บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ช่วยกันรักษาพระศาสนา

ช่วยกันรักษาพระศาสนา

————————–

ด้วยการ-ช่วยกันหาคำตอบ

มีคนถามขอความรู้ครับ 

อนันตริยกรรม ๕ อย่าง คือ –

๑ มาตุฆาต = ฆ่ามารดา 

๒ ปิตุฆาต = ฆ่าบิดา 

๓ อรหันตฆาต = ฆ่าพระอรหันต์ 

๔ โลหิตุปบาท = ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนถึงพระโลหิตห้อขึ้นไป 

๕ สังฆเภท = ยังสงฆ์ให้แตกกัน, ทำลายสงฆ์ 

เขาถามว่า ฆ่ามารดา ฆ่าบิดา ฆ่าพระอรหันต์ ถ้าผู้ฆ่าไม่รู้ว่าคนที่ตนฆ่าเป็นมารดา เป็นบิดา เป็นพระอรหันต์ จะเป็นอนันตริยกรรมหรือไม่ 

ถ้าเป็น ด้วยเหตุผลอย่างไร

ถ้าไม่เป็น ด้วยเหตุผลอย่างไร 

ตอบตามหลักฐานที่ท่านแสดงไว้นะครับ 

ไม่เอาคำตอบประเภท-ผมเข้าใจว่า… ฉันว่ามันน่าจะ…

—————–

ญาติมิตรย่อมจะสังเกตเห็นได้ว่า ผมเพียรพยายามขอร้อง ชักชวน กระตุ้น กระทุ้ง กระแทก กระทบ ให้ท่านที่มีความรู้ในทางธรรม โดยเฉพาะท่านที่เรียนบาลี เป็นมหาเปรียญ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง-พระภิกษุสามเณร ช่วยกันศึกษาพระธรรมวินัย 

และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง (อีกที) พระภิกษุสามเณรที่มีเฟซบุ๊ก มีใจชอบในการเขียนแสดงความเห็นต่างๆ โพสต์เรื่องและรูปทางเฟซบุ๊ก ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก ขอให้ช่วยกันศึกษาพระธรรมวินัยแล้วนำมาเผยแพร่ทางเฟซบุ๊กด้วย 

การที่ผมเอาปัญหามาถามทางเฟซบุ๊กนี่ก็เป็นวิธีกระตุ้นทางหนึ่ง 

เท่าที่ทำมา กระแสตอบรับมีค่าเป็น-ศูนย์ 

ใครจะถาม ใครจะกระตุ้น ก็ถามไป กระตุ้นไป ข้าพเจ้าไม่สนใจ 

มีบางท่านบอกด้วยว่า-ไม่ใช่หน้าที่ 

มีหลายท่านแก้แทนให้ว่า เรื่องแบบนี้ขึ้นอยู่กับอัธยาศัยของแต่ละบุคคล จะไปกะเกณฑ์กันไม่ได้

ฟังดูก็มีเหตุผลดี 

แต่ถ้าตรึกตรองดูให้ดีๆ จะเห็นว่า-ไม่มีเหตุผล 

กล่าวเฉพาะพระภิกษุสามเณร การบวชเข้ามาในพระพุทธศาสนาย่อมเป็นการยอมรับกติกาอยู่ในตัวว่า จะทำงาน ๒ อย่าง อันเป็น “ธุระ” ในพระศาสนา คือ ๑ เรียนพระธรรมคัมภีร์ และ ๒ ปฏิบัติพระกรรมฐาน

เรียนพระธรรมคัมภีร์ คือศึกษาพระธรรมวินัยให้รู้เข้าใจว่าอะไรห้ามทำอะไรต้องทำ แล้วบอกกล่าวสั่งสอนเผยแผ่ต่อไป

คำถามที่ผมยกมาตั้งไว้ข้างต้น ตอบได้ด้วยวิธีศึกษาพระธรรมวินัย ค้นคว้าศึกษาไปก็จะเจอคำตอบ 

คำถาม-ข้อสงสัยอื่นๆ อีกทุกเรื่องก็ใช้วิธีเดียวกัน

ปฏิบัติพระกรรมฐาน คือฝึกอบรมจิตใจ ปฏิบัติขัดเกลาตนเอง

งานหรือ “ธุระ” ๒ อย่างนี้คืองานโดยตรงของพระภิกษุสามเณร คือเป็นงานที่ต้องทำ-ถ้าสมัครเข้ามาอยู่ในเพศบรรพชิต 

ไม่ใช่งานที่-จะทำหรือไม่ทำแล้วแต่อัธยาศัย 

ถ้าไม่เรียนพระธรรมคัมภีร์ ก็ต้องมุ่งปฏิบัติพระกรรมฐาน

ถ้าไม่ปฏิบัติพระกรรมฐาน ก็ต้องเรียนพระธรรมคัมภีร์ 

พระธรรมคัมภีร์ก็ไม่เรียน พระกรรมฐานก็ไม่ปฏิบัติ 

ก็แปลว่าไม่ได้ทำหน้าที่ของผู้ที่บวชเข้ามาในพระพุทธศาสนา 

ผมเข้าใจว่า เวลานี้เป็นอย่างนี้กันมากแล้ว คือพระธรรมคัมภีร์ก็ไม่เรียน พระกรรมฐานก็ไม่ปฏิบัติ แต่หมดเวลาไปกับการทำกิจอย่างอื่น

แล้วก็พยายามอธิบายว่า-กิจอย่างอื่นนั่นก็เป็นกิจพระศาสนาเหมือนกัน 

ต่อไป เมื่อพระภิกษุสามเณรที่ตั้งใจเรียนพระธรรมคัมภีร์ค่อยๆ หมดไป พระภิกษุสามเณรที่ตั้งใจปฏิบัติพระกรรมฐานค่อยๆ หมดไป ก็จะเหลือแต่พระภิกษุสามเณรที่ใช้เวลาไปกับการทำกิจอย่างอื่น 

ผู้ที่บวชเข้ามาในพระศาสนาในยุคสมัยเช่นนั้น เข้ามาก็จะเห็นแต่พระภิกษุสามเณรที่ใช้เวลาไปกับการทำกิจอย่างอื่นทั้งนั้น ไม่เคยเห็นพระภิกษุสามเณรที่ตั้งใจเรียนพระธรรมคัมภีร์และตั้งใจปฏิบัติพระกรรมฐาน ก็จะพากันเข้าใจว่าการทำเช่นนั้นเป็นสิ่งถูกต้องแล้ว เพราะเข้ามา (หรือเกิดมา) ก็เห็นทำกันอย่างนั้นอยู่แล้ว ที่ไหนๆ ก็ทำเหมือนกันหมด กลายเป็นเรื่องปกติ 

พระภิกษุสามเณรรูปไหนเรียนพระธรรมคัมภีร์หรือตั้งใจปฏิบัติพระกรรมฐาน จะกลายเป็นผิดปกติ หรือเห็นเป็นเรื่องพิเศษเฉพาะตัวบุคคล แต่ส่วนใหญ่จะพากันเห็นว่า “ไม่ใช่หน้าที่” 

ที่พูดมานี้ผมเชื่อว่าจะต้องไปกระทบใจพระคุณเจ้าพระภิกษุสามเณร ถ้าท่านผู้ใดเกิดความรู้สึกไม่สบายใจ ก็กราบขออภัยไว้ด้วย 

อุปมาเหมือน-เพื่อนเห็นเพื่อนกำลังจะเดินไปตกเหว ก็ร้องตะโกนบอกกันตรงๆ เพื่อนอาจจะตกใจหรือขัดใจที่มารบกวนความสงบในการเดิน 

แต่ถ้าเพื่อนรู้ตัว ไม่ตกเหว ยอมให้เพื่อนโกรธ ก็คุ้มครับ

—————–

อีกประการหนึ่ง การกระตุ้นเตือนชักชวนให้ศึกษาพระธรรมวินัยย่อมเป็นการรักษาพระศาสนาได้วิธีหนึ่ง

เวลานี้เราต่างก็เป็นห่วงพระศาสนากันมาก มองเห็นภัยทั้งจากภายในพระศาสนาเอง ทั้งจากภายนอกพระศาสนา 

แต่ถ้าลองตามไปดูว่า-แล้วเราเตรียมตัวป้องกันหรือแก้ไขกันอย่างบ้างหรือเปล่า ก็จะเห็นได้ว่า-แทบจะไม่มี 

เราแทบจะไม่ได้ทำอะไรกันเลย 

เหมือนคนตะโกนว่า ไฟไหม้ ไฟไหม้ แต่ทุกคนก็ได้แต่ฟัง แล้วก็ตะโกนบอกกันต่อๆ ไป แต่ไม่มีใครทำอะไรที่จะเป็นการช่วยกันระงับดับไฟ 

การศึกษา คือเรียนรู้และปฏิบัติตามพระธรรมวินัยเป็นการดับไฟและป้องกันไฟไปในตัว 

เพราะเมื่อยังมีการเรียนรู้และปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอยู่เพียงไร พระศาสนาก็ชื่อว่ายังมีอยู่เพียงนั้น

ชาวพุทธยังมีความรู้ในหลักพระธรรมคำสอน ยังชวนกันปฏิบัติธรรม นั่นแหละคือการช่วยกันรักษาพระศาสนา 

มีวัด มีพระเจดีย์ มีโบสถ์วิหาร มีพระพุทธปฏิมา มีบุคคลผู้ครองผ้ากาสาวะ คับคั่งไปทั้งแผ่นดิน แต่ไม่มีการศึกษา คือเรียนรู้และปฏิบัติตามพระธรรมวินัยที่ถูกต้อง จะชื่อว่ามีพระศาสนาอย่างไรกันเล่า สิ่งเหล่านั้นก็มีค่าเพียงแค่งานนิทรรศการที่เขาจัดขึ้นเอาไว้ให้เดินดูกันเพลินๆ เท่านั้นเอง 

พระพุทธศาสนาไม่ใช่ของที่จัดแสดงไว้ให้ดู

แต่เป็นของที่ต้องเอาไปใช้ในชีวิตจริง

การศึกษา คือเรียนรู้และปฏิบัติตามพระธรรมวินัยที่ถูกต้อง จึงเป็นการช่วยกันรักษาพระศาสนาอย่างแท้จริง

ในทางตรงข้าม การไม่ศึกษา คือไม่เรียนรู้และไม่ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยที่ถูกต้อง จึงเป็นการไม่รักษาพระศาสนานั่นเอง

สำหรับพระภิกษุสามเณร ตลอดจนฆราวาสญาติโยม ที่กำลังมุ่งศึกษาพระธรรมวินัยอย่างแท้จริง ขอกราบอนุโมทนาสาธุการมา ณ ที่นี้ด้วยครับ 

ช่วยค้นคว้าหาคำตอบปัญหาข้างต้นกันด้วยนะครับ

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๗ มกราคม ๒๕๖๓

๑๓:๒๖

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *