บาลีวันละคำ

โทสจริต (บาลีวันละคำ 2,778)

โทสจริต

“โทสะ” ไม่ใช่ “โทสจริต”

อ่านว่า โท-สะ-จะ-หฺริด

ประกอบด้วยคำว่า โทส + จริต

(๑) “โทส

บาลีอ่านว่า โท-สะ รากศัพท์มาจาก ทุสฺ (ธาตุ = ประทุษร้าย, เกลียดชัง) + ปัจจัย, ลบ , แผลง อุ ที่ ทุ-(สฺ) เป็น โอ (ทุสฺ > โทส)

: ทุสฺ + = ทุสณ > ทุส > โทส (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การประทุษร้าย” “การเกลียดชัง” “เครื่องประทุษร้ายกัน” “เหตุทำให้เกลียดชังกัน

โทส” ในบาลีมีความหมาย 2 นัย คือ –

(1) ความชั่ว, มลทิน, ความผิด, สภาพไม่ดี, ความบกพร่อง; ความเลวร้าย, ความเสื่อมทราม (corruption, blemish, fault, bad condition, defect; depravity, corrupted state)

(2) โทสะ, ความโกรธ, ความประสงค์ร้าย, เจตนาร้าย, ความชั่วช้า, ความมุ่งร้าย, ความเกลียด (anger, ill-will, evil intention, wickedness, corruption, malice, hatred)

หรือจำสั้นๆ :

(1) ความชั่ว (corruption)

(2) ความโกรธ (anger)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

โทส-, โทสะ, โทโส : (คำนาม) ความโกรธ, ความฉุนเฉียว. (ป.; ส. โทษ).”

(๒) “จริต

บาลีอ่านว่า จะ-ริ-ตะ รากศัพท์มาจาก จรฺ (ธาตุ = ประพฤติ, เที่ยวไป) + ปัจจัย, ลง อิ อาคมระหว่างธาตุกับปัจจัย (จรฺ + อิ + )

: จรฺ + อิ + = จริต แปลตามศัพท์ว่า “อันเขาประพฤติแล้ว

จริต” ถ้าใช้เป็นคำนาม (นปุงสกลิงค์) หมายถึง การกระทำ, ความประพฤติ, การอยู่ (action, behaviour, living)

ถ้าใช้เป็นคุณศัพท์ หมายถึง ไป, เคลื่อนที่, เที่ยวไป, จริต, ประพฤติ (going, moving, being like, behaving)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

จริต : (คำนาม) ความประพฤติ, กิริยาหรืออาการ, เช่น เสียจริต วิกลจริต, มักใช้ในทางไม่ดี เช่น ดัดจริต มีจริต, จริตจะก้าน ก็ว่า, ความประพฤติปรกติ, ความประพฤติที่หนักไปทางใดทางหนึ่ง อันเป็นปรกติอยู่ในสันดาน, แนวโน้มของจิตใจ, มี ๖ อย่าง คือ ราคจริต โทสจริต โมหจริต สัทธาจริต พุทธิจริต วิตกจริต. (ป.).”

โทส + จริต = โทสจริต (โท-สะ-จะ-ริ-ตะ) แปลตามศัพท์ว่า “ประพฤติด้วยความโกรธ

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “โทสจริต” บอกไว้ว่า –

โทสจริต : คนมีพื้นนิสัยหนักในโทสะ หงุดหงิด โกรธง่าย แก้ด้วยเจริญเมตตา

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต แปล “โทสจริต” เป็นอังกฤษว่า the hateful; one of hating temperament; a quick-tempered person.

…………..

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [262] จริต หรือ จริยา 6 บอกไว้ว่า –

โทสจริต : ผู้มีโทสะเป็นความประพฤติปกติ, ประพฤติหนักไปทางใจร้อนหงุดหงิด (Dosa-carita: one of hating temperament) กรรมฐานที่เหมาะ คือ พรหมวิหารและกสิณ โดยเฉพาะวัณณกสิณ

…………..

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

โทสจริต : (คำนาม) ความประพฤติที่มีพื้นนิสัยหนักไปในทางใจร้อน หงุดหงิด โกรธง่าย, เป็นจริต ๑ ในจริต ๖. (ป.).”

…………..

ลักษณะของคนโทสจริต :

ลักษณะนิสัย คนโทสจริตเป็นคนโกรธง่ายหายช้า ชอบตำหนิคนอื่น งานบุญงานกุศลมักพิถีพิถัน ซักรายละเอียดมาก ถ้าไม่ถูกใจไม่เอาด้วย แต่ถ้าถูกใจเท่าไรเท่ากัน

ท่าทางการเดินของคนโทสจริต เดินกระโดกกระเดก ถ้าเป็นผู้หญิงก็เป็นอย่างที่คำเก่าเรียกว่า-ม้าดีดกะโหลก วางเท้ายกเท้าผลุบผลับ รอยเท้าของคนโทสจริตเป็นรอยขยุ้ม คือจิกปลายหนักส้น

ท่ายืนของคนโทสจริตมักเก้งก้างแข็งทื่อ

คนโทสจริตทำอะไรมักรีบร้อน เช่นเวลานอน ก็ปัดๆ ที่นอนพอให้ซุกหัวได้แล้วทิ้งตัวนอน ไม่ระวังแขนขา หลับอยู่ก็หน้านิ่วคิ้วขมวด ถ้าถูกปลุกก็จะลุกพรวดพราด ตอนนั้นถ้าถามอะไรก็จะฮึดฮัดเหมือนกำลังโกรธ

เวลาทำงาน เช่นกวาดพื้น คนโทสจริตจับไม้กวาดแน่น กวาดเร็ว กวาดหนัก ฟาดป่ายเปะปะ (ใครผ่านไปใกล้ กรวดทรายกระเด็นโดน) ดูเหมือนจะสะอาด แต่กวาดไม่เรียบ

งานทั่วไป คนโทสจริตมักทำแน่นหนาแข็งแรง แต่หยาบ ไม่เรียบร้อย

อาหารการกิน คนโทสจริตไม่พิถีพิถัน อย่างที่ว่า-อยู่ง่ายกินง่าย อะไรก็ได้พอให้หนักท้องเข้าว่า แต่ติดจะชอบรสเปรี้ยว ตักคำใหญ่ เคี้ยวเร็วกลืนเร็ว อิ่มเร็ว ไม่ละเลียด แต่บางมื้อเจอของไม่ถูกรสนิยม (แบบคนไม่กินนั่นไม่กินนี่) ก็อาจฉุนเฉียวบ้าง

คนโทสจริตมักหงุดหงิดง่ายเวลาดูงานศิลปะหาเรื่องติได้เยอะ ส่วนดีมักมองข้าม ซาบซึ้งยาก ไม่ชอบอ้อยอิ่ง ผ่านแล้วผ่านเลย ไม่ติดใจ

(เก็บความจากคัมภีร์วิสุทธิมรรค ภาค 1 กัมมฐานคหณนิเทส)

…………..

อภิปรายขยายความ :

โทสจริต” มีความหมายต่างจาก “โทสะ

โทสจริต” เป็นพื้นนิสัยของคนบางคน ไม่ใช่ทุกคน

โทสะ” เป็นอารมณ์ที่เกิดเป็นครั้งคราว เกิดได้ทุกคน

ถ้าพูดว่า “เห็นแล้วเกิดโทสะ” หมายถึง เห็นแล้วเกิดความโกรธ อยากทำร้ายหรือโต้ตอบให้สะใจในขณะนั้น แต่จะพูดว่า “เห็นแล้วเกิดโทสจริต” ดังนี้หาได้ไม่

เพราะ “โทสจริต” เป็นพื้นอารมณ์หรือลักษณะนิสัยที่เป็นเช่นนั้นตลอดเวลา เช่นเป็นคนอารมณ์ร้อน ก็เป็นเช่นนั้นเป็นนิสัย ไม่ใช่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราว ส่วน “โทสะ” เป็นอาการโกรธซึ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวเท่านั้น มีเวลาสงบ ไม่ใช่เกิดขึ้นตลอดเวลา

ปุถุชนย่อมเกิดโทสะคือความโกรธกันได้ทุกคน แต่ไม่ได้เป็นคนโทสจริตกันทุกคน บางคนเท่านั้นที่เป็นคน “โทสจริต

คนทุกคน เวลาโกรธ เราพูดได้ว่า-เขาเกิดโทสะ

แต่พูดไม่ได้ว่า-เขาเกิดโทสจริต

เพราะ “โทสจริต” เป็นพื้นนิสัย ไม่ใช่อารมณ์โกรธที่เกิดเป็นครั้งคราว

คนเกิดโทสะไม่ใช่คนโทสจริตหมดทุกคน

โปรดใช้คำให้ถูก ถ้าเคยพูดผิดเขียนผิด จงแก้ไขเสียให้ถูก แต่ไม่ควรอธิบายผิดให้กลายเป็นถูก

…………..

ดูก่อนภราดา!

ไม่ว่าจะเป็นอะไร –

: โกรธเป็น

: เย็นเป็น

= เป็นเป็น

#บาลีวันละคำ (2,778)

20-1-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *