บาลีวันละคำ

บรรณานุกรม (บาลีวันละคำ 3,459)

บรรณานุกรม

หลักวิชาต้องมีที่มาที่ไป

อ่านว่า บัน-นา-นุ-กฺรม

ประกอบด้วย บรรณ + อนุกรม

(๑) “บรรณ” 

บาลีเป็น “ปณฺณ” อ่านว่า ปัน-นะ รากศัพท์มาจาก –

(1) ปูร (ธาตุ = เต็ม) + (อะ) ปัจจัย, แปลง ปูร เป็น ปณฺณ 

: ปูรฺ + = ปูร > ปณฺณ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ทำให้เต็ม” (คือทำให้ต้นไม้เต็มต้น)

(2) ปต (ธาตุ = ตกไป) + (อะ) ปัจจัย, แปลง เป็น ณฺณ 

: ปตฺ + = ปต > ปณฺณ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่จะร่วงไปโดยไม่นาน

(3) ปณฺณฺ (ธาตุ = เขียวสด) + (อะ) ปัจจัย 

: ปณฺณฺ + = ปณฺณ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เขียวสด

ปณฺณ” (นปุงสกลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ใบไม้ (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ใบพลู) (a leaf [esp. betel leaf])

(2) ใบไม้ที่ใช้เขียน, ใบไม้ที่มีหนังสือจารึกอยู่, จดหมาย; ของบริจาค, เครื่องบรรณาการ (a leaf for writing upon, written leaf, letter; donation, bequest) 

(3) ขนนก, ปีกนก (a feather, wing)

ชั้นเดิมศัพท์นี้หมายถึง “ใบไม้” แต่ต่อมาความหมายขยายไปถึง “หนังสือ” อาจเป็นเพราะแต่เดิมมนุษย์ใช้ใบไม้เป็นที่ขีดเขียนลายลักษณ์ลงไป “ปณฺณ” จึงหมายถึงหนังสือไปด้วย 

ปณฺณ” ในภาษาไทยใช้เป็น “บรรณ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

บรรณ, บรรณ– : (คำนาม) ปีก; หนังสือ; ใบไม้. (ส. ปรฺณ; ป. ปณฺณ).”

(๒) “อนุกรม

บาลีเป็น “อนุกฺกม” (อะ-นุก-กะ-มะ) ประกอบด้วย อนุ + กม

(ก) “อนุ” เป็นคำอุปสรรค มีความหมายว่า –

(1) ภายหลัง, ข้างหลัง (after, behind) (คือมีสิ่งหนึ่งไปข้างหน้า และสิ่งนี้ตามไปข้างหลัง)

(2) ไปยัง, ตรงไปยังเป้าหมาย, ดำเนินต่อไป, ข้ามไปยัง, ข้างหน้า (for, towards an aim, on to, over to, forward)

(ข) “กม” (กะ-มะ) รากศัพท์มาจาก กมฺ (ธาตุ = ก้าวไป) + ปัจจัย, ลบ

: กมฺ + = กมณ > กม แปลตามศัพท์ว่า “ขั้นตอนเป็นที่ก้าวไป” หมายถึง การไป, ก้าว, หนทาง, วิธี (going, proceeding, course, step, way, manner)

อนุ + กม ซ้อน กฺ ระหว่างกลาง : อนุ + กฺ + กม = อนุกฺกม แปลตามศัพท์ว่า “การไปตามรูป” “การก้าวตาม” หมายถึง ลำดับ, วาระ, การตามกันไป, การสืบต่อ (order, turn, succession, going along)

อนุกฺกม” ใช้ในภาษาไทยอิงรูปสันสกฤตเป็น “อนุกรม” (อะ-นุ-กฺรม)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อนุกรม : (คำนาม) ลําดับ, ระเบียบ, ชั้น, เช่น โดยอนุกรม, นิยมใช้เป็นส่วนท้ายของสมาส เช่น พจนานุกรม ปทานุกรม นามานุกรม สารานุกรม อักขรานุกรม. (ส. อนุกฺรม; ป. อนุกฺกม).”

บรรณ + อนุกรม = บรรณานุกรม 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

บรรณานุกรม : (คำนาม) บัญชีรายชื่อหนังสือที่ใช้ประกอบการค้นคว้า, บัญชีรายชื่อหนังสือในหัวข้อเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ยุคใดยุคหนึ่ง หรือของผู้เขียนคนใดคนหนึ่ง มักจะมีรายละเอียดเกี่ยวกับการพิมพ์.”

อภิปรายขยายความ :

พจนานุกรมแปล ไทย-ไทย ฉับอาจารย์เปลื้อง ณ นคร บอกความหมายของ “บรรณานุกรม” ไว้ว่า –

บรรณานุกรม : (คำนาม) บัญชีหนังสือจัดเรียงตามลำดับอักษร บอกเนื้อเรื่อง ผู้แต่ง และเวลาพิมพ์, คำตั้งขึ้นเทียบคำ อก. bibliography.”

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล bibliography เป็นบาลี ดังนี้: 

(1) ganthavaṃsa คนฺถวํส (คัน-ถะ-วัง-วะ) = รายการหนังสือ, รายการตำรา 

(2) ganthasūci คนฺถสูจิ (คัน-ถะ-สู-จิ) = รายการบ่งบอกถึงหนังสือ, รายการหนังสืออ้างอิง

โปรดสังเกต :

bibliography = บรรณานุกรม 

บรรณานุกรม” แผลงกลับเป็นบาลีเป็น “ปณฺณานุกฺกม” (ปัน-นา-นุก-กะ-มะ) 

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี ใช้คำว่า “คนฺถวํส” และ “คนฺถสูจิ” เมื่อแปลคำว่า bibliography เป็นบาลี ไม่ได้ใช้คำว่า “ปณฺณานุกฺกม

เรื่องนี้พออธิบายได้ กล่าวคือ ในการบัญญัติศัพท์ เราเห็นคำอังกฤษแล้วคิดเป็นคำไทย และในภาษาไทยเรารับคำบาลีสันสกฤตมาใช้เป็นอันมาก บาลีนั้นมากับพระพุทธศาสนา เรารับเอาพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาของเรา ภาษาที่มากับพระศาสนาเรารู้สึกว่าก็คือภาษาของเราไปด้วย ไม่ได้คิดว่าเป็นของต่างชาติ แต่ก็มีท่านบางจำพวกพอใจที่จะเรียกภาษาบาลีว่า “ภาษาแขก” สร้างความรู้สึกแปลกแยกว่าบาลีไม่ใช่ภาษาของเรา

อย่างไรก็ตาม ในการบัญญัติศัพท์เป็นคำบาลีสันสกฤต เราก็ไม่ได้คิดไปถึงขั้นที่ว่าคำอังกฤษนั้นๆ ควรเรียกเป็นคำบาลีตามวรรณคดีบาลีว่าอย่างไร เราคงคิดเพียงขอบเขตของภาษาไทย นั่นคือพูดภาษาไทย แต่ใช้คำบาลีเท่านั้น ดังนั้น รูปคำตามที่เราบัญญัติจึงอาจไม่ตรงตามหลักนิยมในวรรณคดีบาลี ข้อนี้จะต่างกับพจนานุกรมอังกฤษ-บาลี ซึ่งเมื่อแปลคำอังกฤษเป็นบาลีย่อมจะต้องยึดหลักภาษาตามวรรณคดีบาลีเป็นสำคัญ

ยกประเด็นนี้ขึ้นมาปรารภเพื่อชวนให้คิดว่า การแปลภาษาหรือบัญญัติศัพท์เป็นเรื่องละเอียดอ่อน และเป็นความงามอย่างหนึ่งในภาษาของเรา ปัจจุบันมีแนวโน้มว่าเราจะบัญญัติศัพท์กันน้อยลง แต่ใช้วิธีพูดหรือเขียนทับศัพท์คำอังกฤษกันมากขึ้น ถึงกับเกิดแนวคิดของบางคนบางกลุ่มว่า ไม่จำเป็นต้องบัญญัติศัพท์กันอีกแล้ว ใช้ทับศัพท์ไปเลยสะดวกกว่า ถ้ายึดตามแนวคิดเช่นนี้ก็เท่ากับว่า ความอ่อนละเอียดละเมียดละไมในภาษาไทยของเรานับวันก็จะเสื่อมถอยลงไป ภาษาง่ายๆ หรือภาษามักง่ายจะเกิดมีมากขึ้นเรื่อยๆ

แต่ถึงกระนั้น เฉพาะคำว่า “บรรณานุกรม” หรือที่ฝรั่งเรียกว่า bibliography ก็ให้ข้อคิดแก่เราได้ว่า การศึกษาวิทยาการใดๆ ก็ตาม เรื่องเก่าเค้าเดิมที่มีผู้ศึกษาเรียนรู้จนได้วางเป็นระบบไว้แต่ปางก่อนนั้น ผู้ปรารถนาจะเป็นปราชญ์ควรต้องฉลาดตามไปเรียนรู้ไว้ การละเลย ทอดทิ้ง หรือมองข้ามหยามหมิ่นความรู้ความคิดของคนเก่า หาใช่วิสัยของคนลาดไม่

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ทางโลก เรียนวิชาเขายังอ้างที่มาที่ไป

: ทางศาสนา เรียนพระธรรมวินัย ไฉนจึงรังเกียจคัมภีร์?

#บาลีวันละคำ (3,459)

1-12-64 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *