เปตวัตถุ-คัมภีร์ย่อยในขุทกนิกาย (บาลีวันละคำ 3,419)
เปตวัตถุ-คัมภีร์ย่อยในขุทกนิกาย
บาปของชาวเปรต
อ่านว่า เป-ตะ-วัด-ถุ
ประกอบด้วยคำว่า เปต + วัตถุ
(๑) “เปต”
บาลีอ่านว่า เป-ตะ รากศัพท์มาจาก ปร (โลกอื่น) + อิ (ธาตุ = ไป) + ต ปัจจัย, ลบ รฺ ที่ ปร (ปร > ป), แผลง อิ ธาตุเป็น เอ
: ปร + อิ > เอ = ปเร + ต = ปเรต (ลบ ร ทำให้ เอ เลื่อนไปควบ ป) > เปต แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ไปสู่ปรโลก”
“เปต” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) เป็นคำกริยา แปลว่า ผ่านไป, ไปพ้นแล้ว, ละไป (gone past, gone before)
(2) เป็นคุณศัพท์ หมายถึง ตาย, จากไป (dead, departed)
(3) เป็นคำนาม หมายถึง วิญญาณของผู้ที่ล่วงลับไป, เปรต (the departed spirit, ghosts)
“เปต” ในที่นี้ใช้ในความหมายตามข้อ (3)
บาลี “เปต” ใช้ในภาษาไทยเป็น “เปต” ตามบาลีก็มี ใช้เป็น “เปรต” ตามรูปสันสกฤตก็มี
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –
(1) เปต : (คำนาม) สัตว์พวกหนึ่งเกิดในอบายภูมิ คือ แดนทุกข์; ผู้ตายไปแล้ว, เปรต ก็ว่า. (ป.; ส. เปฺรต).
(2) เปรต, เปรต– : (คำนาม) สัตว์พวกหนึ่งเกิดในอบายภูมิ คือ แดนทุกข์, ผีเลวจำพวกหนึ่ง มีหลายชนิด ชนิดหนึ่งตามที่ว่ากันว่ามีรูปร่างสูงโย่งเย่งเท่าต้นตาล ผมยาวหย็อกหย็อย คอยาว ผอมโซ มีปากเท่ารูเข็ม มือเท่าใบตาล กินแต่เลือดและหนองเป็นอาหาร มักร้องเสียงดังวี้ด ๆ ในตอนกลางคืน; คำเรียกเป็นเชิงด่าหรือปรามาสคนที่อดอยากผอมโซ เที่ยวรบกวนขอเขากิน หรือเมื่อมีใครได้โชคลาภก็เข้ามาขอแบ่งปันเป็นอย่างขอแบ่งส่วนบุญหรือในทำนองเช่นนั้น ว่า เปรต หรือ อ้ายเปรต. (ส.; ป. เปต).
ในที่นี้ใช้เป็น “เปต” ตามรูปบาลี
(๒) “วัตถุ”
เขียนแบบบาลีเป็น “วตฺถุ” อ่านว่า วัด-ถุ รากศัพท์มาจาก วสฺ (ธาตุ = อยู่) + รตฺถุ ปัจจัย, ลบ สฺ ที่สุดธาตุ (วสฺ > ว) และ ร ต้นปัจจัย (รตฺถุ > ตฺถุ)
: วสฺ > ว + รตฺถุ > ตฺถุ : ว + ตฺถุ = วตฺถุ
หรือ : วสฺ + รตฺถุ = วสฺรตฺถุ > วตฺถุ
“วตฺถุ” (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ที่ตั้งอยู่” มีความหมายหลายอย่าง คือ :
(1) วัตถุ, ของจริง, ทรัพย์, สิ่งของ, ของที่เป็นสาระ (object, real thing, property, thing, substance)
(2) แหล่ง, ที่ตั้ง, สนาม, พื้นที่, ที่ดิน (site, ground, field, plot)
(3) มูลฐาน, รากฐาน, ฐานรองรับ, แก่นสาร, ธาตุ (basis, foundation, seat, (objective) substratum, substance, element)
(4) โอกาส, เหตุผล, พื้นฐาน (occasion for, reason, ground)
(5) เนื้อหา, รูปเรื่อง, เรื่องราว, รายงาน (subject matter, subject, story, account)
(6) ข้อ หรือกระทง (ในข้อความ) (object, item)
บาลี “วตฺถุ” สันสกฤตเป็น “วสฺตุ”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายในสันสกฤตไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“วสฺตุ : (คำนาม) พัสดุ, วัตถุ, สิ่ง; ภาวะหรือประกฤติ, สาระหรือมูลพัสดุ, มูล; มุขยบทแห่งกาพย์หรือนาฏก; matter, substance, thing; nature or essential property, essence or pith; the main subject of a poem or play.”
“วตฺถุ” และ “วสฺตุ” ในบาลีสันสกฤต ไทยเราเอามาใช้เป็น 3 รูป คือ “วัตถุ” (วัด-ถุ) “วัสดุ” (วัด-สะ-ดุ) และ “พัสดุ” (พัด-สะ-ดุ)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของคำทั้ง 3 ในภาษาไทยไว้ดังนี้ –
(1) วัตถุ : (คำนาม) สิ่งของ. (ป.; ส. วสฺตุ).
(2) วัสดุ : (คำนาม) วัตถุที่นํามาใช้ เช่น วัสดุก่อสร้าง; ของใช้ที่มีอายุการใช้ในระยะเวลาสั้น ๆ เช่น กระดาษ ดินสอ (ใช้แก่การงบประมาณ). (ส. วสฺตุ; ป. วตฺถุ).
(3) พัสดุ : (คำนาม) สิ่งของต่าง ๆ, เครื่องใช้ไม้สอย, ที่ดิน, บ้านเรือน. (ส. วสฺตุ; ป. วตฺถุ).
ในที่นี้ใช้ทับศัพท์เป็น “วัตถุ” มีความหมายตามความหมายของ “วตฺถุ” ข้อ (5) และข้อ (6) ข้างต้น
เปต + วตฺถุ = เปตวตฺถุ (เป-ตะ-วัด-ถุ) แปลว่า “เรื่องราวของผู้เกิดเป็นเปรต”
“เปตวตฺถุ” ในที่นี้ใช้ในภาษาไทยเป็น “เปตวัตถุ”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต อธิบายคำว่า “เปตวัตถุ” ไว้ดังนี้ –
…………..
เปตวัตถุ : เรื่องเปรตเล่ากรรมชั่วในอดีตของตน เป็นคาถาล้วน รวม ๕๑ เรื่อง จัดเป็นคัมภีร์ที่ ๗ แห่งขุททกนิกาย ในพระสุตตันตปิฎก.
…………..
ขยายความ :
“เปตวัตถุ” เป็นชื่อคัมภีร์หนึ่งในขุทกนิกาย (คำเดิมสะกด ขุททกนิกาย)
“ขุทกนิกาย” เป็น 1 ใน 5 ส่วนของพระสุตตันปิฎกหรือพระสูตร (พระสุตตันตปิฎกเป็น 1 ใน 3 ของไตรปิฎก คือ พระวินัย พระสูตร พระอภิธรรม)
5 ส่วนของพระสุตตันปิฎกเรียกว่า “นิกาย” ประกอบด้วยทีฆนิกาย มัชฌิมนิกาย สังยุตนิกาย (คำเดิมสะกด สังยุตตนิกาย) อังคุตรนิกาย (คำเดิมสะกด อังคุตตรนิกาย) และขุทกนิกาย
ขุทกนิกายเป็นส่วนที่รวมคัมภีร์ย่อยไว้ 15 คัมภีร์ ที่เรียกว่า “คัมภีร์ย่อย” ไม่ได้หมายถึงเป็นคัมภีร์เล็กน้อยที่ไม่สำคัญ หากแต่หมายถึงคัมภีร์ที่ท่านไม่จัดรวมเข้าไว้ในนิกายทั้ง 4 แต่แยกออกมาไว้ต่างหาก บางคัมภีร์ใหญ่มากเช่น “ชาดก” มีความยาว 2 เล่มพระไตรปิฎก (เล่มที่ 27-28) และมีคัมภีร์อธิบายขยายความที่เรียกว่า “อรรถกถา” อีกถึง 10 เล่ม
คัมภีร์ย่อย 15 คัมภีร์มีชื่อดังนี้ (1) ขุททกปาฐะ (2) ธรรมบท (3) อุทาน (4) อิติวุตตกะ (5) สุตตนิบาต (6) วิมานวัตถุ (7) เปตวัตถุ (8 ) เถรคาถา (9) เถรีคาถา (10) ชาดก (11) นิทเทส (12) ปฏิสัมภิทามรรค (13) อปทาน (14) พุทธวงส์ (15) จริยาปิฎก
…………..
คัมภีร์ “เปตวัตถุ” ประกอบด้วยเรื่องเล่าการทำบาปของผู้ที่ไปเกิดเป็นเปรต รวม 51 เรื่อง ดังต่อไปนี้
1 เขตตูปมาเปตวัตถุ
2 สูกรเปตวัตถุ
3 ปูติมุขเปตวัตถุ
4 ปิฏฐธีตลิกเปตวัตถุ
5 ติโรกุฑฑเปตวัตถุ
6 ปัญจปุตตขาทิกเปตวัตถุ
7 สัตตปุตตขาทิกเปตวัตถุ
8 โคณเปตวัตถุ
9 มหาเปสการเปตวัตถุ
10 ขลาติยเปตวัตถุ
11 นาคเปตวัตถุ
12 อุรคเปตวัตถุ
13 สังสารโมจกเปตวัตถุ
14 สารีปุตตเถรมาตุเปติวตฺถุ
15 มัตตาเปติวตฺถุ
16 นันทาเปตวัตถุ
17 มัฏฐกุณฑลิเปตวัตถุ
18 กัณหเปตวัตถุ
19 ธนปาลเปตวัตถุ
20 จูฬเสฏฐีเปตวัตถุ
21 อังกุรเปตวัตถุ
22 อุตตรมาตุเปติวัตถุ
23 สุตตเปตวัตถุ
24 กัณณมุณฑเปตวัตถุ
25 อุพพรีเปตวัตถุ
26 อภิชชมานเปตวัตถุ
27 สานุวาสิเถรเปตวัตถุ
28 รถการีเปตวัตถุ
29 ภุสเปตวัตถุ
30 กุมารเปตวัตถุ
31 เสรินีเปตวัตถุ
32 – 33 มิคลุททเปตวัตถุ 2 เรื่อง
34 กูฏวินิจฉยกเปตวัตถุ
35 ธาตุวิวัณณเปตวัตถุ
36 อัมพสักขรเปตวัตถุ
37 เสริสสกเปตวัตถุ
38 นันทิกาเปตวัตถุ
39 เรวติเปตวัตถุ
40 อุจฉุเปตวัตถุ
41 กุมารเปตวัตถุ
42 ราชปุตตเปตวัตถุ
43 – 44 คูถขาทกเปตวัตถุ 2 เรื่อง
45 คณเปตวัตถุ
46 ปาฏลิปุตตเปตวัตถุ
47 อัมพวนเปตวัตถุ
48 อักขรุกขเปตวัตถุ
49 โภคสังหรเปตวัตถุ
50 เสฏฐิปุตตเปตวัตถุ
51 สัฏฐิกูฏสหัสสเปตวัตถุ
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ทุจริตของหลวงเป็นยอดโกง
: ทุจริตของสงฆ์เป็นยอดเปรต
#บาลีวันละคำ (3,419)
22-10-64