บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

หน้าที่ของฉัน

เมื่อคืนก่อน (๑๙ กรกฎาคม ๒๕๖๒) ผมนั่งค้นคว้า คิด เขียน ทำการบ้าน จนเกือบสี่ทุ่ม พระคุณท่านพระมหาสุนันท์ ดร. ผู้เป็นกัลยาณมิตรก็สั่งการบ้านด่วนมาเรื่องหนึ่ง-เพิ่มจำนวนการบ้านที่ท่วมหัวอยู่แล้ว 

พระคุณท่านถามว่า คำว่า “อนุปปันนบัญญัติ” หมายความว่ากระไร จงอธิบาย

ค้นสิขอรับ-ผมไม่ได้บอกพระคุณท่าน

แต่สั่งตัวเอง 

ค้นไป ๆ เก็บเกี่ยวความรู้รายทางเรื่อยไป 

ความคิดก็เกิด …..

……………….

เมื่อวันก่อน ท่านผู้หวังดีท่านหนึ่งบ่นเรื่องพระไตรปิฎกแปลเป็นไทยแล้วก็ยังอ่านไม่รู้เรื่อง 

ยกตัวอย่างคำว่า “อพฺยากตา ธมฺมา” พระไตรปิฎกแปลว่า “ธรรมทั้งหลายที่เป็นอัพยากฤต” 

ท่านบอกว่า แปลแบบนี้ใครจะไปรู้เรื่องว่าคืออะไร

ผมก็เลยเกิดความคิดฝันเฟื่องขึ้นมาว่า ….

คณะสงฆ์-โดยมหาเถรสมาคม-ได้ประกาศตั้ง “กองวิชาการพุทธศาสน์” ขึ้นมา มีสำนักงานตั้งอยู่ที่วัด …. สมเด็จพระสังฆราชทรงมีพระบัญชาแต่งตั้งพระเดชพระคุณพระ …. วัด …. เป็นแม่กอง

กองวิชาการพุทธศาสน์แบ่งงานเป็น ๔ แผนกหลัก คือ 

๑ แผนกพระวินัยปิฎก 

๒ แผนกพระสุตตันตปิฎก

๓ แผนกพระอภิธรรมปิฎก 

๔ แผนกวิชาการทั่วไป 

แต่ละแผนกมีนักวิชาการประจำแผนก ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ที่สามารถค้นคว้าพระคัมภีร์ได้อย่างช่ำชอง

แผนกเหล่านี้อาจปรับปรุงเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสม

และให้มีแผนกพิเศษอีกแผนกหนึ่งคือ-แผนกประมวลปัญหา

แผนกประมวลปัญหานี้สำคัญมาก มีหน้าที่รับเรื่องราวร้องทุกข์ทั้งปวงอันเกี่ยวด้วยพระธรรมวินัย 

แผนกนี้จะเปิดช่องทางสื่อสารให้สามารถติดต่อได้โดยสะดวกจากทุกสารทิศ ไม่ว่าใครจะอยู่ที่ไหน เจ็บท้องข้องใจในประเด็นอันเกี่ยวด้วยพระธรรมวินัย กดปุ๊บ ส่งปั๊บ ปัญหาไปสู่การรับรู้ของแผนกประมวลปัญหาทันที

กับอีกวิธีหนึ่ง-คือมีเจ้าหน้าที่ตระเวนรับรู้ปัญหา ได้ยินใครพูดถึงปัญหาที่ไหนหรือออกไปเจอปัญหาที่ไหน ประมวลเป็นประเด็นแล้วนำเข้าสู่การรับรู้ของแผนกทันที โดยไม่ต้องรอให้มีใครส่งแผ่นกระดาษมา แล้วประทับตรารับเป็นหนังสือราชการ นั่นแหละจึงจะรับรู้ว่ามีปัญหา-อย่างที่หน่วยราชการทั้งหลายของไทยยังยึดหลักการนี้อยู่ 

แผนกประมวลปัญหาทำหน้าที่แจกจ่ายปัญหาที่ประมวลได้ไปยังแผนกต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

แผนกต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทำหน้าที่ศึกษาค้นคว้าหาหลักฐานอันเกี่ยวด้วยเรื่องนั้นๆ จากพระคัมภีร์อันมีพระไตรปิฎกเป็นหลัก กลั่นกรอง วินิจฉัย สรุปเป็นข้อยุติ แล้วนำเข้าสู่วาระการประชุมมหาเถรสมาคมเพื่อพิจารณาอนุมัติ แล้วประกาศเป็นคำตอบของคณะสงฆ์

ไม่ใช่คำตอบของท่านเจ้าคุณแฉ่ง

ไม่ใช่คำตอบของมหาย้วย 

ไม่ใช่คำตอบของใครของมัน-อย่างที่กำลังเป็นอยู่

แต่เป็นคำตอบของคณะสงฆ์ไทย สูงสุด ยุติ เด็ดขาด

……………….

ถ้าเป็นอย่างที่ผมฝันเฟื่องฟุ้งเฟ้อเฟอะฟะมานี้ ….

“อพฺยากตา ธมฺมา” จะแปลกันอย่างไรดีให้แม่ค้ากล้วยปิ้งข้างวัดฟังแล้วบรรลุธรรมได้เลย 

ผมก็กดปุ่มส่งให้แผนกประมวลปัญหา

แผนกประมวลปัญหาก็ส่งให้แผนกพระอภิธรรมปิฎก-รับไปดำเนินการ

“อนุปปันนบัญญัติ” หมายความว่ากระไร จงอธิบาย

ผมก็กดปุ่มส่งให้แผนกประมวลปัญหา

แผนกประมวลปัญหาก็ส่งให้แผนกพระวินัยปิฎก-รับไปดำเนินการ

พอจะมองเห็นภาพไหมครับว่า ระบบวิชาการของคณะสงฆ์ไทยสุดยอดแค่ไหน

ทองย้อยก็ไม่ต้องมานั่งมือเป็นระวิง แขนเป็นทศกัณฐ์ หัวเป็นช้างเอราวัณอยู่อย่างทุกวันนี้ 

ท่านเชื่อหรือไม่ว่า พระคุณเจ้าท่านประสงค์จะได้คำสมมุติภิกษุผู้บอกอาบัติชั่วหยาบแก่อนุปสัมบัน ตามสิกขาบทที่ ๙ แห่งมุสาวาทวรรคในปาจิตตีย์ ๙๒ สิกขาบท 

ท่านก็ถามมาที่ทองย้อย 

ท่านเชื่อหรือไม่ว่า พระคุณเจ้าท่านประสงค์จะได้คำสวดบุพกิจปาติโมกข์กรณีมีภิกษุอาพาธมอบฉันทะ จะเปลี่ยนคำสวดเป็นอย่างไร 

ท่านก็ถามมาที่ทองย้อย 

เรื่องแบบนี้คณะสงฆ์-โดยมหาเถรสมาคม-จะต้องเป็นผู้ให้คำตอบโดยตรง ถ้าคณะสงฆ์มีกองวิชาการพุทธศาสน์ ก็โดยผ่านแผนกพระวินัยปิฎก

ไม่ใช่ผ่านทองย้อย 

และที่พระคุณท่านถามมาที่ทองย้อยก็ไม่ใช่เพราะทองย้อยเก่ง 

แต่เพราะคณะสงฆ์ไม่สามารถเป็นที่พึ่งให้ท่านได้ 

ที่คณะสงฆ์ไม่สามารถเป็นที่พึ่งให้ท่านได้ก็เพราะไม่มีหน่วยงานหรือช่องทางที่แสนสะดวก-เช่นกองวิชาการพุทธศาสน์-ให้ท่านพึ่ง 

เหมือนกับจะบอกว่า-ใครอยากรู้อยากได้อะไร ก็ไปหาคำตอบเอาเองเถิด คณะของเราเป็นคณะตัวใครตัวมัน 

หรืออย่างมีหลักการขึ้นมานิดก็จะเอ็ดเอาว่า-อ้าว ก็เขามีเจ้าคณะอยู่ที่นั่นที่โน่น ทำไมไม่ไปถามเล่า นี่โง่เองนะรู้ไหม 

…………..

เวลานี้โลกพัฒนาไปมากแล้ว จะให้ท่านทำเรื่องเป็นแผ่นกระดาษส่งไปให้เจ้าคณะที่ว่านั่น หรือจะต้องไปด้วยตัวเองถึงวัด หรือจะต้องโทรไปถาม หรือจะต้องนั่นนี่โน่น-ซึ่งล้วนแต่ยุ่งยาก 

แล้วเจ้าคณะทั้งหลายในคณะสงฆ์ไทยนี่ท่านมีแผนกตอบปัญหาแบบนี้ไว้ประจำตัวท่านหรือเปล่าก็ไม่รู้ (เท่าที่รู้-ยังไม่เคยได้ยินว่ามี)

เผลอๆ โดนท่านเจ้าคณะดุเอาอีกต่างหาก … มาถามอะไรกัน คนกำลังยุ่งๆ อยู่ … 

ซวยอีก

สรุปว่า ท่านเห็นช่องทางไหนสะดวกท่านก็พึ่งพิงไว้ก่อน เหมือนคนกำลังจมน้ำ ฟางลอยมาเส้นหนึ่งก็ต้องคว้าไว้ก่อน

……………….

จะกล่าวฝ่ายทองย้อย-คือตัวกระผม-รับเรื่องรับปัญหามาแล้ว ก็ใช่ว่าจะสะดวกสบาย เพราะผมไม่ใช่ผู้รู้ทุกเรื่อง เรื่องที่พอรู้บ้างนั้นมีแค่หางอึ่ง ที่ยังไม่รู้มีเท่าจักรวาล 

ผมก็ต้องศึกษาสืบค้นมะงุมมะงาหราไปเท่าที่สติปัญญาจะพึงมี 

ได้คำตอบอะไรมา แสดงออกไป ถูกต้องหรือถูกใจ ก็รอดตัวไป 

ไม่ถูกใจใครเข้า ก็โดนอีก 

ญาติมิตรอ่านเฟซผมก็คงจะเห็นอยู่บ่อยๆ ผมโดนอยู่เป็นระยะๆ เหมือนพระให้ศีลข้อสุรา

โดนขนาด “เพื่อน” ยุว่า แบบนี้ unfriend ไปเลย

แต่ผมก็ไม่เคยทำ เพราะผมมองทุกคนว่าเป็นเพื่อนที่เรารักและเป็นเพื่อนที่รักเรา 

เขารักเรา เขาจึงว่าเรา กระทบกระเทียบ เหน็บแนม หยิกทึ้งเรา

ถ้าเขาไม่รักเรา เขาคงไม่มายุ่งกับเรา

……………….

ทั้งสิ้นทั้งปวงที่เขียนมานี้ ผมใคร่ขอความกรุณาจากญาติมิตรที่ได้อ่านว่า 

ถ้าใครอยู่กองเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช ขอแรงท่านหาทางนำขึ้นกราบทูลให้ทรงทราบด้วย

ถ้าใครสนิทสนมใกล้ชิดกับกรรมการมหาเถรสมาคมรูปใดบ้าง ขอแรงท่านนำกราบเรียนให้ท่านทราบเพื่อเป็นทางดำริด้วย

ถ้าใครทำงานที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติหรือรู้จักมักคุ้นใครในหน่วยงานแห่งนั้น ขอแรงนำเสนอแนวคิดนี้ไปถึงผู้บริหารหน่วยงานนั้นเพื่อพิจารณาบรรจุเข้าในระเบียบวาระการประชุมมหาเถรสมาคม-เพื่อให้ผู้บริหารการพระศาสนาลองพิจารณากันดูให้ด้วย

ขอความกรุณาอย่าคิดว่า “ไม่ใช่หน้าที่ของฉัน” 

แต่ถ้าท่านทั้งปวงจะพร้อมใจกันคิดว่า “ไม่ใช่หน้าที่ของฉัน” ผมก็จะไม่ว่าอะไรเลย เพราะมันเป็นสิทธิโดยสมบูรณ์ของท่านอันผู้ใดจะมาล่วงละเมิดมิได้ 

และเพราะเราควรเคารพความคิดเห็นของกันและกัน-ตามที่เขานิยมพูดกันในสมัยนี้

กระนั้นผมก็ยังหวังอยู่ว่า ในบรรดาชาวเราที่ปากก็บอกว่ารักพระพุทธศาสนา ห่วงพระพุทธศาสนาอยู่เต็มล้นปรี่ในหัวใจนั้น คงจะมีใครสักคนหนึ่งที่กล้าคิดว่า “นี่เป็นหน้าที่ของฉัน” 

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๑ กรกฎาคม ๒๕๖๒

…………………………………………

หน้าที่ของฉัน

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *