บาลีวันละคำ

อุปนิสัยปัจจัย (บาลีวันละคำ 4,125)

อุปนิสัยปัจจัย

ความหมายแบบไทยกับความหมายแบบบาลี

อ่านว่า อุบ-ปะ-นิ-ไส-ปัด-ไจ

ประกอบด้วยคำว่า อุปนิสัย + ปัจจัย

(๑) “อุปนิสัย

ประกอบด้วย อุป + นิสัย 

(ก) ความรู้เกี่ยวกับคำว่า “อุป-” :
อุป-” มีขีด – ข้างหลังหมายความว่าไม่ใช้ตามลำพัง แต่ใช้นำหน้าคำอื่นเสมอ เป็นคำจำพวกที่ภาษาไวยากรณ์เรียกว่า “อุปสรรค” 

นักเรียนบาลีท่องจำคำแปลกันมาว่า “อุป : เข้าไป, ใกล้, มั่น” 

อุป” ในบาลีใช้ในความหมายตามบริบทต่างๆ ประมวลได้ดังนี้ –

(1) ข้างบน, บน (on upon, up)

(2) ข้างนอก (out) 

(3) สุดแต่ (up to) 

(4) สูงขึ้น, ข้างต้น (higher, above)

(5) ใกล้ชิด, ใกล้เคียง, ใกล้ (close by, close to, near)

(6) ทีเดียว, โดยประการทั้งปวง (quite, altogether)

(7) เกือบ, ราว ๆ, ค่อนข้าง, เล็กน้อย, รอง, โดย –, น้อย ๆ, ทำตามแบบ (nearly, about, somewhat, a little, secondary, by — , miniature, made after the style of)

(ข) “นิสัย” บาลีเป็น “นิสฺสย” อ่านว่า นิด-สะ-ยะ รากศัพท์มาจาก นิ (คำอุปสรรค = เข้า,ลง) + สิ (ธาตุ = อยู่) + (อะ) ปัจจัย, แปลง อิ (ที่ สิ) เป็น (สูตรเต็มว่า “พฤทธิ์ อิ เป็น เอ, แปลง เอ เป็น อย”), (สิ > เส > สย), ซ้อน สฺ ระหว่างอุปสรรคกับธาตุ (นิ + สฺ + สิ

: นิ + สฺ + สิ = นิสฺสิ > นิสฺเส > นิสฺสย + = นิสฺสย แปลตามศัพท์ว่า “เป็นที่อาศัยอยู่” หมายถึง สิ่งซึ่งมีสิ่งอื่นต้องอาศัย, เครื่องค้ำจุน, การช่วยเหลือ, การป้องกัน; สิ่งของที่บริจาค, ขุมทรัพย์, สิ่งที่จำเป็น, เครื่องใช้สอย; พื้นฐาน, การให้ความไว้วางใจ (that on which anything depends, support, help, protection; endowment, resource, requisite, supply; foundation, reliance on)

นิสฺสย” บาลี สองตัว ภาษาไทยเขียน “นิสัย” ส ตัวเดียว 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “นิสัย” ไว้ว่า –

(1) ความประพฤติที่เคยชิน เช่น ทําจนเป็นนิสัย. 

(2) ที่พึ่ง, ที่พักพิง, ที่อาศัย, เช่น ขอนิสัยในการอุปสมบท.

ในภาษาไทย เรามักเข้าใจความหมายของ “นิสัย” ตามข้อ (1) กันเป็นส่วนมาก

อุป + นิสฺสย = อุปนิสฺสย แปลตามศัพท์ว่า “เข้าไปอาศัย” “ใกล้ต่อนิสัย” หมายถึงลักษณะหรือการกระทำบางอย่างที่เป็นพื้นฐานซึ่งเมื่อสะสมไปเรื่อยๆ หรือทำบ่อยๆ ก็จะก่อให้เกิดผลที่ถาวรต่อไปในภายหน้า 

ตัวอย่างในชีวิตประจำวัน เช่น 

– ดูภาพยนตร์ฝรั่งฟังเสียงภาษาอังกฤษในฟิล์มไปเรื่อยๆ นานวันเข้าทำให้ฟังฝรั่งพูดรู้เรื่องมากขึ้น 

– ฝึกรักษาศีลห้าบางข้อได้เป็นบางวัน ต่อไปสามารถรักษาศีลห้าบางข้อได้หลายวัน สั่งสมไปเรื่อยๆ จนในที่สุดสามารถรักษาศีลห้าทุกข้อได้ทุกวัน

วิธีเข้าใจอีกนัยหนึ่ง : 

นิสัย” คือการกระทำที่เป็นธาตุแท้ 

อุปนิสัย” คือการกระทำที่ยังไม่ใช่ธาตุแท้ เพียงแต่ใกล้จะเป็นธาตุแท้ ถ้าทำมากเข้า นานเข้า ในที่สุดจะกลายเป็นธาตุแท้

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อุปนิสฺสย” ว่า basis, reliance, support, foundation, assurance, certainty (พื้นฐาน, การยึดถือ, การอุดหนุน, หลักฐาน, หลักประกัน, ความแน่นอน) และขยายความต่อไปว่า esp. sufficing condition or qualification for Arahantship (โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุปนิสัยหรือคุณธรรมที่พอแก่การเป็นพระอรหันต์) 

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อุปนิสัย : (คำนาม) ความประพฤติที่เคยชินเป็นพื้นมาในสันดาน เช่น ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะเสด็จไปเทศน์โปรดผู้ใดจะต้องทรงพิจารณาถึงอุปนิสัยของผู้นั้นก่อน, ความประพฤติที่เคยชินจนเกือบเป็นนิสัย เช่น นักเรียนคนนี้มีอุปนิสัยดี. (ป. อุปนิสฺสย).”

(๒) “ปัจจัย

บาลีเป็น “ปจฺจย” อ่านว่า ปัด-จะ-ยะ รากศัพท์มาจาก ปฏิ หรือ ปติ (คำอุปสรรค = เฉพาะ, ตอบ, ทวน, กลับ) + อิ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + (อะ) ปัจจัย, แปลง ปฏิ เป็น ปจฺจ หรืออีกนัยหนึ่ง แปลง อิ ที่ ปติ เป็น , แปลง ตย (คือ ปตย) เป็น ปจฺจ, แปลง อิ ธาตุเป็น เอ, แปลง เอ เป็น อย

: ปฏิ > ปจฺจ (ปติ > ปตย > ปจฺจ) + อิ > เอ > อย : ปจฺจ + อย + = ปจฺจย

พิสูจน์การกลายรูปและเสียง :

ลองออกเสียง ปะ-ติ-อะ-ยะ (ปฏิ + อิ) ทีละพยางค์ช้าๆ แล้วเพิ่มความเร็วขึ้นทีละน้อยจนเร็วที่สุด ปะ-ติ-อะ-ยะ จะกลายเสียงเป็น ปัด-จะ-ยะ ได้ การกลายรูปจึงมาจากธรรมชาติของการกลายเสียงนั่นเอง

ปจฺจย” (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “เหตุเป็นแดนอาศัยเป็นไปแห่งผล” “เหตุเป็นเครื่องเป็นไปแห่งผล” มีความหมายว่า –

(1) อาศัย, หันไปพึ่ง, รากฐาน, เหตุ, สาเหตุ (resting on, falling back on, foundation, cause, motive)

(2) สิ่งสนับสนุน, ของที่จำเป็น, ปัจจัย, วิถีทาง, เครื่องค้ำจุน (support, requisite, means, stay)

(3) เหตุผล, วิธี, เงื่อนไข (reason, ground, condition)

(4) เหตุผลสำหรับ, ความเชื่อ, ความมั่นใจ, ความเชื่อมั่น, การเชื่อถือหรืออาศัย (ground for, belief, confidence, trust, reliance)

ความหมายที่เข้าใจกันทั่วไปคือ ปัจจัย, เหตุ, สาเหตุ, ที่พึ่ง, ความช่วยเหลือ ฯลฯ

ปจฺจย” ภาษาไทยใช้ว่า “ปัจจัย” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า –

(1) เหตุอันเป็นทางให้เกิดผล, หนทาง, เช่น การศึกษาเป็นปัจจัยให้เกิดความรู้ความสามารถ, องค์ประกอบ, ส่วนประกอบ, เช่น ปัจจัยในการผลิต, คํา “ปัจจัย” กับ คํา “เหตุ” มักใช้แทนกันได้.

(2) เครื่องอาศัยยังชีพ, เครื่องอาศัยเลี้ยงชีวิตของบรรพชิตในพระพุทธศาสนา ๔ อย่าง คือ จีวร (ผ้านุ่งห่ม) บิณฑบาต (อาหาร) เสนาสนะ (ที่อยู่) คิลานเภสัช (ยา) รวมเรียกว่า จตุปัจจัย คือ ปัจจัย ๔, โดยปริยายหมายถึงเงินตราก็ได้ (มักใช้แก่ภิกษุสามเณร).

(3) (คำที่ใช้ในไวยากรณ์) ส่วนเติมท้ายธาตุหรือศัพท์เพื่อแสดงความหมายเป็นต้น. (ป.).

อุปนิสฺสย + ปจฺจย = อุปนิสฺสยปจฺจย (อุ-ปะ-นิด-สะ-ยะ-ปัด-จะ-ยะ) แปลตามนัยแห่งพระอภิธรรมว่า “ธรรมที่ช่วยอุปการะโดยความเป็นที่อาศัยที่มีกำลังมาก” 

ขยายความ :

อุปนิสฺสยปจฺจย” เขียนแบบศัพท์วิชาการพุทธศาสนาเป็น “อุปนิสสยปัจจัย” อ่านว่า อุ-ปะ-นิด-สะ-ยะ-ปัด-ไจ

ขยายความตามสำนวนบาลีว่า “กุศลธรรมทั้งหลายที่เกิดก่อนๆ เป็นปัจจัยแก่กุศลธรรมทั้งหลายที่เกิดหลังๆ”

ความหมายที่พอจะเข้าใจอย่างง่ายๆ คือ สิ่งที่ทำในวันนี้ เมื่อถึงวันหน้าหากจะต้องทำอีก เราจะทำสิ่งนั้นได้ง่ายขึ้น ดังที่กล่าวกันว่า มีครั้งที่ 1 แล้ว ครั้งที่ 2 ครั้งที่ 3 ก็มีได้อีก

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [350] ปัจจัย 24 บอกความหมายของ “อุปนิสสยปัจจัย” ว่า “ปัจจัยโดยเป็นเครื่องหนุนหรือกระตุ้นเร้า (decisive-support condition; inducement condition)

…………..

ในภาษาไทย เอาคำว่า “อุปนิสฺสย” มาใช้เป็น “อุปนิสัย” อ่านว่า อุ-ปะ-นิ-ไส เอาคำว่า “ปจฺจย” มาใช้เป็น “ปัจจัย” อ่านว่า ปัด-ไจ เมื่อเอามาพูดควบกันเป็น “อุปนิสัยปัจจัย” อ่านว่า อุ-ปะ-นิ-ไส-ปัด-ไจ มักเข้าใจกันว่าเป็นคำ 2 คำ มีความหมายไปในทำนองเดียวกันจึงเอามาพูดควบกัน คือ –

อุปนิสัย” = เหตุที่ค่อยๆ สะสมไว้เพื่อให้เกิดผลในวันข้างหน้า

ปัจจัย” = เหตุที่จะก่อให้เกิดผลในวันข้างหน้า

คำว่า “อุปนิสัยปัจจัย” ที่พูดกันในภาษาไทยจึงมีความหมายว่า ค่อยๆ ทำไปที่ละเล็กน้อยโดยหวังว่าสิ่งที่ทำนั้นจะส่งผลให้เกิดความสำเร็จตามที่ปรารถนาในวันข้างหน้า เช่น –

ขอกุศลที่ได้บำเพ็ญในวันนี้จงเป็นอุปนิสัยปัจจัยแก่พระนิพพานในอนาคตกาลโน้นเทอญ

…………..

ดูก่อนภราดา!

: บันไดขั้นสูงสุด

: มาจากบันไดขั้นต่ำสุด

#บาลีวันละคำ (4,125)

28-9-66

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *