บาลีวันละคำ

ประสก-สีกา (บาลีวันละคำ 3,461)

ประสกสีกา

เผื่อว่าคนไทยรุ่นใหม่จะไม่รู้จัก

อ่านว่า ปฺระ-สก สี-กา

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

(1) ประสก : (ภาษาปาก) (คำนาม) ชายผู้แสดงตนเป็นคนถือพระพุทธศาสนา, คำที่บรรพชิตเรียกคฤหัสถ์ผู้ชาย, คู่กับ สีกา. (กร่อนมาจาก อุบาสก).

(2) สีกา : (ภาษาปาก) (คำนาม) คําที่บรรพชิตเรียกคฤหัสถ์ผู้หญิง, คู่กับ ประสก. (ตัดมาจาก อุบาสิกา).

…………..

แทรก-วิจารณ์พจนานุกรมฯ :

ที่คำว่า “ประสก” ข้อความในวงเล็บตอนท้ายว่า “กร่อนมาจาก อุบาสก” พจนานุกรมฯ ฉบับ พ.ศ.2542 ใช้คำว่า “ตัดมาจาก อุบาสก” พจนานุกรมฯ ฉบับ พ.ศ.2554 แก้เป็น “กร่อนมาจาก อุบาสก”

ครั้นมาถึงคำว่า “สีกา” ข้อความในวงเล็บตอนท้าย พจนานุกรมฯ ฉบับ พ.ศ.2542 ก็ใช้คำว่า “ตัดมาจาก อุบาสิกา” พจนานุกรมฯ ฉบับ พ.ศ.2554 ควรจะแก้เป็น “กร่อนมาจาก อุบาสิกา” เพื่อให้สอดคล้องกัน แต่หาได้แก้ไม่ คงใช้ค้ำเดิม คือ “ตัดมาจาก อุบาสิกา” 

จึงทำให้น่าสงสัยว่า คณะกรรมการชำระพจนานุกรมฯ มีหลักเกณฑ์อย่างไรในการที่แก้คำหนึ่ง แต่ไม่แก้อีกคำหนึ่ง หรือว่าเกิดจากความพลั้งเผลอ (ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา)

ผู้เขียนบาลีวันละคำหวังว่า ความที่กล่าวมานี้คงจะไปถึงหูตาของคณะกรรมการชำระพจนานุกรมฯ โดยไม่ต้องให้แจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรตามระเบียบหรือระบบเก่า

…………..

เป็นอันได้ความรู้ว่า “ประสก” คำเดิมคือ “อุบาสก” และ “สีกา” คำเดิมคือ “อุบาสิกา

(๑) “อุบาสก” 

อ่านว่า อุ-บา-สก บาลีเป็น “อุปาสก” อ่านว่า อุ-ปา-สะ-กะ รากศัพท์มาจาก อุป (คำอุปสรรค = เข้าไป, ใกล้ ) + อาสฺ (ธาตุ = นั่ง) + ณฺวุ ปัจจัย, แปลง ณฺวุ เป็น อก (อะ-กะ) 

: อุป + อาสฺ = อุปาสฺ + ณฺวุ > อก : อุปาสฺ + อก = อุปาสก แปลตามศัพท์ว่า “ชายผู้เข้าไปนั่งใกล้พระรัตนตรัย” 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อุปาสก” ว่า a devout or faithful layman, a lay devotee (ฆราวาสผู้ซื่อสัตย์หรือจงรักภักดี, อุบาสก)

บาลี “อุปาสก” สันสกฤตก็เป็น “อุปาสก” 

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

อุปาสก : (คำนาม) ‘อุบาสก,’ ผู้กราบไหว้, ผู้บูชา; คนใช้, ผู้ประติบัท; การบูชา; การรับใช้; a worshipper; a servant; worshipping; serving.”

อุปาสก” ใช้ในภาษาไทยเป็น “อุบาสก” (อุ-บา-สก)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อุบาสก : (คำนาม) คฤหัสถ์ผู้ชายที่นับถือพระพุทธศาสนาอย่างมั่นคง. (ป., ส. อุปาสก).”

(๒) “อุบาสิกา

อ่านตรงตัวว่า อุ-บา-สิ-กา บาลีเป็น “อุปาสิกา” อ่านว่า อุ-ปา-สิ-กา รากศัพท์มาจาก อุปาสก + อิ อาคม + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

(ก) “อุปาสก” (ดูข้างต้น)

(ข) อุปาสก ลง อิ อาคมหน้า – + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: อุปาส + อิ + = อุปาสิก + อา = อุปาสิกา 

อีกนัยหนึ่ง จากรากศัพท์ “อุปาสก” แปลง ณฺวุ เป็น อก แล้วแปลง อก เป็น อิกา เพื่อทำให้เป็นอิตถีลิงค์

: อุป + อาสฺ = อุปาสฺ + ณฺวุ > อก > อิกา : อุปาสฺ + อิกา = อุปาสิกา 

อุปาสิกา” แปลตามศัพท์ว่า “หญิงผู้เข้าไปนั่งใกล้พระรัตนตรัย” 

อุปาสิกา” ใช้ในภาษาไทยเป็น “อุบาสิกา” (อุ-บา-สิ-กา)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อุบาสิกา : (คำนาม) คฤหัสถ์ผู้หญิงที่นับถือพระพุทธศาสนาอย่างมั่นคง. (ป., ส. อุปาสิกา).”

ขยายความ :

อุบาสกอุบาสิกา” คนเก่าพูดกร่อนเป็น “ประสกสีกา

ประสกสีกา” เป็นคำที่พระภิกษุสามเณรเรียกญาติโยม ไม่ใช่ญาติโยมเรียกตัวเอง

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [259] แสดงคุณสมบัติของอุบาสก-อุบาสิกา ที่ปรากฏในคัมภีร์ดังนี้ –

…………..

อุบาสกธรรม 5 : ธรรมของอุบาสกที่ดี, สมบัติ หรือองค์คุณของอุบาสก อย่างเยี่ยม (Upāsaka-dhamma: qualities of an excellent lay disciple)

1. มีศรัทธา (to be endowed with faith)

2. มีศีล (to have good conduct)

3. ไม่ถือมงคลตื่นข่าว เชื่อกรรม ไม่เชื่อมงคล คือ มุ่งหวังผลจากการกระทำและการงาน มิใช่จากโชคลางและสิ่งที่ตื่นกันว่าขลังศักดิ์สิทธิ์ (not to be superstitious, believing in deeds, not luck)

4. ไม่แสวงหาทักขิไณยภายนอกหลักคำสอนนี้ คือ ไม่แสวงหาเขตบุญนอกหลักพระพุทธศาสนา (not to seek for the gift-worthy outside of the Buddha’s teaching)

5. กระทำความสนับสนุนในพระศาสนานี้เป็นเบื้องต้น คือ ขวนขวายในการอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนา (to do his first service in a Buddhist cause)

ธรรม 5 อย่างนี้ ในบาลีที่มาเรียกว่า ธรรมของอุบาสกรัตน์ (อุบาสกแก้ว) หรือ ธรรมของอุบาสกปทุม (อุบาสกดอกบัว)

…………..

แถม :

ความรู้ทดสอบ ตอบโดยไม่ต้องค้น – 

ใครเป็นอุบาสก-อุบาสิกา คนแรกในพระพุทธศาสนา?

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถ้ามีกุศลจิตคิดจะช่วยกันรักษาพระศาสนา

: แม้เป็นประสกสีกาก็ต้องศึกษาพระธรรมวินัย

#บาลีวันละคำ (3,461)

3-12-64 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *