วตฺถุ (บาลีวันละคำ 297)
วตฺถุ
อ่านว่า วัด-ถุ
คำนี้สันสกฤตเป็น วสฺตุ ภาษาไทยเอามาใช้ว่า วัตถุ, วัสดุ, พัสดุ
และจำกัดความหมายแตกต่างกัน คือ –
1. “วัตถุ” หมายถึงสิ่งของทั่วไปที่สามารถสัมผัสจับต้องได้
2. “วัสดุ” หมายถึงของที่นํามาใช้เพื่อประกอบขึ้นเป็นสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น วัสดุก่อสร้าง; ของใช้ที่มีอายุการใช้ในระยะเวลาสั้น ๆ ใช้แล้วหมดเปลืองไป เช่น กระดาษ ดินสอ
3. “พัสดุ” หมายถึงสิ่งของต่าง ๆ เช่นในคำว่า พัสดุไปรษณีย์, พัสดุภัณฑ์, เครื่องใช้ไม้สอย
แต่ “วตฺถุ” ในภาษาบาลีมีความหมายกว้างกว่าในภาษาไทย คือ
1. วัตถุ, ของจริง, ทรัพย์, สิ่งของ, ของที่เป็นสาระ
2. แหล่ง, ที่ตั้ง, สนาม, พื้นที่, ที่ดิน
3. มูลฐาน, รากฐาน, ฐานรองรับ, แก่นสาร, ธาตุ
4. โอกาส, เหตุผล, พื้นฐาน
5. เรื่อง, รูปเรื่อง, เรื่องราว, รายงาน
6. ข้อ หรือกระทง (ในข้อความ)
ข้อสังเกต :
“วัตถุ” ในภาษาไทย ความเดียว (เน้นเฉพาะรูปธรรม) หลายรูป (วัตถุ วัสดุ พัสดุ)
“วตฺถุ” ในบาลี รูปเดียว หลายความ (ทั้งรูปธรรมและนามธรรม)
: คำเดียว หลายใจความ – ดี
คนเดียว หลายใจ – ท่านว่าไม่ดี
บาลีวันละคำ (297)
4-3-56
วตฺถุ ๑ (บาลี-อังกฤษ)
(สัน.โบราณ วสฺตุ, จาก วสฺ๑ Class. Sk. vastu, fr. vas1) ตามตัว. “พื้นฐาน” ดังนั้น lit. “ground,” hence –
๑. (ตามตัว) วัตถุ, ของจริง, ทรัพย์ , สิ่งของ, ของที่เป็นสาระ (lit.) object, real thing, property, thing, substance
๒. (ความหมายประยุกต์) ข้อ หรือกระทง (ในข้อความ) (appld meaning) object, item
3 โอกาส, เหตุผล, พื้นฐาน occasion for, reason, ground
4 มูลฐาน, รากฐาน, ที่ตั้ง, ฐานรองรับ (วัตถุวิสัย), แก่นสาร, ธาตุ basis, foundation, seat, (objective) substratum, substance, element
5 รูปเรื่อง, เรื่อง, เรื่องราว, รายงาน subject matter, subject, story, account
subject matter = เนื้อหา
วตฺถุ ๒
(เวท. วาสฺตุ; จาก วสฺ Vedic vāstu; fr. vas)
แหล่ง, ที่ตั้ง, สนาม, พื้นที่ site, ground, field, plot
วตฺถุกมฺม “การกระทำเกี่ยวกับที่ตั้ง”, คือ การตระเตรียมพื้นที่สำหรับก่อสร้าง “act concerning sites,” i. e. preparing the ground for building
วตฺถุวิชฺชา วิชาว่าด้วยทำเล (ก่อสร้าง), ศิลปะในการวินิจฉัยเลือกที่เหมาะสำหรับสร้างบ้าน the science of (building — ) sites, the art of determining a suitable (i. e. lucky) site for a house
วัตถุ
น. สิ่งของ. (ป.; ส. วสฺตุ).
วัตถุดิบ
น. สิ่งที่เตรียมไว้เพื่อผลิตหรือประกอบเป็นสินค้าสําเร็จรูป; โดยปริยายหมายถึงเรื่องราว ประสบการณ์ เป็นต้น ที่นักเขียนเสาะหาหรือตระเตรียมสะสมไว้เพื่อแต่งหนังสือ.
วัตถุนิยม
น. ทฤษฎีหรือความเชื่อที่ว่าวัตถุเท่านั้นมีอยู่จริง; การให้คุณค่าแก่สิ่งที่เป็นรูปธรรมมากกว่าสิ่งที่เป็นนามธรรม, สสารนิยม ก็ว่า.
วัตถุประสงค์
น. ผลที่ประสงค์ให้บรรลุ เช่น วัตถุประสงค์ของมัธยมศึกษาก็เพื่อให้เยาวชนมีความรู้ คิดเป็น ทำเป็น และมีคุณธรรม, จุดประสงค์ ก็ว่า.
วัตถุวิสัย
ว. ที่เกี่ยวข้องกับวัตถุ โดยไม่เกี่ยวกับความคิดหรือความรู้สึก; เรียกการสอบแบบที่ผู้สอบมักไม่มีโอกาสแสดงความคิดเห็นส่วนตัว เป็นคำถามที่ต้องการคำตอบตายตัว ว่าการสอบแบบวัตถุวิสัย, ปรนัย ก็ว่า. (อ. objective).
วัสดุ
[วัดสะดุ] น. วัตถุที่นํามาใช้ เช่น วัสดุก่อสร้าง; ของใช้ที่มีอายุการใช้ในระยะเวลาสั้น ๆ เช่น กระดาษ ดินสอ (ใช้แก่การงบประมาณ). (ส. วสฺตุ; ป. วตฺถุ).
พัสดุ
[พัดสะ-] น. สิ่งของต่าง ๆ, เครื่องใช้ไม้สอย, ที่ดิน, บ้านเรือน. (ส. วสฺตุ; ป. วตฺถุ).
พัสดุไปรษณีย์
น. หีบห่อบรรจุสิ่งของที่ส่งทางไปรษณีย์ มีขนาดใหญ่และมีนํ้าหนักมากกว่าไปรษณียภัณฑ์อื่น ๆ หุ้มห่อแน่นหนามั่นคง เหมาะแก่สภาพของสิ่งของและระยะทางที่จะส่งไป.
พัสดุภัณฑ์
น. สิ่งของที่บรรจุหีบห่อสําหรับส่งจากแห่งหนึ่งไปยังอีกแห่งหนึ่ง.