ”
คำบาลีในคัมภีร์ต้นฉบับใช้คำว่า “โคตมพุทฺธวํโส” แปลว่า “วงศ์แห่งพระพุทธเจ้าโคตมะ”
คัมภีร์พุทธวงศ์ (พระไตรปิฎกเล่ม ๓๓ ข้อ ๒ หน้า ๔๔๒) มีข้อความเป็นคำตรัสพยากรณ์ของพระทีปังกรพุทธเจ้าว่า –
อิมสฺส ชนิกา มาตา
มายา นาม ภวิสฺสติ
ปิตา สุทฺโธทโน นาม
อยํ เหสฺสติ โคตโม.
มารดาผู้ให้กำเนิดท่านผู้นี้
จักมีนามว่า มายา
บิดามีนามว่า สุทโธทนะ
ท่านผู้นี้จักมีนามว่า โคตมะ
………
คัมภีร์อปทาน ตอนสารีปุตตเถราปทาน พระไตรปิฎกเล่ม ๓๒ ข้อ ๓ หน้า ๓๓ มีข้อความที่พระสารีบุตรเล่าว่า ในสมัยพระอโนมทัสสีพุทธเจ้า (ลำดับที่ ๗) ท่านตั้งความปรารถนาเป็นพระอัครสาวกของพระพุทธเจ้าในอนาคตสักพระองค์หนึ่ง พระอโนมทัสสีพุทธเจ้าตรัสพยากรณ์ว่าจะสำเร็จในศาสนาพระโคตมพุทธเจ้า
คำตรัสพยากรณ์ตอนหนึ่งว่า –
อปริเมยฺเย อิโต กปฺเป
โอกฺกากกุลสมฺภโว
โคตโม นาม โคตฺเตน
สตฺถา โลเก ภวิสฺสติ.
ในกัปอันนับประมาณมิได้แต่กัปนี้ไป
ท่านผู้สมภพในสกุลพระเจ้าโอกกากะ
มีนามโคตรว่า โคตมะ
จักเป็นพระศาสดาในโลก
……………
เป็นอันยืนยันได้ตามหลักฐานว่า พระพุทธเจ้าของเราพระองค์นี้มีพระนามว่า “โคตมะ”
คำที่เรียกกันทั่วไปคือ พระโคตมพุทธเจ้า พระโคตมะ พระโคดม ศาสนาของพระโคดม
ไม่ใช่ “พระพุทธเจ้าสิทธัตถะ”
คำว่า “สิทธัตถะ” เป็นพระนามที่เรียกขานในหมู่พระญาติ
ถ้าพูดให้เข้าใจง่ายขึ้น –
“สิทธัตถะ” เป็น “ชื่อ”
“โคตมะ” เป็น “นามสกุล”
วัฒนธรรมการเรียกชื่อของชาวชมพูทวีป ถ้าเรียกอย่างเป็นทางการ หรือเรียกให้ถูกแบบแผน เขานิยมเรียกนามสกุล ไม่เรียกชื่อ
คำว่า พระโคตมะ หรือพระโคดม จึงเป็นพระนามอย่างเป็นกลางๆ เรียกขานในหมู่ประชาชนทั่วไป
แต่ในหมู่พุทธบริษัทก็มีวัฒนธรรมละเอียดออกไปอีก คือจะไม่ออกพระนามโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นชื่อ (สิทธัตถะ) หรือนามสกุล (โคตมะ) (ยกเว้นกรณีแถลงเรื่องหรือบรรยายความอย่างเป็นกลางๆ) แต่จะเรียกขานด้วยพระคุณนาม
พระคุณนามสามัญที่พุทธบริษัททั่วไปเรียกขานก็คือ
ภควา = พระผู้มีพระภาค
สตฺถา = พระศาสดา, พระบรมศาสดา
พุทฺโธ = พระพุทธเจ้า
ที่ติดปากมากที่สุดในหมู่ชาวไทยก็คือ “พระพุทธเจ้า” ที่มาจากคำว่า “พุทฺโธ”
กรณีอย่างนี้เทียบได้กับวัฒนธรรมการเรียกพ่อแม่ของคนไทย
สมมุติว่าพ่อผมชื่อ “วิชัย”
คนทั่วไปย่อมเรียกพ่อผมว่า “คุณวิชัย” หรือ “นายวิชัย”
ถ้าผมเรียกพ่อผมว่า “คุณวิชัย” หรือ “นายวิชัย” ก็คงแปลกพิลึก
ในคัมภีร์จะพบได้ทั่วไปที่บุคคลภายนอกหรือบุคคลที่ไม่ได้นับถือพระพุทธศาสนา เรียกพระพุทธเจ้าด้วยคำว่า “สมโณ โคตโม” = พระสมณะโคดม
แต่ไม่ปรากฏว่าพุทธบริษัทเรียกพระพุทธเจ้าด้วยคำนี้
………………….
อ่านมาถึงนี่ ญาติมิตรบางท่านอาจรู้สึกว่า เรื่องแค่นี้ พูดเสียยืดยาว น่ารำคาญ
สำหรับผมแล้ว ทุกเรื่องเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาเป็นเรื่องสำคัญ ไม่มีเรื่องไหนเป็น “เรื่องแค่นี้”
แม้เพียงแค่การออกพระนาม ถ้าไม่ศึกษา ไม่เรียนรู้ ไม่สำเหนียก เราก็อาจทำอะไรที่ไม่เหมาะไม่ควรไปโดยไม่รู้ตัว
พอใครเตือน ก็เลี่ยงไปว่า “เรื่องแค่นี้”
คำว่า “โดยไม่รู้ตัว” นี่แหละสำคัญนัก
พอๆ กับคำว่า “รู้เท่าไม่ถึงการณ์” นั่นเลย
ถ้าคนพูดก็ไม่รู้ตัว คนอ่านคนฟังก็ไม่รู้ตัว ก็ยิ่งไปกันใหญ่
ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับพระธรรมวินัยคือหลักคำสั่งสอนในพระพุทธศาสนา ก็ยิ่งอันตราย
การทำอะไรไปโดยไม่รู้ตัว ก็เท่ากับช่วยกันทำให้พระศาสนาวิบัติโดยไม่รู้ตัวนั่นเอง
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๑๒ มีนาคม ๒๕๖๓
๑๖:๒๙
…………………………….
…………………………….