สาวกสังโฆ (ชุดสังฆคุณ 9) (บาลีวันละคำ 3,779)
สาวกสังโฆ (ชุดสังฆคุณ 9)
…………..
ผู้นับถือพระพุทธศาสนาย่อมสวดสาธยายคุณแห่งพระรัตนตรัย คือ พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ กันอยู่เสมอ
คำบาลีแสดงพระสังฆคุณว่าดังนี้ –
…………..
สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ
อุชุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ
ญายปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ
สามีจิปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ
ยทิทํ จตฺตาริ ปุริสยุคานิ อฏฺฐ ปุริสปุคฺคลา
เอส ภควโต สาวกสงฺโฆ
อาหุเนยฺโย ปาหุเนยฺโย ทกฺขิเณยฺโย อญฺชลีกรณีโย
อนุตฺตรํ ปุญฺญกฺเขตฺตํ โลกสฺสาติ.
ที่มา: มหาปรินิพพานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค
พระไตรปิฎกเล่ม 10 ข้อ 89 หน้า 111
…………..
พระสังฆคุณ 9 บทว่า “สาวกสังโฆ” เป็นบทที่เป็นประธานในประโยคเป็นคำนาม ไม่ใช่คำแสดงสังฆคุณ
คำว่า “สาวกสังโฆ” ถ้าเขียนแบบคำอ่านต้องเขียนเป็น “สาวะกะสังโฆ” ในที่นี้เขียนแบบคำไทยเป็น “สาวกสังโฆ” อ่านว่า สา-วะ-กะ-สัง-โค
“สาวกสังโฆ” เขียนแบบบาลีเป็น “สาวกสงฺโฆ” อ่านว่า สา-วะ-กะ-สัง-โค ประกอบด้วยคำว่า สาวก + สงฺโฆ
(๑) “สาวก”
บาลีอ่านว่า สา-วะ-กะ รากศัพท์มาจาก สุ (ธาตุ = ฟัง) + ณฺวุ ปัจจัย, แผลง อุ ที่ สุ เป็น โอ แล้วแปลง โอ เป็น อว (สุ > โส > สว), ทีฆะ อะ ที่ ส-(ว) เป็น อา ด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ณ (สว > สาว), แปลง ณฺวุ เป็น อก (อะ-กะ)
: สุ > โส > สว + ณฺวุ > อก : สว + อก = สวก > สาวก แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ฟังคำของครู” หมายถึง ผู้ฟัง, สาวก (a hearer, disciple)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สาวก : (คำนาม) ศิษย์ของศาสดา. (ป.; ส. ศฺราวก).”
(๒) “สงฺโฆ”
รูปคำเดิมเป็น “สงฺฆ” อ่านว่า สัง-คะ รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน) + หนฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + อ (อะ) ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น ง (สํ > สงฺ), แปลง หนฺ เป็น ฆ
: สํ > สงฺ + หนฺ > ฆ + อ = สงฺฆ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า –
(1) “หมู่เป็นที่ไปรวมกันแห่งส่วนย่อยโดยไม่แปลกกัน” หมายความว่า ส่วนย่อยที่มีคุณสมบัติหลักๆ “ไม่แปลกกัน” คือมีคุณสมบัติตรงกัน เหมือนกัน ส่วนย่อยดังกล่าวนี้ไปอยู่รวมกัน คือเกาะกลุ่มกัน ดังนี้เรียกว่า “สงฺฆ”
(2) “หมู่ที่รวมกันโดยมีความเห็นและศีลเสมอกัน” ความหมายนี้เล็งที่บรรพชิตหรือสาวกที่เป็นนักบวชในลัทธิศาสนาต่างๆ เช่นภิกษุในพระพุทธศาสนาเป็นต้น ต้องมีความคิดเห็นและความประพฤติลงรอยกันจึงจะรวมเป็น “สงฺฆ” อยู่ได้
“สงฺฆ” จึงหมายถึง หมู่, กอง, กลุ่ม, คณะ
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สงฺฆ” เป็นอังกฤษว่า –
(1) multitude, assemblage (ฝูงชน, ชุมนุมชน, หมู่, ฝูง)
(2) the Order, the priesthood, the clergy, the Buddhist church (คณะสงฆ์, พระ, นักบวช, พุทธจักร)
(3) a larger assemblage, a community (กลุ่มใหญ่, ประชาคม)
“สงฺฆ” ปกติในภาษาไทยใช้ว่า “สงฆ์” ถ้าอยู่หน้าคำสมาสมักใช้เป็น “สังฆ-”
“สงฆ์” ในพระพุทธศาสนามีความหมาย 2 อย่าง คือ –
(1) “สาวกสงฆ์” หมายถึงหมู่สาวกของพระพุทธเจ้า ที่ได้บรรลุธรรมในภูมิอริยบุคคลคือเป็นพระโสดาบันขึ้นไป ดังคำสวดในสังฆคุณที่ว่า สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ
(2) “ภิกขุสงฆ์” หมายถึงชุมนุมภิกษุหมู่หนึ่งตั้งแต่ 4 รูปขึ้นไป ซึ่งสามารถประกอบสังฆกรรมได้ตามกำหนดทางพระวินัย
บางทีเรียกอย่างแรกว่า “อริยสงฆ์” อย่างหลังว่า “สมมติสงฆ์”
ในภาษาไทย คำว่า “สงฆ์” อาจหมายถึงภิกษุที่รวมกันเป็นหมู่คณะก็ได้ หมายถึงภิกษุแต่ละรูปก็ได้
ในที่นี้ “สงฆ์” หมายถึง “อริยสงฆ์”
สาวก + สงฺฆ = สาวกสงฺฆ (สา-วะ-กะ-สัง-คะ) แปลว่า “หมู่แห่งสาวก” หมายถึง พระอริยบุคคล 8 จำพวก คือ –
1 ผู้บรรลุโสดาปัตติมรรค
2 ผู้บรรลุโสดาปัตติผล
3 ผู้บรรลุสกทาคามิมรรค
4 ผู้บรรลุสกทาคามิผล
5 ผู้บรรลุอนาคามิมรรค
6 ผู้บรรลุอนาคามิผล
7 ผู้บรรลุอรหัตมรรค
8 ผู้บรรลุอรหัตผล
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สาวกสงฺฆ” ว่า the congregation of the eight Aryas (หมู่แห่งอริยสาวกแปดจำพวก)
“สาวกสงฺฆ” เป็นคำนาม แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกวจนะ ปุงลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “สาวกสงฺโฆ” อ่านว่า สา-วะ-กะ-สัง-โค
“สาวกสงฺโฆ” เขียนแบบไทยเป็น “สาวกสังโฆ” อ่านว่า สา-วะ-กะ-สัง-โค (ไม่ใช่ สา-วก-สัง-โค)
ขยายความ :
คัมภีร์วิสุทธิมรรค ภาค 1 หน้า 280 (ฉอนุสสตินิทเทส) แสดงความหมายของคำว่า “สาวกสงฺโฆ” ไว้ดังนี้ –
…………..
ภควโต โอวาทานุสาสนึ สกฺกจฺจํ สุณนฺตีติ สาวกา ฯ
บุคคลเหล่าใด ฟังพระโอวาทานุสาสนีของพระผู้มีพระภาคเจ้าโดยเคารพ (คือตั้งใจที่จะนำไปปฏิบัติตาม) เหตุนั้น บุคคลเหล่านั้นจึงชื่อว่า “สาวก” (แปลว่า ผู้ฟัง)
สาวกานํ สงฺโฆ สาวกสงฺโฆ ฯ สีลทิฏฺฐิสามญฺญตาย สงฺฆาฏภาวํ อาปนฺโน สาวกสมูโหติ อตฺโถ ฯ
หมู่แห่งสาวกทั้งหลายชื่อว่า “สาวกสังโฆ” หมายความว่า ชุมนุมแห่งสาวกผู้รวมกันเป็นหมู่ด้วยสีลสามัญญตา (ความเป็นผู้เสมอกันโดยศีล คือรักษาศีลบริสุทธิ์เสมอกัน) และด้วยทิฏฐิสามัญญตา (ความเป็นผู้เสมอกันโดยทิฏฐิ คือมีความเห็นถูกต้องเสมอกัน)
…………..
ดูก่อนภราดา!
“สาวก” แปลว่า “ผู้ฟัง” –
: ถ้าฟังเพราะอยากได้บุญ ก็ยังวนเวียนวุ่นอยู่ในสังสารวัฏ
: ถ้าฟังเพราะตั้งใจเอาไปปฏิบัติ ก็มีหวังหลุดพ้นจากวนเวียน
#บาลีวันละคำ (3,779)
17-10-65
…………………………….
……………………………