บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

คำถามอันตราย

คำถามอันตราย

—————

มีคำถามครับ 

ฟังโจทย์ก่อน

๑ พระภิกษุรูปหนึ่ง รับเงิน จับเงิน ใช้เงิน ซึ่งเป็นการผิดต่อพระวินัย แต่ท่านมีจิตใจเอื้ออารี ช่วยเหลือเกื้อกูลชาวบ้าน รับอุปการะเด็ก ส่งเสียให้ศึกษาเล่าเรียนเป็นจำนวนมาก 

๒ พระภิกษุอีกรูปหนึ่ง ไม่รับเงิน ไม่จับเงิน อันเป็นการปฏิบัติตรงต่อพระธรรมวินัย แต่เป็นพระใจจืดใจดำ ไม่เอื้อเฟื้อเกื้อกูลใครทั้งสิ้น

ถามว่า ท่านคิดว่าชาวบ้านสมัยใหม่ทั่วไปจะนิยมชมชื่นพระภิกษุรูปไหน? 

………………..

แน่นอนครับ ผมว่าแทบจะร้อยทั้งร้อยนิยมชมชอบพระภิกษุที่ช่วยเหลือเกื้อกูลชาวบ้าน พร้อมกันนั้นก็รังเกียจพระที่ใจจืดใจดำ 

ถ้าให้เลือก-เหมือนเลือกผู้แทน พระภิกษุที่ช่วยเหลือเกื้อกูลชาวบ้านจะได้รับเลือกด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น 

จบ

แต่เรื่องยังไม่ควรจบง่ายๆ แบบนั้น

เพราะคำถามข้างต้นเป็นคำถามลวงความรู้สึก-แบบชี้นำ

คนตอบจะเพ่งเฉพาะความใจดีกับความใจดำอันเป็นจุดที่ผู้ตั้งคำถามต้องการจะให้มอง 

แต่สิ่งที่ผู้ตั้งคำถามซ่อนคมดาบไว้ก็คือ พระภิกษุกับหลักพระธรรมวินัย 

นั่นก็คือ-พร้อมๆ กับที่ผู้คนชื่นชมพระภิกษุที่ช่วยเหลือเกื้อกูลชาวบ้านเขาก็จะมองไม่เห็นความสำคัญที่พระภิกษุจะต้องปฏิบัติตามพระธรรมวินัย ซึ่งก็คือมองไม่เห็นโทษภัยของการละเมิดพระธรรมวินัย หรืออาจจะถึงกับมองเห็นการละเมิดพระธรรมวินัยเป็นความดีด้วยซ้ำไป เพราะมีความรู้สึกชื่นชมต่อพระที่ช่วยเหลือเกื้อกูลชาวบ้านเป็นแรงจูงใจ

และพร้อมกันนั้นเอง เขาจะไม่เพียงดูถูกดูแคลนพระที่ใจจืดใจดำ แต่จะพลอยดูเบาต่อพระธรรมวินัยไปด้วย ชวนให้รู้สึกว่าปฏิบัติตามพระธรรมวินัยแล้วไม่เห็นจะดีอะไร เพราะมีความรู้สึกดูถูกพระที่ใจจืดใจดำเป็นแรงจูงใจเช่นเดียวกัน

………………..

ถ้าเรามีสติรอบคอบ เราก็จะไม่ถูกหลอกให้มองจุดหนึ่ง แต่ลืมมองอีกจุดหนึ่ง นั่นคือ มัวชื่นชมการช่วยเหลือเกื้อกูลชาวบ้านจนลืมรังเกียจการละเมิดพระธรรมวินัย 

หรือรังเกียจความใจจืดใจดำจนลืมชื่นชมการปฏิบัติซื่อตรงต่อพระธรรมวินัย 

กล่าวให้ชัดลงไปก็คือ ความช่วยเหลือเกื้อกูลชาวบ้านเป็นความดีจริง แต่การปฏิบัติซื่อตรงต่อพระธรรมวินัยก็เป็นความดีจริงเช่นกัน 

และโดยนัยกลับกัน การปฏิบัติซื่อตรงต่อพระธรรมวินัยเป็นความดีจริง แต่ความช่วยเหลือเกื้อกูลชาวบ้านก็เป็นความดีจริงเหมือนกัน 

ดังนี้ เราก็จะมองเห็นความสำคัญของทั้งสองสิ่ง ไม่ใช่ชื่นชมสิ่งหนึ่ง แต่รังเกียจอีกสิ่งหนึ่ง-เหมือนกับที่ผู้ตั้งโจทย์ตั้งใจให้เรามอง 

และดังนี้ เราก็จะรักษาไว้ได้ทั้งสองสิ่ง ไม่ใช่มุ่งจะเอาสิ่งหนึ่ง แต่ขว้างทิ้งอีกสิ่งหนึ่ง-เหมือนกับที่ผู้ตั้งโจทย์ตั้งใจให้เราทำ 

หลักคำสอนพื้นฐานเรื่องเบญจศีลเบญจธรรม-ถ้าเราไม่ลืมกันเสียหมด-จะเป็นแนวเทียบแนวคิดที่ให้สติเราได้เป็นอย่างดี 

เบญจศีลเบญจธรรมบอกไว้ชัดๆ ว่า จะเอาแต่ศีลอย่างเดียวไม่ได้ ต้องประพฤติธรรมด้วย และจะประพฤติแต่ธรรมอย่างเดียวก็ไม่ได้ ต้องรักษาศีลด้วย ฉันใด

จะเอาดีทางเอื้อเฟื้อเกื้อกูลชาวบ้านอย่างเดียวไม่ได้ ต้องเอื้อเฟื้อต่อพระธรรมวินัยด้วย และจะมุ่งแต่รักษาพระธรรมวินัยอย่างเดียวก็ไม่ได้ ต้องรักษาน้ำใจชาวบ้านด้วย 

ถ้าชื่นชมพระที่ช่วยเหลือชาวบ้าน ก็ต้องชื่นชมพระที่รักษาพระธรรมวินัยด้วย 

และถ้ารังเกียจพระที่ใจจืดใจดำ ก็ควรจะต้องรังเกียจพระที่ละเลยพระธรรมวินัยด้วยเช่นกัน 

……………….

แต่เมื่อจะพูดกันให้ถึงที่สุดแล้ว ก็ต้องถามกันตรงๆ ว่า จะเป็นนักสังคมสงเคราะห์หรือจะเป็นพระ?

ถ้าจะเป็นนักสังคมสงเคราะห์ ก็ไม่จำเป็นจะต้องเป็นพระ นักสังคมสงเคราะห์ที่ไม่ใช่พระมีอยู่มากมาย มากกว่าพระเสียอีก

แต่ถ้าจะเป็นพระ ก็จำเป็นจะต้องรักษาพระธรรมวินัย เพราะพระธรรมวินัยเป็นเครื่องตัดสินความเป็นพระ

พระไม่จำเป็นต้องเป็นนักสังคมสงเคราะห์ 

นักสังคมสงเคราะห์ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นพระ

สำหรับชาวบ้าน ถ้าอยากได้พระที่เป็นนักสังคมสงเคราะห์ ก็ต้องสนับสนุนให้ท่านรักษาพระธรรมวินัยเป็นอันดับแรก เราจึงจะได้ “พระ” 

ต่อจากนั้นก็สนับสนุนให้พระเป็นนักสังคมสงเคราะห์อย่างที่เราต้องการ 

จะมัวชื่นชมความเป็นนักสังคมสงเคราะห์ของท่านจนลืมมองไปที่การรักษาพระธรรมวินัย เราก็จะได้ “นักสังคมสงเคราะห์” 

แต่ไม่ได้ “พระ” 

คำถามก็จะวนกลับไปที่เดิม คือ เราอยากได้พระ หรืออยากได้นักสังคมสงเคราะห์ 

ถ้าอยากได้พระ ก็ต้องสนับสนุนให้ท่านรักษาพระธรรมวินัย เพราะพระธรรมวินัยเป็นเครื่องตัดสินความเป็นพระ

ถ้าอยากได้นักสังคมสงเคราะห์ ก็ไม่จำเป็นต้องให้ท่านเป็นพระ ก็คือให้ท่านออกจากพระ ไปเป็นนักสังคมสงเคราะห์เต็มตัว 

แต่ถ้าอยากได้พระที่เป็นนักสังคมสงเคราะห์ พร้อมๆ ไปกับอยากได้นักสังคมสงเคราะห์ที่เป็นพระ ก็ต้องสนับสนุนให้ท่านรักษาพระธรรมวินัย และสนับสนุนให้ท่านมีจิตใจที่เอื้อเฟื้อเกื้อกูลไปพร้อมๆ กันด้วย 

คราวนี้จบได้ 

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒ กันยายน ๒๕๖๒

๑๑:๒๖

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *