บาลีวันละคำ

โยนิโสมนสิการ (บาลีวันละคำ 1,045)

โยนิโสมนสิการ

ศัพท์วิชาการพระพุทธศาสนา

อ่านว่า โย-นิ-โส-มะ-นะ-สิ-กาน

ประกอบด้วย โยนิโส + มนสิการ

(๑) “โยนิโส” ประกอบด้วย โยนิ + โส ปัจจัย (โดย-, ตาม-)

โยนิ” (โย-นิ) แปลได้หลาย คือ :

1) มดลูก (the womb)

2) กำเนิด, ช่องคลอด, โยนี, อาณาจักรแห่งความเป็นอยู่; ธรรมชาติ, บ่อเกิด (origin, way of birth, place of birth, realm of existence; nature, matrix)

3) ความละเอียดหรือปรีชา, ความรู้, ญาณ (thoroughness, knowledge, insight)

โยนิ + โส = โยนิโส แปลตามศัพท์ว่า “โดยต้นกำเนิด” (down to its origin or foundation) หมายถึง ละเอียด, ทั่วถึง, มีระเบียบ, อย่างฉลาดหรือสุขุม, อย่างถูกต้องหรือสมควร, โดยแยบคาย (thoroughly, orderly, wisely, properly, judiciously)

(๒) “มนสิการ” ประกอบด้วย มนสิ + การ

1) “มนสิ” (มะ-นะ-สิ) คำเดิมคือ มน (มะ-นะ, = ใจ) + สฺมึ (อ่านว่า สะหฺมิง, – ออกเสียงครึ่งเสียง) วิภัตตินามที่ 7 (มีคำแปลว่า ใน, ใกล้, ที่, ครั้นเมื่อ, ในเพราะ), แปลง สฺมึ เป็น อิ, ลง อาคม

: มน + = มนส + สฺมึ > อิ = มนสิ แปลว่า “ในใจ

2) “การ” (บาลีอ่านว่า กา-ระ) รากศัพท์คือ กรฺ (ธาตุ = ทำ) + ปัจจัย, ลบ , ยืดเสียง อะ ที่ -(ร) เป็น อา

: กรฺ + = กร > การ แปลว่า การกระทำ, งาน, สิ่งหรือเรื่องที่ทํา

มนสิ + การ ตามกฎทั่วไปต้องลบ สิ ออก เหลือแต่ มน = มนการ หรือ มนกฺการ แต่เฉพาะคำนี้ใช้กฎการสมาสที่เรียกว่า “อลุตตสมาส” (อะ-ลุด-ตะ-สะ-หฺมาด) คือ “ไม่ลบวิภัตติ” ดังนั้น : มนสิ + การ = มนสิการ แปลว่า “การทำไว้ในใจ

โยนิโส + มนสิการ = โยนิโสมนสิการ

คำนี้บาลีนิยมเขียนแยกกันเป็น 2 คำ คือ โยนิโส คำหนึ่ง มนสิการ อีกคำหนึ่ง แต่ภาไทยใช้รวมเป็นคำเดียวกัน

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

(1) โยนิโส : (คำวิเศษณ์) โดยแยบคาย, โดยถ่องแท้; ตั้งแต่ต้น; โดยตลอด. (ป.).

(2) โยนิโสมนสิการ : (คำนาม) การพิจารณาโดยแยบคาย. (คำกริยา) เข้าใจตั้งแต่ต้น, เข้าใจโดยตลอด. (ป.).

ความหมายของ “โยนิโสมนสิการ” ตามที่มีผู้แปลไว้มีดังนี้ :

(1) การมนสิการโดยอุบายอันแยบคายหรือโดยทั่วถึง (fixing one’s attention with a purpose or thoroughly)

(2) การทำไว้ในใจโดยเหมาะสม (proper attention)

(3) การทำไว้ในใจโดยแยบคาย (having thorough method in one’s thought)

(4) ปรีชาญาณที่ถูกต้องและแท้จริง (the right & true insight)

(5) ความเอาใจใส่อย่างมีกฎเกณฑ์หรือมีระเบียบ (systematized attention)

(6) ความเข้าใจถึงรากเหง้า (radical grasp)

คำที่ตรงกันข้าม คือ “อโยนิโสมนสิการ” = ความตั้งใจอย่างไม่มีระเบียบหรือวอกแวก (disorderly or distracted attention)

ขอนำคำอธิบายความหมายของ “โยนิโสมนสิการ” จากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต มาเสนอไว้ ณ ที่นี้เพื่อเจริญปัญญาดังต่อไปนี้ :

โยนิโสมนสิการ (การใช้ความคิดถูกวิธี คือ การทำในใจโดยแยบคาย มองสิ่งทั้งหลายด้วยความคิดพิจารณาสืบค้นถึงต้นเค้า สาวหาเหตุผลจนตลอดสาย แยกแยะออกพิเคราะห์ดูด้วยปัญญาที่คิดเป็นระเบียบและโดยอุบายวิธี ให้เห็นสิ่งนั้นๆ หรือปัญหานั้นๆ ตามสภาวะและตามความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย —

Yonisomanasikāra: reasoned attention; systematic attention; analytical thinking; critical reflection; thinking in terms of specific conditionality; thinking by way of causal relations or by way of problem-solving)

ข้อนี้เป็นองค์ประกอบภายใน (internal factor; personal factor) และเป็นฝ่ายปัญญา (a factor belonging to the category of insight or wisdom)

“ภิกษุทั้งหลาย เมื่อดวงอาทิตย์อุทัยอยู่ ย่อมมีแสงอรุณขึ้นมาก่อน เป็นบุพนิมิต ฉันใด ความถึงพร้อมด้วยโยนิโสมนสิการ ก็เป็นตัวนำ เป็นบุพนิมิต แห่งการเกิดขึ้นของอารยอัษฎางคิกมรรค แก่ภิกษุ ฉันนั้น”

“เราไม่เล็งเห็นองค์ประกอบภายในอื่นแม้สักอย่างเดียว ที่มีประโยชน์มาก สำหรับภิกษุผู้เป็นเสขะ เหมือนโยนิโสมนสิการ ภิกษุผู้มีโยนิโสมนสิการ ย่อมกำจัดอกุศลได้ และย่อมยังกุศลให้เกิดขึ้น”

“เราไม่เล็งเห็นธรรมอื่น แม้สักข้อหนึ่ง ซึ่งเป็นเหตุให้สัมมาทิฐิที่ยังไม่เกิด ก็เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้ว ก็เจริญยิ่งขึ้น เหมือนโยนิโสมนสิการเลย”

“เราไม่เล็งเห็นธรรมอื่น แม้สักข้อหนึ่ง ซึ่งจะเป็นเหตุให้ความสงสัยที่ยังไม่เกิด ก็ไม่เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วก็ถูกขจัดเสียได้ เหมือนโยนิโสมนสิการเลย”

“โยนิโสมนสิการ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ยิ่งใหญ่, เพื่อความดำรงมั่น ไม่เสื่อมสูญ ไม่อันตรธานแห่งสัทธรรม”

(พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ข้อ [2])

………..

: พลั้งเผลอไปบ้างในการทำชอบ

: ยังน่ารักกว่ารอบคอบในการทำชั่ว

29-3-58

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย