บรรลุนิติภาวะ (บาลีวันละคำ 3,446)
บรรลุนิติภาวะ
เป็นผู้ใหญ่ตามกฎหมาย
อ่านว่า บัน-ลุ-นิ-ติ-พา-วะ
ประกอบด้วยคำว่า บรรลุ + นิติ + ภาวะ
(๑) “บรรลุ”
เป็นคำไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“บรรลุ : (คำกริยา) ลุ, ถึง, สําเร็จ, เช่น บรรลุมรรคผล, ประลุ ก็ว่า.”
ที่คำว่า “ลุ” พจนานุกรมฯ บอกไว้ว่า –
“ลุ : (คำกริยา) ถึง (ในลักษณะที่ต้องใช้ความพยายาม) เช่น ลุความสําเร็จ, ถึง เช่น ลุศักราช, บางทีก็ใช้เข้าคู่กับคำ ถึง เป็น ลุถึง; (โบ) รู้ความ เช่น ลุท้องตรา ลุหนังสือ.”
(๒) “นิติ”
บาลีเป็น “นีติ” (นี-ติ, โปรดสังเกตว่า บาลีเป็น นี- ไม่ใช่ นิ-) รากศัพท์มาจาก นี (ธาตุ = บรรลุ, ถึง) + ติ ปัจจัย
: นี + ติ = นีติ แปลตามศัพท์ว่า “ข้อบัญญัติเป็นเครื่องบรรลุ” “เครื่องนำไปให้บรรลุ” หมายถึง กฎหมาย, กฎ, แบบแผน
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “นีติ” ว่า guidance, practice, conduct, right conduct, propriety; statesmanship, polity (การนำทาง, การปฏิบัติ, ความประพฤติ, ความประพฤติที่ถูกต้อง, การทำที่เหมาะที่ควร; การใช้วิธีปกครอง, การปกครองประชาชน)
โปรดสังเกตว่า ฝรั่งไม่ได้แปล นีติ ว่า law อย่างที่เรานิยมแปลกัน
บาลี “นีติ” สันสกฤตก็เป็น “นีติ”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“นีติ : (คำนาม) การนำ, การจัด; การได้, การบันลุถึง; ราชนีติ, ราชรีติ, ราชยศาสนศาสตร์, ราชการยาณิ, ‘รัฐประศาสน์’ ก็ใช้โดยมตินิยม – เปนวิทยาอันกล่าวว่าด้วยการปกครอง, รวมทั้งประโยคจรรยามรรยาททั่วไป, ทั้งพระผู้เปนเจ้าเปนใหญ่และไพร่ฟ้าประชาราษฎร์; guiding, directing; obtaining, acquirement or acquisition; polity, politics or political science – a science treating of the administration of government, including the practice of morality in private life, both by the sovereign and his subjects.”
บาลี “นีติ” ภาษาไทยใช้เป็น “นิติ” (บาลี นี– ไทย นิ-)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“นิติ : (คำนาม) นีติ, กฎหมาย, กฎปฏิบัติ, แบบแผน, เยี่ยงอย่าง, ขนบธรรมเนียม, ประเพณี, วิธีปกครอง, เครื่องแนะนํา, อุบายอันดี. (ป., ส. นีติ).”
(๓) “ภาวะ”
บาลีเป็น “ภาว” (พา-วะ) รากศัพท์มาจาก ภู (ธาตุ = มี, เป็น) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แผลง อู ที่ ภู เป็น โอ แล้วแปลง โอ เป็น อาว (ภู > โภ > ภาว)
: ภู + ณ = ภูณ > ภู > โภ > ภาว แปลตามศัพท์ว่า “ความมี” “ความเป็น” “สิ่งที่เป็นอย่างนั้นเอง” “สิ่งที่มีอยู่ในจิต”
“ภาว” (ปุงลิงค์) หมายถึง ความมี, ความเป็น, ภาวะ, ธรรมชาติ (being, becoming, condition, nature)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ภาว-, ภาวะ : (คำนาม) ความมี, ความเป็น, ความปรากฏ, เช่น ภาวะน้ำท่วม ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ. (ป., ส.).”
การประสมคำ :
๑ นิติ + ภาวะ = นิติภาวะ (นิ-ติ-พา-วะ)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกความหมายไว้ดังนี้ –
“นิติภาวะ : (คำที่ใช้ในกฎหมาย) (คำนาม) ความเป็นผู้มีความสามารถที่จะใช้สิทธิตามกฎหมายได้ด้วยตนเอง.”
ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับแก้คำนิยามเป็นดังนี้ –
“นิติภาวะ : (คำที่ใช้ในกฎหมาย) (คำนาม) ความมีความสามารถใช้สิทธิตามกฎหมายโดยสมบูรณ์ได้ด้วยตนเอง. (ดู บรรลุนิติภาวะ ประกอบ).”
๒ บรรลุ + นิติภาวะ = บรรลุนิติภาวะ
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 นิยามความหมายของ “บรรลุนิติภาวะ” ไว้ดังนี้ –
“บรรลุนิติภาวะ : (คำที่ใช้ในกฎหมาย) (คำกริยา) มีอายุถึงกําหนดที่กฎหมายให้พ้นจากภาวะผู้เยาว์และให้มีความสามารถใช้สิทธิตามกฎหมายได้ด้วยตนเอง เช่น บุคคลย่อมพ้นจากภาวะผู้เยาว์และบรรลุนิติภาวะเมื่อมีอายุ ๒๐ ปีบริบูรณ์ หรือโดยการสมรสเมื่อชายและหญิงมีอายุ ๑๗ ปีบริบูรณ์แล้ว.”
ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับแก้คำนิยามเป็นดังนี้ –
“บรรลุนิติภาวะ : (คำที่ใช้ในกฎหมาย) (คำกริยา) มีอายุถึงกำหนดที่กฎหมายให้พ้นจากภาวะความเป็นผู้เยาว์และให้มีความสามารถใช้สิทธิตามกฎหมายทั้งปวงได้โดยสมบูรณ์ด้วยตนเอง โดยกฎหมายกำหนดให้บุคคลพ้นจากภาวะผู้เยาว์และบรรลุนิติภาวะเมื่อมีอายุ ๒๐ ปีบริบูรณ์ หรือเมื่อผู้เยาว์ทำการสมรสโดยชอบด้วยกฎหมาย.”
อภิปรายขยายความ :
ขอชักชวนให้ศึกษาพจนานุกรมเพื่อหาความรู้
ศึกษาเปรียบเทียบการปรับแก้คำว่า “นิติภาวะ”:
คำเดิม: ความเป็นผู้มีความสามารถ
แก้เป็น: ความมีความสามารถ
คำเดิม: ที่จะใช้สิทธิตามกฎหมายได้ด้วยตนเอง
แก้เป็น: ใช้สิทธิตามกฎหมายโดยสมบูรณ์ได้ด้วยตนเอง
พจนานุกรมฯ ฉบับ 54 แนะไว้ว่า “ดู บรรลุนิติภาวะ ประกอบ” ดังนั้น เพื่อให้ได้ความรู้ความเข้าใจกว้างขวางขึ้น ก็ควรจะตามไปดู
ศึกษาเปรียบเทียบการปรับแก้ คำว่า “บรรลุนิติภาวะ”:
คำเดิม: ภาวะผู้เยาว์
แก้เป็น: ภาวะความเป็นผู้เยาว์
คำเดิม: ใช้สิทธิตามกฎหมายได้ด้วยตนเอง
แก้เป็น: ใช้สิทธิตามกฎหมายทั้งปวงได้โดยสมบูรณ์ด้วยตนเอง
แต่โปรดเปรียบเทียบการปรับแก้ให้ละเอียด
ที่คำว่า “นิติภาวะ”
คำเดิม: ที่จะใช้สิทธิตามกฎหมายได้ด้วยตนเอง
แก้เป็น: ใช้สิทธิตามกฎหมายโดยสมบูรณ์ได้ด้วยตนเอง
แต่ที่คำว่า “บรรลุนิติภาวะ”
คำเดิม: ใช้สิทธิตามกฎหมายได้ด้วยตนเอง
แก้เป็น: ใช้สิทธิตามกฎหมายทั้งปวงได้โดยสมบูรณ์ด้วยตนเอง
วลีที่ต้องการให้เปรียบเทียบคือ
ที่คำว่า “นิติภาวะ”
แก้เป็น: ใช้สิทธิตามกฎหมายโดยสมบูรณ์ได้ด้วยตนเอง
แต่ที่คำว่า “บรรลุนิติภาวะ”
แก้เป็น: ใช้สิทธิตามกฎหมายทั้งปวงได้โดยสมบูรณ์ด้วยตนเอง
โปรดเปรียบเทียบวลี:
“โดยสมบูรณ์ได้ด้วยตนเอง”
“ได้โดยสมบูรณ์ด้วยตนเอง”
อนึ่ง นิยามความหมายของ “บรรลุนิติภาวะ” พจนานุกรมฯ ฉบับ 54 ก็ปรับแก้แบบลักลั่น กล่าวคือ
คำเดิม: ภาวะผู้เยาว์
แก้เป็น: ภาวะความเป็นผู้เยาว์
แต่ข้อความต่อไปตรงคำว่า “โดยกฎหมายกำหนดให้บุคคลพ้นจากภาวะผู้เยาว์” พจนานุกรมฯ ฉบับ 54 ก็ยังคงใช้คำว่า “ภาวะผู้เยาว์” แทนที่จะใช้ว่า “ภาวะความเป็นผู้เยาว์” ตามที่พจนานุกรมฯ เองได้แก้ใหม่
ที่กล่าวมานี้มิได้มีเจตนาจะ “จับผิด” พจนานุกรมฯ แต่ประการใด หากแต่มีเจตนาจะชักชวนให้เราช่วยกันฝึกนิสัยอ่านพจนานุกรมฯ อย่างละเอียด ถี่ถ้วน เพื่อที่ว่าเมื่อพบเห็นอะไรที่มีพิรุธจะได้ช่วยกันทักท้วง
การทักท้วงนั้นไม่ได้แปลว่าตำหนิติเตียน แต่แปลว่าช่วยกันอุดรูรั่ว ซึ่งย่อมจะดีกว่าปล่อยให้มีรูรั่วเช่นนั้นอยู่ต่อไป ทั้งนี้เพราะพจนานุกรมฯ เป็นสมบัติร่วมกันของพวกเราทุกคน
…………..
ดูก่อนภราดา!
รางวัลสำหรับผู้ทักท้วง:
จากพาล: “หมอนี่มันดีแต่คอยจับผิด”
จากบัณฑิต: “ขอบคุณท่านผู้ชี้ขุมทรัพย์”
#บาลีวันละคำ (3,446)
18-11-64
…………………………….