บาลีวันละคำ

สันนิษฐาน (บาลีวันละคำ 290)

สันนิษฐาน

ในภาษาบาลีมีคำว่า “สนฺนิฏฺฐาน” (สัน-นิด-ถา-นะ) รูปคำและเสียงลงรอยกับกับ “สันนิษฐาน” คือ ฏฐ บาลี เป็น ษฐ ในสันสกฤต “สนฺนิฏฺฐาน” บาลี เขียนแบบไทยอิงสันสกฤตจึงเป็น “สันนิษฐาน” (สัน-นิด-ถาน) แต่ความหมายตรงกันข้าม

สนฺนิฏฺฐาน” ประกอบด้วย สํ (พร้อมกัน) + นิ (ลง) + ฐา (ธาตุ = หยุด) + ยุ (ปัจจัย แปลงเป็น “อน”) : สํ + นิ + ฐา + อน = สนฺนิฏฺฐาน แปลตามศัพท์ว่า “การหยุดลงพร้อมกัน

ขอให้นึกถึงภาพหมู่คน หรือรถ หรืออะไรก็ตาม ที่เคลื่อนไหวสับสนวุ่นวาย แล้วอยู่ๆ ก็ “หยุดลงพร้อมกัน” นั่นแหละคือความหมายของ “สนฺนิฏฺฐาน” คือ ข้อยุติ, การสรุปความ, การตกลงใจ, การลงมติ, การลงความเห็นเป็นที่สุด, ข้อยุติที่แน่นอน

แต่ในภาษาไทย “สันนิษฐาน” หมายถึง ลงความเห็นเป็นการคาดคะเนไว้ก่อน

สรุปว่า :

– “สันนิษฐาน” ไทย = ตกลงใจไม่แน่นอน

– “สนฺนิฏฺฐาน” บาลี = ตกลงใจแน่นอน

สรุปว่า : ความไม่แน่นอนคือความแน่นอน

บาลีวันละคำ (290)

23-2-56

สนฺนิฏฺฐาน (บาลี-อังกฤษ)

– ข้อยุติ, การสรุปความ

– การตกลงใจ, การลงมติ

– การสอบถามให้แน่, ข้อยุติที่แน่นอน, ความเชื่อ (conviction)

นิฏฺฐา (บาลี-อังกฤษ)

อวสาน, การจบลง, การสิ้นสุด, ความสำเร็จ, ความสมบูรณ์, ยอดสูง, สุดยอด, วัตถุประสงค์, ความมุ่งหมาย

นิฏฺฐํ คจฺฉติ ถึงที่สุด = ถึงความสำเร็จ, สมบูรณ์ในความเชื่อถือ

สนฺนิฏฺฐาน นป.(พจนานุกรมศัพท์บาลี)

ความตกลงใจ, ลงความเห็นในที่สุด; ไทยใช้ในความหมายว่า ลงความเห็นเป็นการคาดคะเนไว้ก่อน

สันนิษฐาน

 [-นิด-] ก. ลงความเห็นเป็นการคาดคะเนไว้ก่อน. (ป. สนฺนิฏฐาน ว่า ลงความเห็นในที่สุด).

ดูโพสในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย