บาลีวันละคำ

ปริยัตินิเทศก์ (บาลีวันละคำ 3,447)

ปริยัตินิเทศก์

ครูของพระที่เป็นครู

อ่านว่า ปะ-ริ-ยัด-ติ-นิ-เทด

(มี –ติ– ด้วย)

ประกอบด้วยคำว่า ปริยัติ + นิเทศก์

(๑) “ปริยัติ” 

บาลีเป็น “ปริยตฺติ” อ่านว่า ปะ-ริ-ยัด-ติ รากศัพท์มาจาก ปริ (คำอุปสรรค = รอบๆ, ทั่วไป) + อปฺ (ธาตุ = ถึง, บรรลุ) + ปัจจัย, ลง อาคมระหว่างอุปสรรคกับธาตุ (ปริ + + อปฺ), แปลง ที่สุดธาตุเป็น (อปฺ > อตฺ) + อิ ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: ปริ + + อปฺ = ปริยปฺ + = ปริยปฺต > ปริยตฺต + อิ = ปริยตฺติ แปลตามศัพท์ว่า (1) “ข้ออันผู้ต้องการประโยชน์พึงเล่าเรียน” (2) “ข้อที่สามารถยังประโยชน์แห่งบุรุษที่เป็นปัจจุบันเป็นต้นให้สำเร็จได้” 

ปริยตฺติ” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ความสามารถพอ, ความสำเร็จ, ความพอเพียง, ความสามารถ, ความเหมาะเจาะ (adequacy, accomplishment, sufficiency, capability, competency)

(2) พระปริยัติ, ความสามารถทางพระคัมภีร์, การเล่าเรียน (ท่องจำ) คัมภีร์ (accomplishment in the Scriptures, study [learning by heart] of the holy texts); 

(3) ตัวพระคัมภีร์นั้นเองทั้งหมดรวมกัน ซึ่งจดจำสืบๆ ต่อกันมา (the Scriptures themselves as a body which is handed down through oral tradition)

ปริยตฺติ” ในภาษาไทยใช้ว่า “ปริยัติ” (ตัด ออกตัวหนึ่ง) อ่านว่า ปะ-ริ-ยัด

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ปริยัติ : (คำนาม) การเล่าเรียนพระไตรปิฎก. (ป. ปริยตฺติ).”

(๒) “นิเทศก์” 

บาลีเป็น “นิทฺเทสก” อ่านว่า นิด-เท-สะ-กะ รากศัพท์มาจาก นิ (คำอุปสรรค = เข้า, ลง; ไม่มี, ออก) + ทิสฺ (ธาตุ = แสดง, ชี้แจง) + ณฺวุ ปัจจัย, ซ้อน ทฺ ระหว่างอุปสรรคกับธาตุ (นิ + ทฺ + ทิสฺ), แปลง ณฺวุ เป็น อก (อะ-กะ), แผลง อิ ที่ ทิ-(สฺ) เป็น เอ (ทิส > เทส

: นิ + ทฺ + ทิส = นิทฺทิสฺ + ณฺวุ > อก = นิทฺทิสก > นิทฺเทสก แปลตามศัพท์ว่า “ผู้แสดงออก” หมายถึง ชี้ให้เห็น, สั่งสอน, แนะนำ (pointing out, teaching, advising)

นิทฺเทสก” ในภาษาไทยใช้เป็น “นิเทศก์

หลักความรู้ :

คำว่า “นิเทศ” และ “นิเทศก์” คำหลักคือ “-เทศ-” มาจากรากศัพท์เดียวกัน คือ ทิสฺ ธาตุ (แสดง, ประกาศ, บอกกล่าว, ชี้แจง)

นิเทศ : ทิสฺ + ปัจจัย = นิทฺเทส > นิเทศ แปลว่า การแสดง (- = การ-) (supervision)

นิเทศก : ทิสฺ + ณฺวุ > อก ปัจจัย = นิทฺเทสก > นิเทศก แปลว่า ผู้แสดง (-ศก = ผู้-) (supervisor)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

(1) นิเทศ : (คำแบบ) (คำนาม) คําแสดง, คําจําแนกออก. (คำกริยา) ชี้แจง, แสดง, จําแนก. (ป. นิทฺเทส; ส. นิรฺเทศ).

(2) นิเทศก์ : (คำนาม) ผู้ชี้แจง เช่น ศึกษานิเทศก์ ธรรมนิเทศก์.”

หมายเหตุ: คำว่า “คำแบบ” ในวงเล็บ หมายถึง คำที่ใช้เฉพาะในหนังสือ ไม่ใช่คำพูดทั่วไป

ประมวลความตามความหมายในปัจจุบัน :

(1) นิเทศ: กระบวนการและกิจกรรมต่างๆ ที่มุ่งให้ความช่วยเหลือ แนะนำส่งเสริม ปรับปรุง การทำงานของบุคคล กลุ่มบุคคล หรือโปรแกรมต่างๆ เพื่อพัฒนาคุณภาพของการเรียนการสอนและหลักสูตรเป็นต้น 

(2) นิเทศก์: ผู้ปฏิบัติการในกระบวนการและกิจกรรมเช่นว่านั้น

ปริยัติ + นิเทศก์ = ปริยัตินิเทศก์ (ปะ-ริ-ยัด-ติ-นิ-เทด) แปลว่า “ผู้ชี้แจงแสดงหลักเกี่ยวกับพระปริยัติธรรม” 

คำว่า “ปริยัตินิเทศก์” ใช้ประกอบกับคำว่า “พระ” เป็น “พระปริยัตินิเทศก์” หมายถึง พระภิกษุที่ทำหน้าที่ชี้แจงแสดงหลักเกี่ยวกับการเรียนการสอนพระปริยัติธรรม

ขยายความ :

กองพุทธศาสนศึกษา สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เผยแพร่เรื่อง “ประวัติศูนย์พระปริยัตินิเทศก์แห่งคณะสงฆ์” มีข้อความตอนหนึ่งดังนี้ 

…………..

        เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๘ กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ (สมัยนั้น สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ) ได้ดำริให้มีการแต่งตั้งพระปริยัตินิเทศก์ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยในการพัฒนาการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมของคณะสงฆ์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อครูสอนและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนพระปริยัติธรรมของพระภิกษุสามเณรมากขึ้น เป็นการสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการจัดการศึกษาพระปริยัติธรรมของคณะสงฆ์ ทั้งนี้ ด้วยปรารภว่า ครูสอนพระปริยัติธรรม แม้จะมีวุฒิการศึกษานักธรรมหรือเปรียญธรรมก็ดี แต่ส่วนใหญ่แล้วมิได้ศึกษากระบวนการเรียนการสอนในหลักสูตรวิชาครูมาโดยตรง ซึ่งอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้กระบวนการถ่ายทอดความรู้หรือเทคนิควิธีการต่าง ๆ ในการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร และมีผลกระทบต่อการพัฒนาการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมของคณะสงฆ์

        เพื่อประโยชน์ในการที่จะส่งเสริมการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมให้เกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และมุ่งหวังให้เกิดประโยชน์ต่อครูสอนพระปริยัติธรรมทั้งหลาย อันจะอำนวยประโยชน์ให้เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อผู้เรียนมากขึ้นด้วย จึงได้กำหนดโครงการอบรมครูสอนพระปริยัติธรรม เพื่อเตรียมความพร้อมในการเป็นพระปริยัตินิเทศก์ …

…………..

ต่อไปนี้เป็น “ความเข้าใจ” ของผู้เขียนบาลีวันละคำ หากไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ขอผู้รู้ได้โปรดทักท้วงและแก้ไขด้วย จักขอบพระคุณยิ่ง

พระปริยัตินิเทศก์” ไม่ใช่พระที่เป็น “ครูสอนพระปริยัติธรรม” โดยตรง หากแต่เป็นพระที่ทำหน้าที่อบรมพระที่เป็นครูสอนพระปริยัติธรรมอีกทีหนึ่ง รวมทั้งทำหน้าที่อื่นๆ (ซึ่งบางสถานการณ์อาจจะต้องทำหน้าที่ครูสอนพระปริยัติธรรมเองด้วย) อันจะช่วยให้การศึกษาพระปริยัติธรรมเกิดผลสัมฤทธิ์ตามวัตถุประสงค์

พระปริยัตินิเทศก์” เป็น “เจ้าหน้าที่” ของคณะสงฆ์ สังกัดหน่วยงานที่เรียกชื่อว่า “ศูนย์พระปริยัตินิเทศก์แห่งคณะสงฆ์”

“ศูนย์พระปริยัตินิเทศก์แห่งคณะสงฆ์” เป็นหน่วยงานที่อยู่ในความดูแลของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

พระภิกษุที่ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าศูนย์พระปริยัตินิเทศก์แห่งคณะสงฆ์ มีตำแหน่งเรียกว่า “ประธานศูนย์พระปริยัตินิเทศก์แห่งคณะสงฆ์”

“ศูนย์พระปริยัตินิเทศก์แห่งคณะสงฆ์” มีสาขา (ภาษาทหารเรียกว่า “หน่วยขึ้นตรง”) อยู่ในจังหวัดต่างๆ เรียกชื่อว่า “ศูนย์พระปริยัตินิเทศก์จังหวัด-” (ตามด้วยชื่อจังหวัดนั้นๆ)

พระภิกษุที่ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าศูนย์ในจังหวัดต่างๆ มีตำแหน่งเรียกว่า “ประธานศูนย์พระปริยัตินิเทศก์จังหวัด-” (ตามด้วยชื่อจังหวัดนั้นๆ)

พระภิกษุรูปไหนเป็น “ประธานศูนย์พระปริยัตินิเทศก์แห่งคณะสงฆ์” และจังหวัดไหนพระภิกษุรูปไหนเป็น “ประธานศูนย์พระปริยัตินิเทศจังหวัด-” ท่านผู้สนใจพึงตรวจสอบสืบหากันตามอัธยาศัยเถิด

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถ้าการศึกษาพระปริยัติธรรมเป็นชีวิตจิตวิญญาณ

พระศาสนาก็งามตระการอยู่ทุกเช้าค่ำ

: ถ้าการศึกษาเป็นเพียงหน้าที่ที่เขาสั่งให้ทำ

ก็เป็นกรรมของพระศาสนา

#บาลีวันละคำ (3,447)

19-11-64 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *