ศันสนีย์ (บาลีวันละคำ 3,467)
ศันสนีย์
ผู้มีความดีอันพึงชม
อ่านว่า สัน-สะ-นี
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ศันสนีย์ : (คำวิเศษณ์) พึงสรรเสริญ, พึงชม. (ส. ศํสนีย).”
พจนานุกรมฯ บอกว่า “ศันสนีย์” คำสันสกฤตว่า “ศํสนีย”
สันสกฤต “ศํสนีย” เทียบกับรูปคำบาลีเป็น “สํสนีย” แต่ในบาลี ศัพท์นี้ใช้เป็น “ปสํสนีย” เสมอ
“ปสํสนีย” อ่านว่า ปะ-สัง-สะ-นี-ยะ รากศัพท์มาจาก ปสํสน + อีย ปัจจัย
(ก) “ปสํสน” อ่านว่า ปะ-สัง-สะ-นะ รากศัพท์มาจาก ป (คำอุปสรรค = ทั่ว, ข้างหน้า, ก่อน, ออก) + สํสฺ (ธาตุ = สรรเสริญ, ชม) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)
: ป + สํสฺ = ปสํสฺ + ยุ > อน = ปสํสน แปลตามศัพท์ว่า “การสรรเสริญ” “การชม” หมายถึง การสรรเสริญ, การชมเชยหรือยกย่อง (praising, commendation)
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “ปฺรศํสน” “ปฺรศํศน” และ “ปฺรศํสา” บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
(1) ปฺรศํสน, ปฺรศํศน : (คำนาม) ‘ประศังสน, ประศังศน,’ การสรรเสริญ; praising, eulogising.
(2) ปฺรศํสา : (คำนาม) ‘ประศังสา,’ สดุดี, ความสรรเสริญ, มธุรพจน์, จาฏุวาทะ; praise, applause, flattery, commendation.
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 มีคำว่า “ศันสนะ” บอกไว้ว่า –
“ศันสนะ : (คำนาม) การสรรเสริญ, การบอกเล่า. (ส. ศํสน).”
(ข) ปสํสน + อีย = ปสํสนีย แปลตามหลักการตั้งรูปวิเคราะห์ (รูปวิเคราะห์: การกระจายคำเพื่อหาความหมาย) ว่า “ชนใดเป็นที่ตั้งแห่งการสรรเสริญ เหตุนั้น ชนนั้นชื่อ ปสํสนีย = ผู้เป็นที่ตั้งแห่งการสรรเสริญ” = ผู้ควรแก่การสรรเสริญ
“ปสํสนีย” (คุณศัพท์) หมายถึง พึงสรรเสริญ, ควรชม (to be praised, entitled to commendation)
“ปสํสนีย” ใช้ในภาษาไทยอิงสันสกฤตเป็น “ประศันสนีย์” แต่รูปคำเช่นนี้ไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 คงมีแต่ “ศันสนีย์” ดังที่นำมาแสดงไว้ข้างต้น
“ศันสนีย์” = “ผู้มีความดีอันพึงชม” อาจใช้เป็นชื่อคนได้ทั้งชายและหญิง แต่ในภาษาไทยมักรู้สึกกันว่าควรเป็นชื่อสตรี
สตรีที่ควรสรรเสริญผู้หนึ่ง ชื่อ “ศันสนีย์” ถือเพศเป็นแม่ชี คือแม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต
…………..
แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต เป็นผู้ก่อตั้งเสถียรธรรมสถาน, บ้านสายสัมพันธ์, สาวิกาสิกขาลัย และกิจกรรมทางธรรมอื่นๆ อีกหลายอย่าง อันเป็นการช่วยแก้ปัญหาให้แก่ผู้ที่ชีวิตมีปัญหา และเกื้อกูลแก่ผู้ปรารถนาความสงบสุขในชีวิต
แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต เกิดวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ.2496 ถึงแก่กรรมวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ.2564 สิริอายุ 68 ปี รวมเวลาที่ดำเนินชีวิตในทางธรรมประมาณ 40 ปี
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ชมผู้ที่ควรชม ง่าย
: หาผู้ที่ควรชม ยาก
#บาลีวันละคำ (3,467)
9-12-64
…………………………….