บาลีวันละคำ

บุพวิเทหทวีป (บาลีวันละคำ 3,471)

บุพวิเทหทวีป

ดินแดนแห่งภูมิปัญญาชาวตะวันออก

อ่านว่า บุบ-พะ-วิ-เท-หะ-ทะ-วีบ

ประกอบด้วยคำว่า บุพ + วิเทห + ทวีป

(๑) “บุพ” 

บาลีเป็น “ปุพฺพ” อ่านว่า ปุบ-พะ รากศัพท์มาจาก ปุพฺพฺ (ธาตุ = เต็ม) + (อะ) ปัจจัย

: ปุพฺพฺ + = ปุพฺพฺ (คุณศัพท์) แปลตามศัพท์ว่า “ส่วนที่เต็ม” หมายถึง อดีต, แต่ก่อน, ก่อน (previous, former, before)

ปุพฺพ” สันสกฤตเป็น “ปูรฺว” 

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ปูรฺวฺว, ปูรฺว : (คำวิเศษณ์) ประถม, แรก, ก่อน; ฝ่ายตวันออก; ทั้งสิ้น, สกล; first, former, prior, initial; eastern, entire; – (คำบุรพบท) ข้างน่า; before, in front of; – (คำนามพหูพจน์) บรรพบุรุษ; ทิศตวันออก; โบราณคดี; ancestors, fore-fathers; the east; an ancient tradition.

ในภาษาไทย ใช้ตามบาลีเป็น “บุพ-” หรือ “บุพพ-” ก็มี ใช้อิงสันสกฤตเป็น “บุรพ-” (มีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย) ก็มี และแผลงเป็น “บรรพ” เขียนเป็น “บรรพ์” (การันต์ที่ ) ก็มี

บุพ-” และ “บุรพ-” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –

(1) บุพ-, บุพพ– : (คำวิเศษณ์) ก่อน, ทีแรก; เบื้องต้น, เบื้องหน้า. (ป. ปุพฺพ; ส. ปูรฺว).

(2) บุรพ– : (คำวิเศษณ์) บุพ. (ส. ปูรฺว; ป. ปุพฺพ).

(๒) “วิเทห

อ่านว่า วิ-เท-หะ รากศัพท์มาจาก –

(1) วิ (แทนศัพท์ว่า “วิสิฏฺฐ” = สูงส่ง, งามเด่น) + เทห (รูปร่าง, ร่างกาย)

: วิ + เทห = วิเทห แปลตามศัพท์ว่า “ดินแดนที่ผู้คนรูปร่างดี” 

(2) วิท (ปัญญา) + อีหฺ (ธาตุ = เป็นไป) + (อะ) ปัจจัย, แผลง อี ที่ อี-(หฺ) เป็น เอ (อีหฺ เอห)

: วิท + อีหฺ = วิทีหฺ + = วิทีห > วิเทห แปลตามศัพท์ว่า “ดินแดนที่ผู้คนดำเนินชีวิตด้วยปัญญา

เฉพาะชื่อ “วิเทห” คำเดียว พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ดังนี้ –

วิเทหะ : ชื่อแคว้นหนึ่งในชมพูทวีป นครหลวงชื่อ มิถิลา เป็นดินแดนพวกวัชชีอีกถิ่นหนึ่ง ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำคงคา ตรงข้ามกับแคว้นมคธ.”

พึงทราบว่า เมื่อมีคำว่า “บุพ-” นำหน้า เป็น “บุพวิเทห” มิได้หมายถึงแคว้นวิเทหะดังที่กล่าวนี้

(๓) “ทวีป” 

บาลีเป็น “ทีป” อ่านว่า ที-ปะ รากศัพท์มาจาก –

(1) ทฺวิ (คำสังขยา = สอง) + อาป (น้ำ), ลบ วฺ ที่ ทฺวิ แล้วทีฆะ อิ เป็น อี (ทฺวิ > ทิ > ที) และลบ อา ที่ อา-(ป) (อาป >

: ทฺวิ + อาป = ทฺวิอาป > ทิอาป > ทีอาป > ทีป แปลตามศัพท์ว่า “พื้นที่ที่ปรากฏอยู่ในกลาง

(2) ทีปฺ (ธาตุ = ปรากฏ) + (อะ) ปัจจัย, 

: ทีปฺ + = ทีป แปลตามศัพท์ว่า “พื้นที่ที่ปรากฏอยู่ในกลางน้ำ” 

ทีป (ปุงลิงค์) หมายถึง เกาะ, ทวีป (an island, continent)

ทีป” ในบาลีนอกจากหมายถึง เกาะ, ทวีป แล้ว ยังใช้ในความหมายอื่นอีก (รากศัพท์อาจต่างกัน) ดังนี้ –

(1) พื้นดิน, ดินแข็ง (terra firma) 

(2) ฐานที่มั่นคง, สถานที่สำหรับอาศัย, สรณะ, ที่พึ่ง (solid foundation, resting-place, shelter, refuge)

(3) รถที่หุ้มด้วยหนังเสือดำ (a car covered with a panther’s skin)

(4) ความปลอดพ้นจากทุกข์ภัย, นิพพาน (salvation)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

(1) ทีป ๑, ทีปะ ๑ : (คำแบบ) (คำนาม) แสงไฟ. (ป., ส.). 

(2) ทีป ๒, ทีปะ ๒ : (คำแบบ) (คำนาม) เกาะ. (ป.; ส. ทฺวีป).

บาลี “ทีป” สันสกฤตเป็น “ทฺวีป” 

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายของ “ทฺวีป” ในสันสกฤตไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ทฺวีป : (คำนาม) ‘ทวีป,’ เกาะ, ภูเกษตร์หรือที่อันมีน้ำล้อมรอบ; เนื่องจากเหตุนี้ศัพท์นี้จึงใช้หมายถึงสัปตันมหาภาคแห่งภูมณฑล, ทุกๆ ภาคปลีกหากจากกัน, โดยมีสมุทร์เปนเขตต์ขั้น: ทวีปทั้งเจ็ดนั้น, นับจากทวีปกลางคือ, ชมฺพุ, กุศ, ปลกฺษ, สาลฺมลี, เกฺรานฺจ, ศาก, และปุษฺกร; มัธยทวีปแบ่งออกไปอีกเปนสิบภาค, คือกุรุ, จนฺทฺร, วรุณ, เสามฺย, นาค, กุมาริกา, คภสฺติมานฺ, ตามฺราปูรฺณ, กเสรุ, และอินฺทฺร; หนังเสือ; an island, any land surrounded by water; from this cause the word is applied to the seven grand divisions of the terrestrial word, each of these being separated from the next, by a peculiar circumambient ocean: the seven Dvīpas, reckoning from the central one are, Jambu, Kuśa, Plaksha, Sālmalī, Krauncha, Śāka, and Pushkara; the central Dvīpa is again portioned into ten divisions, viz. Kuru, Chandra, Varuṇa, Saumya, Nāga, Kumārikā, Gabhastimān, TāmrāPūraṇa, Kaseru, and Indra; a tiger’s skin.” 

คำว่า “ทวีป” ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ทวีป : (คำนาม) เปลือกโลกส่วนที่เป็นพื้นดินซึ่งมีขนาดใหญ่โตกว้างขวาง มี ๗ ทวีป คือ เอเชีย ยุโรป ออสเตรเลีย แอฟริกา อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ และแอนตาร์กติกา บางทวีปกําหนดนํ้าล้อมรอบเป็นขอบเขต เช่น ทวีปออสเตรเลีย ทวีปแอนตาร์กติกา บางทวีปกําหนดภูเขา ทะเล แหล่งอารยธรรมเป็นต้น เป็นแนวแบ่งเขต เช่น ทวีปเอเชีย ทวีปยุโรป; (โบ) เกาะ เช่น ลังกาทวีป สิงหฬทวีป; ในคัมภีร์ไตรภูมิกล่าวว่ามี ๔ ทวีป คือ ๑. ชมพูทวีป ๒. อมรโคยานทวีปหรืออปรโคยานทวีป ๓. อุตรกุรุทวีปหรืออุตรกุรูทวีป ๔. บุพวิเทหทวีป. (ส.; ป. ทีป).”

การประสมคำ :

ปุพฺพ + วิเทห = ปุพฺพวิเทห (ปุบ-พะ-วิ-เท-หะ) แปลว่า “แคว้นวิเทหะถิ่นตะวันออก” (Eastern Videha) 

ปุพฺพวิเทห + ทีป = ปุพฺพวิเทหทีป (ปุบ-พะ-วิ-เท-หะ-ที-ปะ) แปลว่า “ทวีปวิเทหะถิ่นตะวันออก” หรืออาจแปลว่า “ดินแดนแห่งภูมิปัญญาตะวันออก” ก็ได้

ปุพฺพวิเทหทีป” ใช้ในภาษาไทยเป็น “บุพวิเทหทวีป

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

บุพวิเทหทวีป : (คำนาม) ทวีปใหญ่อยู่ทางทิศตะวันออกของเขาพระสุเมรุ เป็นทวีป ๑ ใน ๔ ทวีป ได้แก่ อุตรกุรุทวีปหรืออุตรกุรูทวีป บุพวิเทหทวีป ชมพูทวีป และอมรโคยานทวีปหรืออปรโคยานทวีป.”

ขยายความ :

ในคัมภีร์บาลี กล่าวถึง “บุพวิเทหทวีป” น้อยอย่างยิ่ง แทบจะไม่ทำให้รู้จักอะไรเลย

คัมภีร์บาลีที่รวบรวมเรื่องของภพภูมิทั้งหลายคือ “จักกวาฬทีปนี” ผลงานของพระสิริมังคลาจารย์ ผู้รจนาคัมภีร์มังคลัตถทีปนีที่ใช้เป็นแบบเรียนของนักเรียนบาลีในเมืองไทย พรรณนา “อุตรกุรุทวีป” ไว้อย่างพิสดาร ก็ไม่มีคำพรรณนาถึง “บุพวิเทหทวีป” เลย 

แต่ถึงกระนั้นก็ยังได้นำข้อมูลบางอย่างที่คัมภีร์ต่างๆ กล่าวถึง “บุพวิเทหทวีป” มาแสดงไว้สั้นๆ เช่น –

… ส่วนประมาณ (คือพื้นที่) ของมหาทวีป กล่าวไว้ในอรรถกถาทั้งหลายว่า … บุพวิเทหทวีปมีพื้นที่ประมาณ 7,000 โยชน์ …

… อาจารย์บางพวกกล่าวว่า … บุพวิเทห์มีสัณฐานเหมือนอัฒจันทร์ …

… ในฏีกาชินาลังการก็กล่าวไว้ว่า … ดวงหน้าของชาวบุพวิเทห์มีสัณฐานดังอัฒจันทร์ …

… แต่ในโลกทีปกสารได้กล่าวไว้ว่า … บุพวิเทห์ กลม มีสัณฐานดังกระจกเงา มี (พื้นที่) ประมาณ 7,000 โยชน์ทั้งด้านยาวด้านกว้าง …

… แม้ในโลกปัญญัติปกรณ์ก็กล่าวว่า … บุพวิเทหทวีป กลม …

… ในฎีกาพระวินัยเป็นต้น ได้กล่าวความที่ … บุพวิเทห์เป็นทวีปมีสัณฐานเหมือนอัฒจันทร์ …

… แต่ในปกรณ์พิเศษมีโลกทีปกสารเป็นต้น ได้กล่าวความที่บุพวิเทห์เป็นทวีปกลม …

… วิญญูชนทราบความผิดกันแห่งที่มาทั้งสองฝ่ายดังที่ว่ามานี้แล้ว พึงพิจารณาแล้วถือเอาฝ่ายที่ควรกว่า …

…………..

คัมภีร์อัฏฐสาลินี อรรถกถาแห่งธัมมสังคณีปกรณ์ อภิธรรมปิฎก กล่าวไว้เป็นความว่า ต้นไม้ประจำบุพวิเทหทวีป คือต้นสิรีสะ (แปลกันว่า ต้นซึก) และบอกไว้ว่า ต้นสิรีสะมีขนาดเท่ากับต้นชมพู (ต้นหว้า) อันเป็นต้นไม้ประจำชมพูทวีป คือ วัดรอบลำต้นได้ 15 โยชน์ มีกิ่งรอบต้นยาว 50 โยชน์ จึงเท่ากับรัศมีความกว้าง 100 โยชน์ สูงขึ้นไปก็ 100 โยชน์

ที่มา: อัฏฐสาลินี หน้า 552-553

…………..

หนังสือชุดหนึ่งที่น่าจะมีกล่าวถึงบุพวิเทหทวีป ก็คือสารานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน ในขณะที่เขียนคำนี้ผู้เขียนบาลีวันละคำไม่มีหนังสือชุดนี้อยู่ใกล้มือ ท่านผู้ใดมี หรือสามารถเข้าถึงข้อมูลได้สะดวก ถ้าจะกรุณาตรวจหาแล้วนำมาบูรณาการเพื่อเป็นองค์ความรู้ร่วมกัน ก็จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง

…………..

ดูก่อนภราดา!

: จะเป็นชาวตะวันออกหรือชาวตะวันตก

: ถ้าหัวใจไม่สกปรกก็เป็นเพื่อนกันได้ทุกคน

#บาลีวันละคำ (3,471)

13-12-64 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *