บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ทำประทักษิณ

ทำประทักษิณ

………………………………….

ประทักษิณ

 น. การเวียนขวา โดยให้สิ่งที่เรานับถือหรือผู้ที่เรานับถือเป็นต้นอยู่ทางขวาของผู้เวียน. (ส.).

– พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔

………………………………….

การทำประทักษิณเป็นวัฒนธรรมของชาวชมพูทวีป ชาวพุทธรับเอามาใช้เพราะเป็นวัฒนธรรมที่ดี เจตนาของการทำประทักษิณก็คือการแสดงความเคารพ 

การทำประทักษิณของเดิมนั้นทำเมื่อจะลากลับ คือเมื่อไปหาหรือไปถึงบุคคลหรือสถานที่ที่ควรแก่การเคารพ เสร็จกิจธุระแล้วก่อนกลับก็จะทำประทักษิณ ๓ รอบแล้วจึงกลับ 

ไทยเราเอาการทำประทักษิณมาใช้ในเทศกาลบางอย่าง ที่เรียกกันว่า “เวียนเทียน” 

แต่การเวียนเทียนของเรานั้น ครั้นนานเข้ากลายเป็นทำตามรูปแบบ บางทีทำกิริยาคึกคะนองเล่นสนุกไปด้วย ทำให้ของดีกลายเป็นเสียไป

พิธีบวชนาค ก่อนเข้าโบสถ์เราก็มีการเวียนโบสถ์ ๓ รอบ นั่นก็คือธรรมเนียมการทำประทักษิณ

การทำประทักษิณเป็นกิจที่ดีงาม ควรทำ และควรมีอุบายวิธีที่ดีในการทำ

อุบายวิธีที่ท่านแนะนำกันมาก็คือ 

ตลอดรอบที่ ๑ ให้เจริญพระพุทธคุณ (อิติปิ โส ภควา …) 

ตลอดรอบที่ ๒ ให้เจริญพระธรรมคุณ (สฺวากฺขาโต …) 

ตลอดรอบที่ ๓ ให้เจริญพระสังฆคุณ (สุปฏิปนฺโน …) 

เคยเห็นบางแห่งพร้อมใจกันสวดออกเสียงพร้อมกันไปด้วย เป็นบรรยากาศที่ดี นับเป็นส่วนหนึ่งแห่งการปฏิบัติธรรม คือได้เจริญพุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ

ถ้าปรับปรุงการเวียนโบสถ์หรือเวียนเทียนตามเทศกาลให้เป็นการเดินสวดมนต์ออกเสียงไปพร้อมๆ กัน ก็จะทำให้การทำประทักษิณมีคุณค่าเด่นชัดขึ้น

ระหว่างที่ยังไม่มีใครคิดทำ เราก็ทำของเราไปคนเดียวก่อนได้เลย ไม่ต้องอายใคร ไปวัด ไปไหว้พระ ก่อนออกจากวัด ทำประทักษิณพระสถูปเจดีย์ปูชนียสถานของวัด พร้อมไปกับสวดอิติปิ โส … แล้วจึงกลับ

ไปกันเป็นหมู่คณะ ก็ทำแบบเดียวกันในหมู่พวกเล็กๆ ของเรา ใครที่ไม่เคยรู้เคยเห็นก็คงจะกระซิบถามกันว่า-พวกนั้นเขาทำอะไรกัน

นั่นอาจเป็นจุดเริ่มต้นให้มีคนทำตามกันต่อๆ ไปอีก จนกลายเป็นธรรมเนียมที่ดีงามอีกอย่างหนึ่งของคนไทยเวลาไปวัด-ก็เป็นได้

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๔

๑๖:๓๘

…………………………………..

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *