บาลีวันละคำ

ปาตราส-สายมาส (บาลีวันละคำ 3,462)

ปาตราสสายมาส

มื้อเช้า-มื้อเย็น

อ่านว่า ปา-ตะ-ราด สา-ยะ-มาด

เป็นคำบาลี 2 คำ คือ “ปาตราส” และ “สายมาส

(๑) “ปาตราส

บาลีอ่านว่า ปา-ตะ-รา-สะ รากศัพท์มาจาก ปาต (เวลาเช้า) + อสฺ (ธาตุ = กิน) + ปัจจัย, ลบ , ลง อาคม, ยืดเสียง อะ ที่ -(สฺ) เป็น อา (ภาษาสูตรไวยากรณ์ว่า “ทีฆะสระหลัง”)

: ปาต + + อสฺ = ปาตรส > ปาตราส (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “อาหารที่พึงกินในเวลาเช้า” หมายถึง อาหารเช้า, อาหารมื้อเช้า (morning food, breakfast)

(๒) “สายมาส

บาลีอ่านว่า สา-ยะ-มา-สะ รากศัพท์มาจาก สายํ (เวลาเย็น) + อสฺ (ธาตุ = กิน) + (อะ) ปัจจัย, แปลงนิคหิตเป็น , ยืดเสียง อะ ที่ -(สฺ) เป็น อา 

: สายํ > สายม + อสฺ = สายมส > สายมาส (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “อาหารที่พึงกินในเวลาเย็น” หมายถึง อาหารเย็น, อาหารค่ำ (dinner, supper)

ขยายความ :

การรับประทานอาหารของคนไทยหรือคนทั่วไปมี 3 มื้อ คือ เช้า กลางวัน เย็น

แต่ชาวชมพูทวีปแบ่งการรับประทานเป็น 2 ช่วง คือ

(1) “ปาตราส” มื้อเช้า กำหนดตั้งแต่อรุณขึ้นจนถึงเที่ยงวัน

(2) “สายมาส” มื้อเย็น กำหนดตั้งแต่เที่ยงวันจนถึงรุ่งอรุณวันใหม่

บรรพชิตในพระพุทธศาสนาถือการฉันอาหารเพียงมื้อเดียว คือมื้อ “ปาตราส” ไม่ฉันในมื้อ “สายมาส” จึงมีคำเรียกว่า “เอกภัตติกะ” (เอ-กะ-พัด-ติ-กะ) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีอาหารมื้อเดียว” 

แต่ “ปาตราส” นั้น ตั้งแต่อรุณขึ้นจนถึงเที่ยงวันจะฉันกี่ครั้งก็ได้ ดังที่พระภิกษุสามเณรทั่วไปในเมืองไทยฉันเช้าแล้วฉันเพล คือฉัน 2 ครั้ง อย่างนี้ก็ยังคงเรียกว่า “เอกภัตติกะ” = ผู้มีอาหารมื้อเดียว อยู่นั่นเอง

ฉันสองมื้อหรือฉันมื้อเดียวตามความเข้าใจของคนไทยทั่วไปจึงนับว่ายังคลาดเคลื่อนกับความหมายของ “ฉันมื้อเดียว” ตามวัฒนธรรมของบรรพชิตในพระพุทธศาสนาซึ่งถือตามวัฒนธรรมมื้ออาหารของชาวชมพูทวีป

…………..

เมื่อใช้ในภาษาไทย ทั้ง 2 คำนี้คงสะกดตรงตามรูปบาลี แต่อ่านแบบไทย คือ คำว่า “ปาตราส” อ่านว่า ปา-ตะ-ราด คำว่า “สายมาส” อ่านว่า สา-ยะ-มาด นี่เป็นการอ่านที่ผู้เขียนบาลีวันละคำเสนอขึ้นมาเอง

คำว่า “ปาตราส” และ “สายมาส” ยังไม่มีเก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 และน่าจะยังไม่มีใครใช้ในภาษาไทย

จึงขอถือโอกาสนี้พูดประโยคยอดนิยมของนักจัดรายการเพลงทางสถานีวิทยุในสมัยเมื่อครึ่งศตวรรษที่ผ่านมาว่า “ฝากไว้ในอ้อมใจของมิตรรักแฟนเพลง” อีกคำหนึ่ง

ผู้เขียนบาลีวันละคำเคยเสนอคำใหม่ๆ ที่มาจากภาษาบาลีเข้าสู่ภาษาไทยมาบ้างแล้ว อาจมีผู้สงสัยว่า จะทำไปทำไม จะมีประโยชน์อะไร-ในท่ามกลางกระแสความรู้สึกของผู้คนหลายๆ กลุ่มที่มีอาการไม่มีความสุขเมื่อได้ฟังหรือได้อ่านภาษาบาลี เช่นบ่นว่าฟังไม่รู้เรื่อง อ่านไม่ออก และผู้คนอีกส่วนหนึ่งซึ่งนับวันจะมีมากขึ้นที่ไม่รู้สึกภาคภูมิใจในภาษาไทยของเราเอง

ภาษาบาลีก็ไม่เอา

ภาษาไทยของเราก็ไม่รัก

การเสนอคำแปลกๆ ที่มาจากภาษาบาลีเพื่อให้คนใช้พูดกันในภาษาไทย จะมีใครเขาใช้ ทำเช่นนั้นจะมีประโยชน์อะไร

ผู้เขียนบาลีวันละคำไม่ได้หวังว่า เสนอไปแล้วจะต้องมีคนยอมรับและเอาไปใช้พูดกัน แต่หวังเพียงได้ทำหน้าที่ของนักเรียนบาลี คือเรียนมาแล้วเห็นว่าอะไรดีก็นำมาเสนอไว้ให้เพื่อนร่วมชาติได้รับรู้ หมดหน้าที่เพียงแค่นี้ 

หากจะมีผู้นำไปพูดไปใช้ นั่นคือกำไรของภาษา ไม่มีใครรับก็ไม่ได้ขาดทุนหรือเสียอะไร เพราะไม่ต้องลงทุนอะไรนอกจากใช้สติปัญญาความคิด ซึ่งก็เท่ากับเป็นการฝึกฝนตนเอง มีแต่ได้ประโยชน์

อีกประการหนึ่ง ผู้เขียนบาลีวันละคำเชื่อว่า ผู้ที่มีใจรักทางภาษาและรักภาษาของชาติตนคงไม่ได้มีแต่เราคนเดียว ต้องมีคนอื่นอีก หากคนที่มีใจเดียวกันได้มารู้มาเห็นว่ามีคนพยายามทำเช่นนี้ ก็คงจะมีกำลังใจ เหมือนได้เพื่อน ไม่รู้สึกว่าโดดเดี่ยวเดียวดาย และอาจเป็นแรงบันดาลใจหรือผลักดันให้คิดอ่านต่อยอดให้งานเช่นนี้งอกงามต่อไปอีกก็เป็นได้

สรุปว่า การทำงานเช่นนี้มีแต่ได้ ไม่มีเสีย

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถ้าแม้แต่ภาษาของตัวเองก็ยังไม่ภูมิใจ

: แล้วจะหวังให้ใครเขามานับถือเรา

#บาลีวันละคำ (3,462)

4-12-64 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *