ดุษฎีบัณฑิต (บาลีวันละคำ 1,538)
ดุษฎีบัณฑิต
อ่านว่า ดุด-สะ-ดี-บัน-ดิด
ประกอบด้วย ดุษฎี + บัณฑิต
(๑) “ดุษฎี”
บาลีเป็น “ตุฏฺฐิ” (ตุด-ถิ) รากศัพท์มาจาก ตุสฺ (ธาตุ = ยินดี) + ติ ปัจจัย, แปลง สต (คือ –ส ที่ ตุสฺ กับ ต ที่ ติ ปัจจัย) เป็น ฏฺฐ
: ตุสฺ + ติ = ตุสติ (สต > ฏฺฐ) > ตุฏฺฐิ (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะเป็นเหตุยินดี” หมายถึง ความชื่นชม, ความรื่นเริง, ความบันเทิง (pleasure, joy, enjoyment)
“ตุฏฺฐิ” สันสกฤตเป็น “ตุษฺฏิ”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
“ตุษฺฏิ : (คำนาม) ‘ดุษฎี,’ ปรีติ, อภิลาษ, ความปลื้มใจ, ความพอใจ, ความยินดียิ่งในสิ่งที่พึงได้; มาตฤหรือเทพมารดาองค์หนึ่ง; pleasure, satisfaction, gratification, content, extreme satisfaction or delight in the thing possessed or obtained; one of the Mātris or divine mothers.”
ตุฏฺฐิ > ตุษฺฏิ ภาษไทยใช้อิงสันสกฤตเป็น “ดุษฎี”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ดุษฎี : (คำนาม) ความยินดี, ความชื่นชม. (ส. ตุษฺฏิ; ป. ตฏุฐิ).”
(๒) “บัณฑิต”
บาลีเป็น “ปณฺฑิต” (ปัน-ดิ-ตะ) มีรากศัพท์มาได้หลายทาง เช่น :
1) ปณฺฑา ( = ปัญญา) + อิต ( = ไป, ดำเนินไป, เกิดขึ้นพร้อม) ลบสระ อา ที่ ปณฺฑา (ปณฺฑา > ปณฺฑ)
: ปณฺฑา > ปณฺฑ + อิต = ปณฺฑิต แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้ดำเนินชีวิตด้วยปัญญา” (2) “ผู้มีปัญญาเกิดพร้อมแล้ว”
2) ปฑิ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + ต ปัจจัย, ลงนิคหิตอาคมที่ต้นธาตุ คือ ป-แล้วแปลงเป็น ณ (ปฑิ > ปํฑิ > ปณฺฑิ)
: ปฑิ > ปํฑิ > ปณฺฑิ + ต = ปณฺฑิต แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ดำเนินไปสู่ความเป็นผู้ฉลาด”
3) ปณฺฑ (ธาตุ = รู้) + ต ปัจจัย, อิ อาคมท้ายธาตุ (ปณฺฑ + อิ)
: ปณฺฑ + อิ = ปณฺฑิ + ต = ปณฺฑิต แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รู้จักประโยชน์และมิใช่ประโยชน์”
ความหมายของ “ปณฺฑิต” (ปุงลิงค์) ในบาลีคือ สุขุม, ไตร่ตรอง, รอบรู้, ฉลาด, รู้ทัน, จัดเจน, หลักแหลม, รอบคอบ, ระมัดระวัง, ถี่ถ้วน, ชำนิชำนาญ, ช่ำชอง, ว่องไว, คล่องแคล่ว, มีความสามารถ, มีไหวพริบ, รู้จักคิด, รู้จักเหตุผล = รู้จักผิดชอบชั่วดีควรไม่ควร
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปณฺฑิต” เป็นอังกฤษว่า wise, clever, skilled, circumspect, intelligent
“ปณฺฑิต” ในภาษาไทยใช้ว่า “บัณฑิต”
พจน.54 บอกไว้ว่า –
“บัณฑิต : (คำนาม) ผู้ทรงความรู้, ผู้มีปัญญา, นักปราชญ์, ผู้สําเร็จการศึกษาขั้นปริญญาซึ่งมี ๓ ขั้น คือ ปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก เรียกว่า บัณฑิต มหาบัณฑิต ดุษฎีบัณฑิต, ผู้มีความสามารถเป็นพิเศษโดยกําเนิด เช่น คนนี้เป็นบัณฑิตในทางเล่นดนตรี. (ป., ส. ปณฺฑิต)”
ความหมายเดิมแท้ของ “บัณฑิต” ก็คือ ผู้มีสติปัญญา รู้จักผิดชอบชั่วดี เว้นชั่ว ประพฤติดีได้ด้วยตนเองและสามารถแนะนำสั่งสอนผู้อื่นให้ทำเช่นนั้นได้ด้วย
ดุษฎี + บัณฑิต = ดุษฎีบัณฑิต แปลเอาความตามศัพท์ว่า “บัณฑิตผู้ควรแก่การชื่นชมยินดี”
“ดุษฎีบัณฑิต” เป็นคำที่บัญญัติขึ้นใช้ในภาษาไทย ไม่มีรูปศัพท์ “ตุฏฺฐิปณฺฑิต” เช่นนี้ในคัมภีร์
พจน.54 บอกไว้ว่า –
“ดุษฎีบัณฑิต : (คำนาม) ปริญญาเอก; ผู้ได้รับปริญญาเอก.”
คนไทยนิยมเรียกผู้ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตตามคำฝรั่งว่า “ดอกเตอร์”
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล doctor ในความหมายนี้เป็นบาลีว่า –
(1) bahussuta พหุสฺสุต (พะ-หุด-สุ-ตะ) = พหูสูต, ผู้คงแก่เรียน
(2) paṇḍita ปณฺฑิต (ปัน-ดิ-ตะ) คำเดียวกับ “บัณฑิต” ที่เราใช้กันในภาษาไทย เพียงแต่ไม่มี “ตุฏฺฐิ – ดุษฎี” เข้ามานำหน้า
: ถ้ายังยินดีในเรื่องผิดๆ
: ก็ย่อมไม่ใช่บัณฑิตที่ควรแก่การชื่นชมยินดี
20-8-59