บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

คำพยากรณ์สังฆมณฑล (๑)

คำพยากรณ์สังฆมณฑล (๑)

—————————–

เรื่อง “คำพยากรณ์สังฆมณฑล” นี้ มีอยู่ในคัมภีร์เถรคาถา

คัมภีร์เถรคาถาเป็นคัมภีร์หนึ่งในขุทกนิกาย 

ขุทกนิกายประกอบด้วยคัมภีร์ย่อย ๑๕ คัมภีร์ คือ 

(๑) ขุททกปาฐะ 

(๒) ธรรมบท 

(๓) อุทาน 

(๔) อิติวุตตกะ 

(๕) สุตตนิบาต 

(๖) วิมานวัตถุ 

(๗) เปตวัตถุ 

(๘) เถรคาถา 

(๙) เถรีคาถา 

(๑๐) ชาดก 

(๑๑) นิทเทส (มหานิทเทส-จูฬนิทเทส) 

(๑๒) ปฏิสัมภิทามรรค 

(๑๓) อปทาน 

(๑๔) พุทธวงส์ 

(๑๕) จริยาปิฎก

ขุทกนิกายเป็นหนึ่งในนิกายทั้ง ๕ ในพระสุตตันตปิฎก คือ ทีฆนิกาย มัชฌิมนิกาย สังยุตนิกาย อังคุตรนิกาย และขุทกนิกาย

พระสุตตันตปิฎกเป็นหนึ่งปิฎกทั้ง ๓ ที่ประกอบเข้าเป็นพระไตรปิฎก คือ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธัมมปิฎก

สรุปว่า เรื่อง “คำพยากรณ์สังฆมณฑล” นี้ มีมาในพระไตรปิฎก

พระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทยชุด ๔๕ เล่ม ที่เรียกว่าพระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ คัมภีร์เถรคาถาอยู่ในเล่มที่ ๒๖ ในเล่มนี้มีคัมภีร์ย่อยรวมอยู่ด้วยกัน ๔ คัมภีร์ คือ วิมานวัตถุ เปตวัตถุ เถรคาถา เถรีคาถา (คือคัมภีร์ลำดับที่ ๖-๗-๘-๙)

เนื้อหาในคัมภีร์เถรคาถาว่าด้วยถ้อยคำของพระอรหันตเถระ ๒๖๔ รูปที่กล่าวแสดงความรู้สึกสงบประณีตในการบรรลุธรรมเป็นต้น ถ้อยคำเหล่านี้รจนาไว้เป็น “คาถา” คือบทกลอนภาษาบาลีตลอดทั้งคัมภีร์ โดยแบ่งเรื่องเป็นกลุ่มตามจำนวนบทคาถาของพระเถระแต่ละรูป 

การแบ่งเรื่องเป็นกลุ่มตามจำนวนบทคาถาเช่นนี้ เรียกว่า “นิบาต” เช่นพระเถระที่กล่าวรูปละ ๑ คาถา มีทั้งหมด ๑๒๐ รูป ท่านก็รวมเข้าไว้เป็นกลุ่มเดียวกัน เรียกว่า “เอกนิบาต” แปลว่า “กลุ่มที่มี ๑ คาถา” พระเถระที่กล่าวรูปละ ๒ คาถา มีทั้งหมด ๔๙ รูป รวมเข้าไว้เป็นกลุ่มเดียวกัน เรียกว่า “ทุกนิบาต” (ทุ-กะ-) แปลว่า “กลุ่มที่มี ๒ คาถา” อย่างนี้เป็นต้น

เรื่อง “คำพยากรณ์สังฆมณฑล” อยู่ในกลุ่ม “ติงสนิบาต” คือพระเถระที่กล่าวรูปละ ๓๐ คาถา (ติงส = ๓๐)

พระเถระที่กล่าวคาถาในกลุ่มติงสนิบาตนี้มี ๓ รูป คือ พระปุสสะ พระสารีบุตร และพระอานนท์

เรื่อง “คำพยากรณ์สังฆมณฑล” เป็นคาถาของพระปุสสเถระ อยู่ในพระไตรปิฎกเล่ม ๒๖ ข้อ ๓๙๕

ถ้อยคำของพระปุสสเถระที่เป็นคำบาลีและคำแปลเป็นไทยแต่ละคาถามีข้อความดังต่อไปนี้ 

…………………

ขอขัดจังหวะนิดหนึ่ง คือ 

ท่านที่รังเกียจภาษาบาลี ถึงขั้นแสดงออกว่าเอาคำบาลีมาพูดทำไม พูดคำบาลีแล้วคนก็ไม่รู้เรื่อง ยังจะเอามาพูดทำไม ท่านผู้ใดรังเกียจถึงขนาดนี้ก็ขอให้ท่านข้ามคำบาลีไป ทำอารมณ์เสมือนว่าไม่มีคำบาลีอยู่ตรงนี้ ขอให้ท่านอ่านเฉพาะคำแปลภาษาไทย

ส่วนท่านที่รังเกียจแม้กระทั่งคำแปลว่า แปลยังไง แปลแล้วอ่านไม่รู้เรื่องแปลทำไม มันต้องแปลให้คนเขาอ่านรู้เรื่อง แปลแบบนี้แปลทำไม ผมก็ต้องกราบขออภัยไว้ ณ ที่นี้ สติปัญญามีแค่นี้ก็ทำได้แค่นี้

บ้านเราคนเรียนบาลีมีเยอะ คนสนับสนุนส่งเสริมให้เรียนบาลีก็มีเยอะมาก แต่คนที่สนับสนุนให้คนเรียนบาลีเรียนไปให้ถึงพระไตรปิฎกแทบจะไม่มี คนเรียนบาลีที่ตั้งใจแปลพระไตรปิฎกให้คนอ่านรู้เรื่องก็แทบจะไม่มี

ต้นฉบับคำสอนของพระพุทธเจ้าบันทึกไว้เป็นภาษาบาลี ใครจะรังเกียจภาษาบาลีขนาดไหนก็ทิ้งภาษาบาลีไม่ได้ ใครที่ตำหนิบ่นว่าแปลภาษาบาลีแล้วอ่านไม่รู้เรื่อง ถ้ารักและห่วงพระศาสนาก็ขอได้โปรดช่วยกันคิดหาทางด้วยว่า ทำอย่างไรจึงจะมีคนที่แปลภาษาบาลีแล้วอ่านรู้เรื่อง และทำอย่างไรคนที่แปลภาษาบาลีแล้วอ่านรู้เรื่องจึงจะมีมากๆ

คนนั่งรอกินมีเยอะ แต่คนช่วยทำมีน้อย ก็เป็นอย่างนี้แหละครับ

เชิญอ่านได้แล้วครับ

…………………

ปาสาทิเก พหู ทิสฺวา

ภาวิตตฺเต สุสํวุเต

อิสิ ปณฺฑรสโคตฺโต

อปุจฺฉิ ปุสฺสสวฺหยํ ฯ

ฤๅษีมีชื่อตามโคตรว่าปัณฑรสะ 

ได้เห็นภิกษุเป็นอันมากที่น่าเลื่อมใส 

อบรมตนแล้ว สำรวมด้วยดี 

จึงได้ถามพระปุสสเถระว่า —

กึฉนฺทา กิมธิปฺปายา

กิมากปฺปา ภวิสฺสเร 

อนาคตมฺหิ กาลมฺหิ

ตํ เม อกฺขาหิ ปุจฺฉิโต ฯ

ในอนาคตกาล 

ภิกษุทั้งหลายในศาสนานี้

จักมีความพอใจอย่างไร มีความประสงค์อย่างไร 

ข้าพเจ้าถามแล้วขอจงบอกความข้อนั้นเถิด

(พระปุสสเถระจึงกล่าวตอบด้วยคาถาเหล่านี้ความว่า)

สุโณหิ วจนํ มยฺหํ

อิสิ ปณฺฑรสวฺหย

สกฺกจฺจํ อุปธาเรหิ

อาจิกฺขิสฺสามฺยนาคตํ ฯ

ดูก่อนปัณฑรสฤๅษี 

ขอเชิญฟังคำของอาตมา 

จงจำคำของอาตมาให้ดี 

อาตมาจะบอกซึ่งข้อความที่ท่านถามถึงอนาคต 

(โปรดติดตามอ่านตอนต่อไป)

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๑ ธันวาคม ๒๕๖๔

๑๗:๕๕

………………………………….

คำพยากรณ์สังฆมณฑล (๒)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *