บาลีวันละคำ

ทัพพี (บาลีวันละคำ 762)

ทัพพี

อ่านว่า ทับ-พี

ศัพท์บาลีมีทั้งที่เป็น “ทพฺพิ” (ทับ-พิ) และ “ทพฺพี” (ทับ-พี)

(ต่างกันที่คำหนึ่งเป็นสระ อิ คำหนึ่งเป็นสระ อี แต่เป็นคำเดียวกัน)

ทพฺพิ” (ทพฺพี) รากศัพท์มาจาก –

(1) ทุ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + ปัจจัย + อิ (ปัจจัยที่ทำให้เป็นอิตถีลิงค์), ลบสระที่ธาตุ, ซ้อน

: ทุ > + = ทพ + = ทพฺพ + อิ = ทพฺพิ แปลตามศัพท์ว่า “วัตถุที่เป็นไป” (คือของธรรมดาที่มีทั่วไป)

(2) ทรฺ ธาตุ (= ผ่า, ทำลาย) + พิ ปัจจัย, แปลง รฺ เป็น พฺ

: ทรฺ > ทพ + พิ = ทพฺพิ แปลตามศัพท์ว่า “วัตถุเป็นเครื่องผ่าก้อนข้าวเป็นต้น

ทพฺพิ” (ทพฺพี) สันสกฤตเป็น “ทรฺวี” นักภาษาบอกว่า รากศัพท์เดิมของคำว่า “ทรฺวี” คือ dāru-ī (ทารุ-อี) “ทารุ” แปลว่า “ไม้” ดังนั้น “ทรฺวี” หรือ “ทพฺพี” จึงแปลตามรากศัพท์เดิมว่า “ทำด้วยไม้” (made of wood)

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ทพฺพี” ว่า a wooden spoon, a ladle (ช้อนที่ทำด้วยไม้, ทัพพี)

นอกจากนี้ “ทพฺพิ” (ทพฺพี) ยังหมายถึง “คองูที่แผ่ออก” (the hood of a snake) หรือพังพานงูอีกด้วย เนื่องจากเมื่องูแผ่พังพาน ตรงคอจะมีลักษณะเหมือนทัพพี

คนไทยเรียก “ทพฺพี” ว่า “ทัพพี” เข้าใจกันได้ดีโดยไม่ต้องแปล บางทีออกเสียงว่า ทอระพี (แผลงจาก “ทรฺวี”) หรือเพี้ยนเป็น ทาระพี สาระพี ทะพี ตะพี

คำเดิมของไทยเรียกสิ่งของลักษณะเดียวกันนี้ว่า กระจ่า, จวัก หรือ ตวัก

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ทัพพี : (คำนาม) เครื่องตักข้าวและแกงมีรูปร่างคล้ายช้อน แต่ใหญ่กว่า ทําด้วยทองเหลืองเป็นต้น, ทรพี ก็ว่า. (บาลี. ทพฺพิ; สันสกฤต. ทรฺวี)”

: ทัพพีไม่งอตักแกงไม่ติด ฉันใด

: ตรงไปเสียทุกเรื่อง ก็ทำงานให้บ้านเมืองไม่สัมฤทธิ์ ฉันนั้น

#บาลีวันละคำ (762)

19-6-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *