บาลีวันละคำ

อุตรกุรุทวีป (บาลีวันละคำ 3,470)

อุตรกุรุทวีป

เมืองในฝัน-หนึ่งในทวีปใหญ่ทั้งสี่

อ่านว่า อุด-ตะ-ระ-กุ-รุ-ทะ-วีบ

ประกอบด้วยคำว่า อุตร + กุรุ + ทวีป

(๑) “อุตร

บาลีเป็น “อุตฺตร” อ่านว่า อุด-ตะ-ระ รากศัพท์มาจาก อุ (คำอุปสรรค = ขึ้น, นอก) + ตรฺ (ธาตุ = ข้าม) + (อะ) ปัจจัย, ซ้อน ตฺ ระหว่างอุปสรรคกับธาตุ

: อุ + ตฺ + ตรฺ = อุตฺตรฺ + = อุตฺตร แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นเครื่องข้ามขึ้นไป” 

อุตฺตร” ใช้เป็นคุณศัพท์ มีความหมายดังนี้ –

(1) สูงกว่า, ดีกว่า, ยอดกว่า, เหนือกว่า (higher, high, superior, upper)

(2) ทางทิศเหนือ (northern)

(3) ภายหลัง, หลังจาก, ถัดออกไป (subsequent, following, second)

(4) เกินกว่า, เหนือไปกว่า (over, beyond)

บาลี “อุตฺตร” ในภาษาไทยใช้เป็น “อุตดร” “อุตร-” (มีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย) และ “อุดร

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

(1) อุตดร, อุตร– : (คำนาม) อุดร. (ป., ส. อุตฺตร).

(2) อุดร : (คำนาม) ทิศเหนือ ใช้ว่า ทิศอุดร; ข้างซ้าย. (ป., ส. อุตฺตร).

(๒) “กุรุ

บาลีเป็น “กุรู” อ่านว่า กุ-รู รากศัพท์มาจาก –

(1) กุ (บาป, ความชั่ว) + รุธฺ (ธาตุ = ปิดกั้น) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ ธฺ ที่สุดธาตุและ กฺวิ, ทีฆะ อุ ที่ รุ-(ธฺ) เป็น อู

: กุ + รุธฺ = กุรุธฺ + กฺวิ = กุรุธกฺวิ > กุรุธ > กุรุ > กุรู แปลตามศัพท์ว่า “แคว้นที่ประทับของพระราชาผู้ปิดกั้นบาปด้วยอานุภาพศีลห้าที่บริสุทธิ์

(2) กุรฺ (ธาตุ = ส่งเสียง) + อุ ปัจจัย, ทีฆะ อุ ที่ (กุ)-รุ เป็น อู

: กุรฺ + + อุ = กุรุ > กุรู แปลตามศัพท์ว่า “แคว้นที่ประทับของพระราชาผู้ทรงว่าราชกิจน้อยใหญ่

กุรู” นิยมใช้ในภาษาไทยเป็น “กุรุ

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต มีคำว่า “กุรุ” บอกไว้ดังนี้ –

กุรุ : แคว้นหนึ่งในบรรดา ๑๖ มหาชนบทแห่งชมพูทวีป อยู่แถบลุ่มน้ำยมุนาตอนบน ราวมณฑลปัญจาบลงมา นครหลวงชื่อ อินทปัตถ์ ตั้งอยู่ ณ บริเวณเมืองเดลี นครหลวงของอินเดียปัจจุบัน.”

คำว่า “กุรุ” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554

(๓) “ทวีป” 

บาลีเป็น “ทีป” อ่านว่า ที-ปะ รากศัพท์มาจาก –

(1) ทฺวิ (คำสังขยา = สอง) + อาป (น้ำ), ลบ วฺ ที่ ทฺวิ แล้วทีฆะ อิ เป็น อี (ทฺวิ > ทิ > ที) และลบ อา ที่ อา-(ป) (อาป >

: ทฺวิ + อาป = ทฺวิอาป > ทิอาป > ทีอาป > ทีป แปลตามศัพท์ว่า “พื้นที่ที่ปรากฏอยู่ในกลาง

(2) ทีปฺ (ธาตุ = ปรากฏ) + (อะ) ปัจจัย, 

: ทีปฺ + = ทีป แปลตามศัพท์ว่า “พื้นที่ที่ปรากฏอยู่ในกลางน้ำ” 

ทีป (ปุงลิงค์) หมายถึง เกาะ, ทวีป (an island, continent)

ทีป” ในบาลีนอกจากหมายถึง เกาะ, ทวีป แล้ว ยังใช้ในความหมายอื่นอีก (รากศัพท์อาจต่างกัน) ดังนี้ –

(1) พื้นดิน, ดินแข็ง (terra firma) 

(2) ฐานที่มั่นคง, สถานที่สำหรับอาศัย, สรณะ, ที่พึ่ง (solid foundation, resting-place, shelter, refuge)

(3) รถที่หุ้มด้วยหนังเสือดำ (a car covered with a panther’s skin)

(4) ความปลอดพ้นจากทุกข์ภัย, นิพพาน (salvation)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

(1) ทีป ๑, ทีปะ ๑ : (คำแบบ) (คำนาม) แสงไฟ. (ป., ส.). 

(2) ทีป ๒, ทีปะ ๒ : (คำแบบ) (คำนาม) เกาะ. (ป.; ส. ทฺวีป).

บาลี “ทีป” สันสกฤตเป็น “ทฺวีป” 

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายของ “ทฺวีป” ในสันสกฤตไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ทฺวีป : (คำนาม) ‘ทวีป,’ เกาะ, ภูเกษตร์หรือที่อันมีน้ำล้อมรอบ; เนื่องจากเหตุนี้ศัพท์นี้จึงใช้หมายถึงสัปตันมหาภาคแห่งภูมณฑล, ทุกๆ ภาคปลีกหากจากกัน, โดยมีสมุทร์เปนเขตต์ขั้น: ทวีปทั้งเจ็ดนั้น, นับจากทวีปกลางคือ, ชมฺพุ, กุศ, ปลกฺษ, สาลฺมลี, เกฺรานฺจ, ศาก, และปุษฺกร; มัธยทวีปแบ่งออกไปอีกเปนสิบภาค, คือกุรุ, จนฺทฺร, วรุณ, เสามฺย, นาค, กุมาริกา, คภสฺติมานฺ, ตามฺราปูรฺณ, กเสรุ, และอินฺทฺร; หนังเสือ; an island, any land surrounded by water; from this cause the word is applied to the seven grand divisions of the terrestrial word, each of these being separated from the next, by a peculiar circumambient ocean: the seven Dvīpas, reckoning from the central one are, Jambu, Kuśa, Plaksha, Sālmalī, Krauncha, Śāka, and Pushkara; the central Dvīpa is again portioned into ten divisions, viz. Kuru, Chandra, Varuṇa, Saumya, Nāga, Kumārikā, Gabhastimān, TāmrāPūraṇa, Kaseru, and Indra; a tiger’s skin.” 

คำว่า “ทวีป” ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ทวีป : (คำนาม) เปลือกโลกส่วนที่เป็นพื้นดินซึ่งมีขนาดใหญ่โตกว้างขวาง มี ๗ ทวีป คือ เอเชีย ยุโรป ออสเตรเลีย แอฟริกา อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ และแอนตาร์กติกา บางทวีปกําหนดนํ้าล้อมรอบเป็นขอบเขต เช่น ทวีปออสเตรเลีย ทวีปแอนตาร์กติกา บางทวีปกําหนดภูเขา ทะเล แหล่งอารยธรรมเป็นต้น เป็นแนวแบ่งเขต เช่น ทวีปเอเชีย ทวีปยุโรป; (โบ) เกาะ เช่น ลังกาทวีป สิงหฬทวีป; ในคัมภีร์ไตรภูมิกล่าวว่ามี ๔ ทวีป คือ ๑. ชมพูทวีป ๒. อมรโคยานทวีปหรืออปรโคยานทวีป ๓. อุตรกุรุทวีปหรืออุตรกุรูทวีป ๔. บุพวิเทหทวีป. (ส.; ป. ทีป).”

การประสมคำ :

อุตฺตร + กุรู = อุตฺตรกุรู (อุด-ตะ-ระ-กุ-รู) แปลว่า “แคว้นกุรุถิ่นเหนือ” 

อุตฺตรกุรู + ทีป = อุตฺตรกุรูทีป (อุด-ตะ-ระ-กุ-รู-ที-ปะ) แปลว่า “ทวีปคือแคว้นกุรุถิ่นเหนือ” 

อุตฺตรกุรูทีป” ใช้ในภาษาไทยเป็น “อุตรกุรุทวีป” และ “อุตรกุรูทวีป

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อุตรกุรุทวีป, อุตรกุรูทวีป : (คำนาม) ทวีปใหญ่อยู่ทางทิศเหนือของเขาพระสุเมรุ เป็นทวีป ๑ ใน ๔ ทวีป ได้แก่ อุตรกุรุทวีปหรืออุตรกุรูทวีป บุพวิเทหทวีป ชมพูทวีป และอมรโคยานทวีปหรืออปรโคยานทวีป. (ป., ส. อุตฺตรกุร + ส. ทวีป).”

ขยายความ :

ในอาฏานาฏิยสูตร ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค พระไตรปิฎกเล่ม 11 ข้อ 212 บรรยายวิถีชีวิตส่วนหนึ่งของชาวอุตรกุรุทวีปไว้ดังนี้ –

…………..

มนุษย์ซึ่งเกิดในอุตรกุรุทวีปนั้น ไม่ยึดถืออะไรว่าของเรา ไม่มีความหึงหวง เขาไม่ต้องหว่านพืช ไม่ต้องทำไร่ไถนา บริโภคข้าวสาลีอันเกิดเองในภูมิภาคที่มิได้ไถ มีผลเป็นข้าวสารอันหอม ไม่มีแกลบ ไม่มีรำ หมดจด เขาหุงข้าวในหม้อซึ่งใช้ไฟขจัดถ่าน แล้วก็บริโภคโภชนะจากหม้อข้าวนั้นได้เลย

…………..

คัมภีร์แห่งหนึ่งบรรยายไว้ว่า –

…………..

… ไม่มีซากศพงูหรือซากศพมนุษย์ในทวีปนั้น แม้อุจจาระหรือปัสสาวะที่ชาวทวีปนั้นถ่าย แผ่นดินก็แยกช่องให้ เมื่อผ่านไปแล้ว แผ่นดินก็เลื่อนปิดสนิทตามเดิม. …

…………..

รูปร่างของสตรีชาวอุตรกุรุทวีป คัมภีร์บรรยายไว้ดังนี้ –

…………..

สตรีในอุตรกุรุทวีปนั้น …ไม่สูงเกินไป ไม่ต่ำเกินไป ไม่ผอมเกินไป ไม่อ้วนเกินไป ไม่ดำเกินไป ไม่ขาวเกินไป มีรูปงามสมส่วน. … นิ้วยาว เล็บแดง ถันไม่คล้อย … ดวงหน้าดุจจันทร์เพ็ญ นัยน์ตากว้าง ตัวอ่อน ขาเรียวงาม ฟันขาว นาภีลึก เอวบาง ผมยาวดำหยิกที่ปลาย ตะโพกผึ่งผายหนั่นหนา มีขนไม่มากไม่น้อย คิ้วงาม … มีวาจาไพเราะสละสลวย … เป็นสาวราวกะว่ามีอายุ 16 ปี คงที่อยู่ในกาลทุกเมื่อ …

…………..

ตามคำบรรยายในคัมภีร์ สรุปได้ว่า อุตรกุรุทวีปเป็นรัฐสวัสดิการที่สมบูรณ์แบบที่สุด เช่น มนุษย์ในทวีปนั้นไม่ต้องสร้างบ้านเรือนเอง รัฐจัดสรรด้วยระบบ “เคหพฤกษ์” ให้ทุกคนพักอาศัยได้อย่างสุขสบายที่สุด เครื่องอุปโภคบริโภคทุกอย่างของประชาชน รัฐจัดบริการด้วยระบบ “กัลปพฤกษ์” ซึ่งมีอยู่ทั่วทุกแห่ง

สตรีมีครรภ์สามารถคลอดได้ทุกหนทุกแห่ง คลอดแล้วไม่ต้องเลี้ยงลูกเอง รัฐรับผิดชอบให้ทั้งหมดตั้งแต่เกิดจนตาย

ประชาชนทุกคนในอุตรกุรุทวีปเสมอภาคกันหมด ไม่มีชนชั้นใดๆ ทั้งสิ้น

คัมภีร์บาลีที่รวบรวมเรื่องของชาวอุตรกุรุทวีปไว้คือ “จักกวาฬทีปนี” ผลงานของพระสิริมังคลาจารย์ ผู้รจนาคัมภีร์มังคลัตถทีปนีที่ใช้เป็นแบบเรียนของนักเรียนบาลีในเมืองไทย

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เพียงแค่มนุษย์เมตตาเกื้อกูลกัน

: อุตรกุรุทวีปในฝันก็เกิดทันที

——————–

หมายเหตุ: ในที่นี้ได้ถ่ายภาพข้อความที่บรรยายเรื่องอุตรกุรุทวีปในคัมภีร์จักกวาฬทีปนี แปลเป็นไทย ฉบับหอสมุดแห่งชาติ มาให้อ่านด้วย ท่านผู้สนใจพึงศึกษาตามแต่จะสามารถอ่านได้เถิด

——————–

#บาลีวันละคำ (3,470)

12-12-64 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *