ทุพภาสิต (บาลีวันละคำ 3,445)
ทุพภาสิต
“ปากเสีย”
อ่านว่า ทุบ-พา-สิด
“ทุพภาสิต” เขียนแบบบาลีเป็น “ทุพฺภาสิต” (มีจุดใต้ พฺ) อ่านว่า ทุบ-พา-สิ-ตะ ประกอบด้วย ทุ + ภาสิต
(๑) “ทุ”
เป็นคําอุปสรรค (อุปสรรค : คำสำหรับใช้เติมข้างหน้าคำนามหรือคำกริยาที่เป็นรูปคำบาลีหรือสันสกฤตให้มีความหมายแผกเพี้ยนไปจากเดิม หรือมีความหมายตรงข้ามกับความหมายเดิมเป็นต้น และถือเป็นคำเดียวกับคำนามหรือคำกริยานั้น เพราะตามปรกติจะไม่ใช้ตามลำพัง) มีความหมายว่า ชั่ว, ผิด, ยาก, ลําบาก, ทราม, การใช้ไปในทางที่ผิด, ความยุ่งยาก, ความเลว (bad, wrong, perverseness, difficulty, badness)
“ทุ” อุปสรรคคำนี้นักเรียนบาลีในไทยท่องจำคำแปลได้ตั้งแต่ชั้นไวยากรณ์ว่า “ทุ: ชั่ว, ยาก, ลําบาก, ทราม, น้อย”
(๒) “ภาสิต”
บาลีอ่านว่า พา-สิ-ตะ รากศัพท์มาจาก ภาสฺ (ธาตุ = พูด) + อิ อาคมท้ายธาตุ + ต ปัจจัย
: ภาสฺ + อิ + ต = ภาสิต แปลตามศัพท์ว่า “คำที่พึงพูด”
“ภาสิต” ตามรูปศัพท์เป็นคำกริยาอดีตกาล (past participle) กรรมวาจก แปลว่า “(คำ อันเขา) กล่าวแล้ว” หมายถึง คำหรือเรื่องราวที่ถูกกล่าว, พูด, เอ่ย (spoken, said, uttered)
แต่ “ภาสิต” สามารถใช้เป็นคำนามก็ได้ด้วย แปลว่า คำพูด, ถ้อยคำ (speech, word)
บาลี “ภาสิต” (ส เสือ) ในภาษาไทยใช้ตามรูปสันสกฤตเป็น “ภาษิต” (ษ ฤๅษี)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ภาษิต : (คำนาม) ถ้อยคำหรือข้อความที่กล่าวสืบต่อกันมาช้านานแล้ว มีความหมายเป็นคติ เช่น กงเกวียนกำเกวียน. (ส.).”
ทุ + ภาสิต ซ้อน พฺ ตามกฎการซ้อนพยัญชนะ คือซ้อนพยัญชนะในวรรคเดียวกันที่อยู่หน้าพยัญชนะแรกของศัพท์หลัง
“พยัญชนะแรกของศัพท์หลัง” ในที่นี้คือ “ภ”
พยัญชนะในวรรคเดียวกันที่มี “ภ” คือ ป ผ พ ภ ม
พยัญชนะที่อยู่หน้า ภ คือ “พ”
เพราะฉะนั้น: ทุ + พฺ + ภาสิต = ทุพฺภาสิต (ทุบ-พา-สิ-ตะ) แปลตามศัพท์ว่า “พูดชั่ว” หรือ “คำที่พูดชั่ว”
“ทุพฺภาสิต” ในที่นี้ใช้ในภาษาไทยเป็น “ทุพภาสิต” (ไม่มีจุดใต้ พ และคงใช้ ส เสือ ตามรูปบาลี) อ่านว่า ทุบ-พา-สิด
ขยายความ :
“ทุพภาสิต” เป็นชื่ออาบัติ คือ โทษที่เกิดจากการล่วงละเมิดสิกขาบทหรือข้อห้ามแห่งภิกษุ 1 ใน 7 อย่าง
อาบัติมี 7 ชื่อ มีความหมายตามลักษณะความผิด (เพื่อเข้าใจง่าย ขอแปลแบบถอดความ) ดังนี้
(1) ปาราชิก = “แพ้ไล่ออก”
(2) สังฆาทิเสส = “ต้องให้สงฆ์สั่งสอน”
(3) ถุลลัจจัย = “เลวอย่างหยาบ”
(4) ปาจิตตีย์ = “ทำดีตกแตก”
(5) ปาฏิเทสนียะ = “รับสารภาพ”
(6) ทุกกฏ = “มารยาททราม”
(7) ทุพภาสิต = “ปากเสีย”
มาตรการลงโทษกำหนดไว้ดังนี้ (ตัวเลขในวงเล็บคืออาบัติ)
(1) ขาดจากความเป็นพระทันทีที่ทำ
(2) ที่ประชุมสงฆ์ลงโทษตามวิธีการที่กำหนด
(3-7) เปิดเผยความผิดต่อหน้าเพื่อนภิกษุด้วยกัน เรียกว่า “ปลงอาบัติ”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต อธิบายคำว่า “ทุพภาสิต” ไว้ดังนี้
…………..
ทุพภาสิต : “พูดไม่ดี” “คำชั่ว” “คำเสียหาย” ชื่ออาบัติเบาที่สุดที่เกี่ยวกับคำพูด เป็นความผิดในลำดับถัดรองจากทุกกฏ เช่น ภิกษุพูดกับภิกษุที่มีกำเนิดเป็นจัณฑาล ว่าเป็นคนชาติจัณฑาล ถ้ามุ่งว่ากระทบให้อัปยศ ต้องอาบัติทุกกฏ แต่ถ้ามุ่งเพียงล้อเล่น ต้องอาบัติทุพภาสิต.
…………..
เพื่อความเข้าใจเรื่องอาบัติของภิกษุกว้างขวางยิ่งขึ้น โปรดอ่านเพิ่มเติมที่ “บาลีวันละคำ” ต่อไปนี้ –
ปาราชิก [1] (109)
ปาราชิก [2] (2,896)
สังฆาทิเสส (3,066)
ถุลลัจจัย (3,444)
ปาจิตตีย์ (3,068)
นิสสัคคีย์ (3,069)
ปาฏิเทสนียะ (3,075)
เสขิยวัตร (3,067)
ทุกกฏ (1,263)
อนิยต (3,065)
…………..
ดูก่อนภราดา!
พึงสดับกลอนบทนี้ แล้วตอบคำถาม:
…………..
๏ ถึงบางพูดพูดดีเป็นศรีศักดิ์
มีคนรักรสถ้อยอร่อยจิต
แม้นพูดชั่วตัวตายทำลายมิตร
จะชอบผิดในมนุษย์เพราะพูดจา๚ะ๛
…………..
1 ท่านเคยอ่านหรือเคยได้ฟังกลอนบทนี้มาก่อนหรือไม่
2 ท่านเคยยกกลอนบทนี้ไปเอ่ยอ้างบ้างหรือไม่ ถ้าเคย ถ้อยคำที่ท่านยกไปนั้นตรงตามนี้หรือผิดเพี้ยนไปจากนี้
3 ท่านทราบหรือไม่ว่ากลอนบทนี้อยู่ในวรรณกรรมไทยเรื่องอะไร และใครเป็นผู้แต่ง ตอบตามความรู้ที่ท่านมีอยู่ในขณะนี้ อย่าเพิ่งอาศัย google ทันที
#บาลีวันละคำ (3,445)
17-11-64
…………………………….